บทเรียนจากหลวงพ่อคูณ

บทเรียนจากหลวงพ่อคูณ

การมรณภาพของหลวงพ่อคูณ นอกจากเรื่องราวพระเกจิที่เป็นผู้ให้ ชาวพุทธได้เห็นอะไรอีกบ้าง...

          "ท่านเป็นพระที่มีปฎิภาณเป็นเลิศ ไม่ถือโอกาส มีแต่ให้... "

            "ตอนที่หัวใจหยุดเต้น ก็ปั๊มหัวใจหลวงพ่อท่านขึ้นมา กระผมมองว่า ตอนที่ดับไปแล้ว ควรปล่อยท่านไปอย่างสงบได้แล้ว ที่ปั้มหัวใจท่านขึ้นมา เพราะเหตุใด..."

            "ปกติจะมีผู้มายื่นความประสงค์บริจาคร่างกายเฉลี่ยวันละ 50 ราย แต่วันนี้ ( 18พค. 2558 )ค่อนข้างมีจำนวนมาก เพิ่มขึ้นกว่าปกติ เกือบ 100 ราย"             "เพื่อนอยู่โคราช ขายที่ดินมากว่า 10ปี ไม่เคยขายได้ พอให้หลวงพ่อคูณเหยียบโฉนด ก็ขายได้ในไม่กี่เดือน"

          ...........................

            คำกล่าวที่ญาติโยมพูดถึงหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเกจิ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา

            เมื่่อท่านมรณภาพลงด้วยวัย 92 ปี จึงเป็นข่าวครึกโครมหลายเรื่อง หลายประเด็น ทั้งเรื่องพินัยกรรม การจัดงานศพ ทรัพย์สินทั้งหมดของวัดบ้านไร่  ราคาวัตถุมงคลแต่ละรุ่น ฯลฯ

            เหตุที่คนทุกชนชั้นของสังคมศรัทธาหลวงพ่อคูณ เพราะท่านเป็นพระดี เป็นพระเกจิที่เลื่องลือในเรื่องเครื่องรางของขลัง แต่ไม่ใช่แค่นั้น ท่านมีวัตรปฎิบัติที่เรียบง่าย ไม่ถือตัว ไม่โอ้อวด ขณะที่ปลุกเสกของขลังให้ญาติโยม ก็ให้สติแก่คนๆ นั้นไปด้วย

            "ของขลัง ก็ช่วยไม่ได้หรอก ถ้าคนเรายังขับรถเร็ว"

 

พระผู้ให้

          หลวงพ่อคูณเกิดในครอบครัวชาวไร่ชาวนาที่บ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เรียนหนังสือกับพระสงฆ์ตั้งแต่เด็ก ในช่วงวัยรุ่น อยากเป็นหมอเพลงตามแบบฉบับคนโคราช จึงเดินทางไปฝึกฝนกับครูเพลงที่อ.โนนสูง โดยใช้เวลาเรียน 2-3 ปี กว่าจะได้ออกแสดง แม้หลวงพ่อคูณจะมีโอกาสเข้าไปฝึกฝนด้านนี้ แต่ไม่ได้เลือกเส้นทางบันเทิง

            เนื่องจากหลวงพ่อคูณมีความศรัทธาในพุทธศาสนา อุปสมบทตั้งแต่อายุ 21 ปีฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร เรียนรู้ทั้งพระธรรม ไสยเวทย์ วิปัสสนากรรมฐาน และยังได้เรียนรู้เรื่องมรณานุสติ กำหนดความตายเป็นอารมณ์ เพื่อให้เท่าทันกิเลส รวมถึงหลวงพ่อคูณเคยธุดงค์จาริกแสวงบุญในป่าลึกทั้งในประเทศ ลาวและเขมร

            นั่นเป็นที่มา ทำให้หลวงพ่อคูณ เป็นทั้งพระเกจิ และพระวิปัสสนา แต่ท่านกลับมีชื่อเสียงเรื่องเครื่องรางของขลัง ไม่ได้สอนวิปัสสนาโดยตรง ประมาณว่า ใครให้ทำของขลังก็ทำ แต่ให้ธรรมะไปด้วย

