ปล่อยใจไปติด'เกาะ'

ปล่อยใจไปติด'เกาะ'

มีหลายคน มีหลายเพลงเปรียบเทียบการใช้ชีวิต เปรียบเทียบความรักว่าเป็นดั่งการล่องเรือไปในทะเลกว้างที่ยากจะคาดเดาผลลัพธ์ในแต่ละครั้งที่ล่องออกไป

...ถึงทะเลจะยากเกินคาดเดา แต่คนส่วนมากก็ยังนิยมเดินทางไปทะเลเช่นเดิม


​ ว่ากันว่าการเดินทางทำให้คนเราไม่โง่ เพราะในทุกการเดินทางเราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ ฉันเป็นคนหนึ่งที่ชอบเดินทางออกไปพบสิ่งใหม่ และในครั้งนี้มีโอกาสออกเดินทางไปสัมผัสความงามของท้องทะเลไทยถึง 2 จังหวัด คือ เมืองที่มีหาดทรายที่ทอดยาวจนขึ้นชื่อว่า หาดทรายสวยสี่ร้อยลี้ และเมืองฝนแปดแดดสี่ เมืองทั้งสองที่เป็นรอยต่อของทะเลอ่าวไทยและอันดามัน


​เชื่อว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะรู้จักจังหวัดระนอง หรือเจ้าของนามเมืองฝนแปดแดดสี่ว่ามีเกาะท่องเที่ยวสำคัญคือ เกาะพยาม เกาะสุรินทร์ เนื่องจากทั้งสองเป็นเกาะขนาดใหญ่ ส่วนเกาะเล็กเกาะน้อยนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวมากนัก แต่เกาะเล็กเกาะน้อยเหล่านี้ต่างมีความมหัศจรรย์ของธรรมชาติมิใช่น้อย


สถานที่แห่งแรกที่ฉันและเพื่อนร่วมทางไปเยือนเพื่อทำความรู้จักกับระนองให้มากขึ้น เป็นเกาะร้างขนาดเล็กที่ชื่อว่า เกาะญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในเขตทะเลอันดามัน จังหวัดระนอง เกาะนี้เคยเป็นสถานที่เก็บเสบียงของทหารญี่ปุ่นในอดีต ถึงจะมีขนาดเล็กแต่ก็มีหาดทรายสีขาวเนียนนุ่มเท้า ธรรมชาติบนเกาะยังคงงดงาม น้ำทะเลใสมองเห็นพื้นด้านล่าง ส่วนการเดินทางนั้นเราใช้เรือหางยาวเป็นพาหนะ แม้สปีดจะต่ำแต่ก็ได้สัมผัสบรรยากาศแบบกินลมชมทะเลเต็มที่


ชื่นชมความงามของเกาะญี่ปุ่นสักพัก เรือโดยสารก็นำเรามุ่งหน้าสู่ เกาะกำนุ้ย หรือเรียกอีกชื่อว่าเกาะกำน้อย โดยคำว่า “นุ้ย” เป็นภาษาใต้ แปลว่า น้อย เกาะกำนุ้ย เป็นเกาะที่เคยประสบภัยธรรมชาติสึนามิ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เป็นเหตุให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องปลูกต้นสนแทนที่ต้นไม้เดิม จุดเด่นของเกาะกำนุ้ยคือแนวสันทรายที่ทอดตัวคั่นกลางแบ่งน้ำทะเลออกเป็นสองฝั่ง หรือที่เราเรียกกันว่า 'ทะเลแหวก' ...หาดทรายสีขาวตัดกับน้ำทะเลสีฟ้าคราม น้ำใสมองเห็นหมู่ปลาแหวกว่าย อะไรจะสุขใจไปกว่านี้


ที่สำคัญเกาะแห่งนี้ยังมีแนวความคิดมุ่งเน้นการรักษาระบบนิเวศของเกาะ โดยบนเกาะนั้นจะปราศจากที่พักและร้านอาหาร มีเพียงห้องน้ำไว้ให้นักท่องเที่ยวเข้ายามฉุกเฉิน หากนักท่องเที่ยวประสงค์จะมาเที่ยวต้องนำข้าวกล่องและน้ำดื่มมาเอง โดยวัสดุที่ใช้ห่อข้าวกล่องก็ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย


สัมผัสความงามของหาดทรายและน้ำใสไม่นานก็ต้องนั่งเรือต่อไปยังจุดหมายถัดไปซึ่งเป็นเกาะสุดท้ายของวันนี้ที่จังหวัดระนอง ก่อนจะถึง เกาะค้างคาว ไกด์และคนขับเรือให้ข้อมูลว่า เกาะค้างคาวน้ำใสมาก เราสามารถลงดำน้ำได้ที่เกาะนี้ ได้ยินอย่างนั้นทุกคนต่างดีใจเร่งเวลาอยากไปให้ถึงเกาะเร็วๆ เพื่อจะได้ดูความงามใต้ท้องทะเลกัน


เรือล่องมาได้สักพัก เราก็มองเห็นเกาะค้างคาวอยู่ตรงหน้า แม้จะเป็นเกาะขนาดไม่ใหญ่ แต่ความสวยงามนั้นมีมากพอตัว เมื่อเรือล่องใกล้ฝั่งเพื่อเทียบท่า ฉันมองเห็นเรือที่จอดอยู่ก่อนแล้วสามสี่ลำ ซึ่งเรือเหล่านั้นทิ้งสมออยู่ห่างชายฝั่งพอสมควร เพื่อปล่อยให้คนบนเรือโดยสารของตนได้ดำน้ำดูหมู่ปลาที่แหวกว่ายไปมา รวมทั้งปะการังใต้ท้องทะเลของเกาะค้างคาว แน่นอนไม่ว่าใครได้ไปก็คงอยากลองดำน้ำ ด้วยความใสและความสวยของสีน้ำช่างยั่วยวนชวนให้ลงไปดูความงามใต้ท้องทะเล


แต่ทันทีที่สองเท้าแตะลงบนผืนทราย ฉันพบว่าไม่เพียงผืนน้ำเท่านั้นที่สวยจับใจ หาดทรายที่นี่ก็สวยสะดุดตา ขาวเนียนดั่งพรมธรรมชาติ เมื่อสัมผัสกับเท้ารู้สึกได้ถึงความเนียนละเอียดของทราย น้ำสีฟ้าใสกับหาดทรายสีขาวดูแล้วช่างงดงามราวกับภาพวาด และเมื่อเดินต่อไปทางทิศเหนือของเกาะจะมีหาดหินขาวและหินเหลืองที่ทอดตัวสลับกับโขดหินขนาดใหญ่ หาดหินแห่งนี้ถือเป็นสปาเท้าได้ดีไม้แพ้การนวดเลย หากเมื่อยจากการเดินก็สามารถมาสปาเท้าบนหาดหินที่เกาะค้างคาวได้ ด้วยความที่เป็นเกาะซึ่งยังไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก ทั้งมีขนาดเล็ก ไม่มีที่พัก ร้านอาหาร ทำให้หาดยังคงความงามและสะอาด


เกาะค้างคาว ชื่อก็บ่งบอกถึงที่มาได้ชัดเจนว่าเกาะแห่งนี้มีค้างค้าวอาศัยอยู่นั่นแอง เสียงคลื่นสาดกระทบกับก้อนหินดังอยู่ไม่ขาดระยะ บรรยากาศของธรรมชาติที่เงียบสงบ ทำให้ฉันกับเพื่อนร่วมทางนั่งทอดอารมณ์ดื่มด่ำความบริสุทธิ์ของอากาศ พร้อมกับสำเนาภาพความประทับใจ นานพอสมควรกับการรับออกซิเจนเข้าปอด ก่อนจะเดินทางกลับเข้าฝั่ง ซึ่งตามติดไปด้วยความทรงจำที่มีต่อเกาะทั้งสาม


ไม่นานเรือก็พาเราล่องมาถึงท่าเทียบเรือบางเบน สีหน้าของทุกคนแสดงถึงด้วยเหนื่อยล้าได้ชัดเจนยิ่งกว่าคำพูด แต่เป็นความเหนื่อยล้าที่มาพร้อมความสุขเต็มเปี่ยม ลงเรือเสร็จก็มาขึ้นรถตู้ต่อเพื่อไปดูอีกหนึ่งของดีเมืองระนอง นั้นก็คือ เม็ดกาหยู หรือ มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งที่ร้านวัชรีจะมีทั้งแบบเม็ดคั่วบรรจุในขวดโหล และน้ำกาหยู ใครมาระนองต้องลองแวะมาชิมสักครั้ง พอทุกคนได้ชื่นใจรสชาติน้ำกายู รถตู้ก็พาเรากลับไปที่พักเพื่ออาบน้ำพักผ่อน เตรียมเดินทางต่อในรุ่งเช้า