             พระภาวนาวิริยคุณ (ไสว ธีรโสภโณ) ศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน นานาชาติ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอีกรูปที่เคยไปกราบหลวงพ่อคูณ บอกว่า หลวงพ่อคูณเป็นพระที่มีแต่ให้ ไม่เรียกร้องอะไร อย่างเหรียญที่สร้าง ก็นำรายได้ไปช่วยโรงเรียนและโรงพยาบาล ท่านเป็นพระที่ไม่เคยว่ากล่าวใคร มีแต่ให้สติ ให้คำสอนดีๆ ให้มีกิน ให้ร่ำรวย หรือแม้แต่เทศกาลสำคัญก็ออกมาให้สติว่า อย่าประมาทนะ

            "นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระที่ไม่ฉวยโอกาส ตอนที่มีคนหลงป่าที่เขาใหญ่ มีคนไปถามหลวงพ่อคูณว่า "ตายหรือยัง" ท่านบอกว่า "ยังไม่ตาย เดี๋ยวก็ออกมาได้" นักข่าวก็ไปถามอีก หลวงพ่อมีญาณหรือ ท่านก็บอกว่า "มีแต่ยานโตงเตง" นี่คือปฏิภาณที่เป็นเลิศของท่าน ถ้าเป็นคนอื่นอาจถือโอกาสโปรโมทสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง"

 

ปฏิภาณเป็นเลิศ

            หากจะมองในแง่ปฎิภาณไหวพริบ  ก็ต้องกลับไปดูประวัติของหลวงพ่อคูณในวัยหนุ่ม ครั้งหนึ่งท่านเคยคิดจะเป็นหมอเพลง หากใครได้ยินการเอื้อนเอ่ยเพลงโคราช ก็ย่อมรู้ดีว่า เพลงพื้นเมืองโคราชต้องใช้ปฎิภาณไหวพริบเพียงใด

            พระภาวนาวิริยคุณ บอกอีกว่า หลวงพ่อคูณไม่ได้เรียนสูง เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ  แต่ท่านปฎิบัติ

            “อย่างนักข่าวที่มีปฎิภาณฝีปากกล้า สนทนากับท่านเป็นชั่วโมง แต่ท่านไม่จนมุม ถามอะไรมาท่านตอบได้หมด และคำตอบของท่านมีเหตุผล "

            สังคมไทยมีพระแบบนี้น้อยมาก ถ้าเป็นพระเกจิก็ชัดเจนทางด้านนั้น แต่ถ้าเป็นพระสายวิปัสสนาก็ไปแนวนั้น แต่หลวงพ่อคูณเป็นพระทั้งสองแบบ ใครมีความเชื่อว่า ท่านมีความขลังยังไงก็ทำไป ดูเหมือนท่านจะตามใจทุกคน อะไรที่ทำแล้วไม่เสียหลักการพุทธศาสนา ไม่ละเมิดวินัย ท่านก็ทำให้

            "มีคนให้เจิมรถ ท่านก็เจิม แต่ท่านไม่ได้บอกว่าเจิมแล้วปลอดภัย แคล้วคลาด ถ้ายังขับรถเกิน 120 กม./ชม.ท่านก็บอกว่า กูไม่อยู่ด้วย แม้ท่านจะเจิมให้ แต่ท่านก็สอนไปด้วย เหมือนปริศนาธรรม ท่านจะแฝงคำสอนแบบคนโบราณ จะสอนตรงๆ "

            หากจะบอกว่า หลวงพ่อคูณเป็นพระผู้ใหญ่ที่มีวิธีการสอนธรรมะไม่เหมือนใคร และมีปฎิภาณเป็นเลิศ ก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตฯ สำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาภาษาไทย บอกว่า คำที่ท่านใช้ว่า กู มึง ก็เป็นคำพื้นบ้าน ท่านเคยชินกับคำเหล่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่ท่านสอน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

            "เรามองเนื้อหาทางธรรม แม้เวลาท่านพูดจะมีคำไม่เหมาะสม แต่คนส่วนใหญ่ก็ยกให้ท่านเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งคำว่ากูมึง เป็นภาษาไทยดั้งเดิม ถ้าไปสิบสองปันนาก็ยังใช้คำว่า กูมึง"

            เพราะให้น้ำหนักกับแก่นธรรมมากกว่าบริบททางภาษา อาจารย์กาญจนา ย้ำว่า ธรรมะของท่าน ก็สอนให้ละกิเลส เป็นคำสอนตามหลักพุทธศาสนา

            "ท่านสอนโดยใช้คำง่ายๆ ถ้าใช้ศัพท์ยากๆ คนก็ไม่เข้าใจ แล้วจะปฎิบัติตามได้อย่างไร อย่างบางคนไม่เข้าใจวัฎสงสารหรือสังสารวัฎ เมื่อไม่เข้าใจก็ปฎิบัติไม่ได้ "

            ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พระภาวนาวิริยคุณบอกว่า หลวงพ่อคูณมีความกล้า และมีวิธีการสอนที่ทำให้คนฟังเข้าใจได้เลย เหมือนพูดภาษาเดียวกัน ท่านอาจจะไม่ใช่นักปฎิบัติที่โดดเด่นนัก แต่คำสอนของท่าน แฝงไว้ด้วยการเตือนสติ

            "วัดบ้านไร่ ไม่ใช่สอนแนววิปัสสนา เพราะท่านมีชื่อเสียงจากการปลุกเสกเหรียญ ต่างจากหลวงพ่อจรัล ที่โด่งดังจากสายปฎิบัติ แต่หลวงพ่อคูณสอนธรรมะ โดยไม่ได้สอนให้คนมาเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ แต่เป็นคำสอนของพระวิปัสนาจารย์ ซึ่งไม่ได้ปฎิบัติโดยตรงในรูปแบบ"

            อย่างไรก็ตาม พระภาวนาวิริยคุณ สรุปว่า ถ้าจะหาพระที่เหมือนหลวงพ่อคูณคงลำบาก ท่านเป็นพระที่มีปฎิภาณ บารมี ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่นเฉพาะตน 

            "ท่านเป็นพระรุ่นเก่า แต่นำวิธีการต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อสอนธรรมะ ต้องถือว่าเป็นพระที่ดีมากองค์หนึ่ง และเป็นธรรมดาที่ญาติโยม เอาธรรมะน้อยมาก เพราะธรรมะเป็นเรื่องที่ต้องประพฤติปฎิบัติจึงจะได้ผล ส่วนเครื่องรางของขลังเป็นความเชื่อว่า จะคุ้มครองตนเอง จริงๆ แล้วไม่ได้คุ้มครองทุกกรณีไป" พระภาวนาวิริยคุณ กล่าวและเปรียบเปรยว่า

            "เหมือนที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า คนไทยสมัยนี้ดีแต่ขอ พอบอกให้ปฎิบัติธรรมก็กำหู อะไรที่ได้มาง่ายๆ คนไทยชอบ แต่อะไรที่ต้องลงทุนปฎิบัติคนไทยจะไม่ชอบ"

 

วาระสุดท้าย

            นอกจากเป็นพระดีที่ทำประโยชน์ให้สังคม หลวงพ่อคูณยังเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต ท่านเคยสอนไว้ว่า

            "อย่างพระสงฆ์ อย่าดีแต่ไปสอนคนอื่น สอนตัวเองบ้างเถอะน่า สอนคนอื่นอย่างน้ำไหลไฟดับ แต่ตัวเองไม่สอน บอกให้เขาบริจาคเท่านั้นเท่านี้ แต่ตัวเองไม่ทำให้เขาดูก่อน หรือจะเป็นครูอะไรก็ตาม มันต้องสอนตัวเองให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยสอนคนอื่น เป็นครูนาฏศิลป์ก็ต้องรำเป็น เป็นครูพละก็ต้องเล่นกีฬาเป็น หรือเป็นครูอะไรๆก็ต้องทำเป็นก่อนทั้งนั้น"

            ในแง่ของความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง สุมาลี เอกชนนิยม ศิลปินพื้นเพภาคอีสาน บอกว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มักจะบอกเล่าเรื่องราวกัน แบบปากต่อปาก โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อเครื่องรางของขลัง

            "อย่างน้อยๆ หลวงพ่อคูณก็ไม่เคยมีข่าวลือว่า ท่านเอาเงินไปใช้ส่วนตัว แต่ระบบการจัดการของคนรอบข้างเป็นเชิงพาณิชย์ พระดีๆ จะเสียก็เพราะลูกศิษย์บางคนที่ต้องการผลประโยชน์ เพราะทุกอย่างของหลวงพ่อครูเป็นมงคลหมด และคนก็ปักใจเชื่อเช่นนั้น เพราะท่านเป็นพระดี"

            ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พระภาวนาวิริยคุณ ย้ำว่า การยึดติดวัตถุมงคลช่วยได้ระดับหนึ่ง สำหรับคนที่มีกำลังใจค่อนข้างอ่อน อย่างน้อยก็หาที่พึ่ง แต่แทนที่จะพึ่งคำสอนพระพุทธเจ้า เรากลับไปพึ่งอย่างอื่น ก็ไม่ทำให้พ้นทุกข์