ระนองขึ้นชื่อว่ามีดินแดนติดกับประเทศพม่าจึงไม่แปลกนักที่จะพบเห็นป้ายร้านค้าที่มีทั้งภาษาไทย อังกฤษ และภาษาพม่าปะปนกันอยู่ และหากอยากพบสาวพม่าก็ลองตื่นเช้าไปเดินชมตลาดพม่าที่อยู่ในตัวเมืองระนอง เป็นตลาดขายของขนาดใหญ่ มีสินค้า ทั้งอาหาร เสื้อผ้าให้เลือกซื้อ แต่หากอยากได้บรรยากาศชาวเมืองเล ก็ต้องลองนั่งรถโดยสารสองแถวไม้ดูสักหน รับรองได้ว่าครบรสของการเที่ยวเมืองระนองแน่นอน และหากมาเที่ยวระนองอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรพลาดคือการแวะมาสัมผัสไอร้อนของ บ่อน้ำร้อนสวนสาธารณะรักษะวาริน เรียกได้ว่าเป็นออนเซ็นเมืองไทยที่น่าจะได้ลองสักครั้ง


ถึงจะมีอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกหลายอย่างที่ระนอง แต่เช้าวันรุ่งขึ้นเราก็ต้องหันหลังให้กับเมืองน่ารักเมืองนี้เพื่อเดินทางสู่จังหวัดชุมพร โดยจุดหมายแรกคือการขึ้นไปชมวิวมุมสูงของเมืองบนเขามัทรี ซึ่งฝั่งตะวันตกจะเป็นวิวชุมชนริมน้ำและฝั่งตะวันออกจะเป็นหาดทรายรี อีกทั้งที่นี่ยังมีสัตว์ที่เรียกว่าค่างแว่นอาศัยอยู่ด้วย ที่สำคัญของเขามัทรีคือเจ้าแม่กวนอิมองค์สีขาวนั่งหย่อนขาข้างซ้าย ชันขาข้างขวาอยู่บนแท่นปูน และยังทาเล็บด้วยสีชมพูมองดูแล้วสมเป็นผู้หญิง ทำให้รู้สึกว่าเจ้าแม่กวนอิมไม่ใช่แค่รูปปั้นแต่ดูมีชีวิตชีวา


หากประสงค์จะมาชมวิวรับรองว่าคุ้ม เพราะสามารถชมความงามของชุมพรได้ถึง 360 องศากันเลย เรียกได้ว่าใครชื่นชอบการถ่ายภาพวิว บรรยากาศชุมชนจากมุมสูงคงถูกอกถูกใจไม่น้อย แต่แนะนำให้มาในช่วงเย็นเพราะบรรยากาศจะสวยกว่าช่วงเช้าและอากาศไม่ร้อนมาก เหมาะแก่การดื่มด่ำความงามยามค่ำคืน อีกทั้งชมวิวเสร็จสามารถลงไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านอาหารด้านล่างเขาได้เลย


หลังจากอิ่มหนำสำราญและเต็มอิ่มจากการพักผ่อนกันแล้ว เช้าวันถัดมารถตู้คู่ขวัญก็พาเราอออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เพื่อเตรียมตัวไปเป็นชาวเกาะอีกหนึ่งวันเต็ม ว่ากันว่าจุดเด่นของทะเลชุมพรคือกิจกรรมการดำน้ำดูความงามใต้ท้องทะเล ซึ่งวันนี้เราใช้บริการเรือประมง แต่ด้วยความที่เป็นเรือตกหมึกกลิ่นเลยแรงไปสักหน่อย กลิ่นคาวหมึกและกลิ่นเค็มอบอวลทั่วลำเรือ บนหลังคาก็มีไฟหลากสีไว้ใช้สำหรับการตกหมึกตอนกลางคืน พอนั่งแล้วได้บรรยากาศชาวประมงไปอีกแบบหนึ่ง


เกาะที่ฉันและเพื่อนร่วมทริปจะไปดำน้ำนั้นเป็นเกาะอนุรักษ์นกนางนวล แต่อย่าหวังว่าจะได้เข้าไปดู เพราะที่นี่เขาห้ามเข้าไปในถ้ำที่นกนางนวลอาศัยอยู่ เมื่อรู้ปลายทางเรือก็ไม่รอช้าเร่งเครื่องพาเรามุ่งไปยัง เกาะลังกาจิว ทันที ความต่างของเรือประมงกับเรือหางยาวอยู่ตรงที่เรือประมงท้องเรือจะลึกกว่าถ้าน้ำน้อยจะเดินเรือลำบาก แต่ถ้าน้ำลึกเดินเรือได้ง่ายและหน่วงน้ำหนักได้ดีกว่าเรือหางยาว คือนั่งไปกลางทะเลแล้วเจอคลื่นลมแรงจะรู้สึกไม่โคลงเคลงมากนัก


เรือแล่นออกสู่กลางทะเล หากในทะเลไม่มีเกาะก็มองเห็นเพียงน้ำกับฟ้า ไม่มีทางรู้ฝั่งอยู่ทิศทางใด ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงเราก็เดินทางมาถึงเกาะลังกาจิว ที่เกาะนี้เรือจะไม่เทียบท่าแต่จะล่องกลางทะเลแทน เพื่อให้ลูกเรือที่โดยสารมาได้ลงดำน้ำ อีกอย่างพื้นที่หาดทรายของเกาะมีน้อยไม่เพียงพอต่อการจอดเรือนัก เสียงเครื่องยนต์ดับสนิท ได้ยินแต่เสียงสนทนาของเพื่อนร่วมทริปที่ต่างชี้ชวนกันดูหมู่ปลาที่แหวกหว่ายไปมา น้ำสีเขียวมรกตอมฟ้าใสจนมองเห็นตัวปลา ใครเห็นเป็นต้องกระโดดลงไปเล่น


ฉันกับเพื่อนก็เช่นกัน เราพยายามจะดูปะการังทั้งที่ในเรือเราไม่มีอุปกรณ์สำหรับดำน้ำ แต่ไม่เป็นไรได้ลงเล่นน้ำเพื่อถ่ายรูปบอกสถานะของตัวเองในโลกออนไลน์ก็ยังดี เราใช้เวลาที่เกาะแห่งนี้ราวๆ 2 โมง ในขณะที่ต่างคนต่างถ่ายภาพเล่นน้ำกันอยู่นั้นก็มีเรือนำเที่ยวสองสามลำพานักท่องเที่ยวมาดำน้ำอยู่รายรอบเรือเรา


ธรรมชาติช่างเป็นเจ้าแม่ของศิลปะอย่างแท้จริง รู้แต่งแต้มสีสันให้น้ำทะเลดูงาม ตามเติมสีท้องฟ้าและต้นไม้ให้มีชีวิตชีวา พอบรรยากาศเป็นใจหลังจากนั่งปล่อยลมหายใจอย่างสบายอารมณ์ มองภาพธรรมชาติที่มีสีสันสดใสก็พลอยให้อารมณ์ดีไปด้วย


หลังจากเต็มอิ่มกับความสนุก ความงาม และความบริสุทธิ์ของท้องทะเลบนเกาะลังกาจิว พวกเราก็ต้องโบกมือลาเกาะแห่งนี้ จากกันไปด้วยความสุข ทิ้งไว้เพียงภาพความทรงจำ สัญญาว่าถ้ามีโอกาสจะกลับมาพบกันอีกครั้ง

การเดินทาง


ถ้าขับรถไปเองจากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางถนนพระรามสองระยะทาง 90 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ถึงสี่แยกปฐมพร (ชุมพร) เลี้ยวขวาไปจนถึงจังหวัดระนอง รวมระยะทาง 568 กิโลเมตร


ส่วนคนรักรถไฟ ต้องไปเริ่มต้นที่ชุมพร เพราะจากกรุงเทพฯ ไม่มีรถไฟไประนองโดยตรง นักท่องเที่ยวต้องมาลงรถไฟที่ สถานีรถไฟชุมพร เที่ยวชุมพรแล้วค่อยใช้บริการรถโดยสารประจำทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 122 กิโลเมตร


รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด ให้บริการเดินรถโดยสารปรับอากาศ และรถโดยสารธรรมดา ระหว่างกรุงเทพฯ - ระนอง ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 02 894 6122 จองตั๋ว บขส. โทร. 02 422 4444 หรือ www.transport.co.th สถานีขนส่งจังหวัดระนอง โทร. 0 77811 548


รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดระนอง-ชุมพร สอบถามการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานชุมพร-ระนอง โทร. 0 7750 1831, 0 7750 2775-6 หรือที่เว็บไซต์ www.tourismthailand.org/chumphon