            "เอาง่ายๆ แค่ศีล 5 ยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ปัญหาก็ลดลงแล้ว"

           

          เหมือนเช่นที่กล่าวมา การมรณภาพของหลวงพ่อคูณเกือบทุกเรื่องเป็นบทเรียนสำคัญของชาวพุทธ อยู่ที่ว่า ใครจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นส่วนไหนมาเตือนสติ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต

            แม้หลวงพ่อคูณจะมีพินัยกรรม เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายหลังจากล่วงลับไปแล้ว แต่ท่านไม่ได้ทำพินัยกรรมชีวิต (เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไม่นาน)เอาไว้ จึงเกิดกรณียื้อชีวิต ในสภาพที่ไม่ควรยื้อ

            "เป็นการยื้อกันสุดฤทธิ์เลย เหมือนท่านจะไปอยู่แล้ว ยังยื้อให้ทรมาน แล้วหลังจากนี้ คงจะเป็นอะไรที่วุ่นวายมากแน่ๆ " ญาติโยมที่ไม่เปิดเผยนาม เล่า

            โดยก่อนหน้านี้ นพ.พินิศจัย นาคพันธุ์ ประธานคณะกรรมการแพทย์ให้การรักษาหลวงพ่อคูณ  โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เคยกล่าวว่า มีช่วงหลวงพ่อคูณหยุดหายใจ สาเหตุคือ มีลมรั่วเข้ามาในปอด หรือปอดแตกทำให้หัวใจหยุดเต้น เราต้องช่วยปั๊มหัวใจเป็นเวลานาน ปกติสมองขาดออกซิเจน 4 นาทีก็แย่แล้ว แต่กรณีของหลวงพ่อคูณทางเราได้พยายามปั๊มหัวใจนานถึง 1 ชั่วโมง

            นอกจากนี้แพทย์ยังสรุปว่า ท่านจากเราไปตั้งแต่อยู่วัดบ้านไร่แล้ว หลังจากที่ท่านหยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นเป็นเวลานาน อวัยวะส่วนอื่นๆ ก็แย่ตามไปด้วย คือ สมองไปตั้งแต่แรก ต่อมาก็หัวใจ ก็พยายามยื้อ และต่อมาก็ปอด จนมาที่ไต ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่หยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้นเป็นเวลานาน ทำให้อวัยวะที่สำคัญหลายอวัยวะของท่านวายตามไปด้วย

            กรณีดังกล่าว เป็นบทเรียนให้คนส่วนใหญ่ได้เรียนรู้อีกว่า วาระสุดท้ายของชีวิต ที่ผู้ป่วยไม่อาจตัดสินใจได้ โดยเฉพาะคนสำคัญเช่นหลวงพ่อคูณ ซึ่งไม่ได้ทำพินัยกรรมชีวิตเอาไว้ การตัดสินใจจึงอยู่ที่ลูกศิษย์ลูกหา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครอยากให้ท่านจากไป แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คำนึงถึง การตายอย่างสงบตามแนวทางพุทธ

            กรณีดังกล่าว พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำหนังสือแสดงเจตจำนงในการรับบริการทางการแพทย์ในวาระสุดท้าย ซึ่งบางคนเรียกว่าพินัยกรรมชีวิต 

            บางคนเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า  ไม่ขอใช้บริการเครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นไปเพื่อยืดความเจ็บป่วยทรมานโดยไม่จำเป็น และอีกหลายกรณี

            แต่กรณีของหลวงพ่อคูณ ตามหลักจรรยาบรรณทางการแพทย์  หากสมองยังไม่ตาย ก็ต้องปั้มให้ชีพจรคืนมา เพราะผู้ป่วยไม่ได้แจ้งเจตจำนงเอาไว้ในหนังสือดังกล่าว ในช่วงที่มีสติสัมปัญชญะ ดังนั้นการตัดสินใจจึงอยู่ที่คนใกล้ชิด เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจได้แล้ว

            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลวงพ่อคูณไม่ลืม ก็คือ การทำพินัยกรรมบริจาคร่างกายให้เป็นอาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ ซึ่งเป็นการให้  แม้กระทั่งร่างที่ไร้วิญญาณ 

          และนี่พระเกจิที่เป็นผู้ให้