‘วีเลิฟ’ปรับใหญ่ปูทางโตอาเซียน เขย่าโครงสร้างย้ายสังกัดซีพี

‘วีเลิฟ’ปรับใหญ่ปูทางโตอาเซียน เขย่าโครงสร้างย้ายสังกัดซีพี

วีเลิฟช็อปปิ้ง ทุ่มกว่า 300 ล้าน รีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ พลิกโมเดลไม่เก็บค่าพื้นที่เช่า ดึงระบบ “เอสโครว” เพิ่มความมั่นใจระบบชำระเงินซื้อขาย

นายสรรเสริญ สมัยสุต หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจอีบิสิเนส กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มปรับโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อเตรียมพร้อมและรองรับการขยายตัวของธุรกิจดิจิทัล โดยปีที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มอี-บิสิเนสที่จะรวมธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 4 ธุรกิจ (ดาต้า เซ็นเตอร์, อีคอมเมิร์ซ, อีเปย์เมนท์ และดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง) เข้ามาอยู่รวมกันภายใต้ชื่อบริษัทใหม่ว่า “แอสเซนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Ascend)”


ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัวในการทำธุรกิจ และการทำตลาดที่เปิดกว้างมากขึ้น และแผนการขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้เติบโตนอกตลาดไทย โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งบริษัทใหม่จะย้ายมาอยู่ภายใต้กลุ่มซีพีจากเดิมทั้งหมดอยู่ภายใต้กลุ่มทรู โดยกำหนดเปิดตัวบริษัททางการเร็วๆ นี้

“การปรับตัวครั้งนี้ก็เพื่อทำให้ภาพของธุรกิจชัดเจนขึ้นจากที่ผ่านมาจะติดกับกรอบเกณฑ์การทำธุรกิจของทรู ซึ่งตั้งมาเพื่อทำธุรกิจโทรคม แต่เอสเซนด์จะทำให้การเจาะตลาดดิจิทัลทำได้กว้างมากขึ้น” นายสรรเสริญกล่าว

พร้อมกันนี้ยังได้ประกาศปรับโฉมแบรนด์ “วีเลิฟช็อปปิ้ง (weloveshopping.com)” ครั้งใหญ่ ที่จะเป็นการเปลี่ยนครั้งแต่แผนธุรกิจ และรูปแบบการใช้งานทั้งส่วนของผู้ซื้อและผู้ขาย ที่ไม่มีค่าเช่าพื้นที่ร้านค้ารายปีเหมือนเดิม พร้อมปรับปรุงระบบหลังบ้านใหม่ และทำการตลาดด้วยงบลงทุนปีแรกกว่า 300 ล้านบาท

นายสรรเสริญ เผยว่า อีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะในไทยที่ยังมีสัดส่วนของธุรกิจอีคอมเมิร์ซต่ำกว่า 1% เมื่อเทียบกับโซนยุโรป หรือตลาดใหญ่อย่างจีน ทำให้ไทยเป็นตลาดใหม่ที่น่าลงทุนและเริ่มมียักษ์ใหญ่จากต่างชาติเข้ามาแข่งขันจำนวนมาก

แต่สำหรับวีเลิฟช็อปปิ้งถือว่ามีจุดแข็งที่เป็นบริษัทไทย 100% และมีระบบที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดรวมถึงวัฒนธรรมของผู้ซื้อผู้ขายในท้องถิ่นซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ทำให้วีเลิฟช็อปปิ้งได้เปรียบในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

นายวีรวัฒน์ หงษ์สิทธิวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู ดิจิตอล คอนเท้นท์ แอนด์ มีเดีย จำกัด กล่าวว่า วีเลิฟช็อปปิ้งโฉมใหม่จะเน้นกลุ่มสินค้าแนวแฟชั่น และผู้ใช้งานอายุระหว่าง 18-35 ปีซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของตลาดอีคอมเมิร์ซ

โดยในปีแรกจะเน้นการสร้างตลาดกลางการขายที่ไม่มีค่าธรรมเนียมร้านค้าตลอดการใช้บริการ และค่าคอมมิชชั่นที่จะเก็บจากร้านค้า 3-13% ตามหมวดหมู่ของสินค้า

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับทรูมันนี่นำระบบตัวกลางการชำระเงินแบบ “เอสโครว (Escrow)” ที่ได้รับการยอมรับในธุรกิจอี-มาร์เก็ตเพลสทั่วโลกมาใช้ โดยเมื่อผู้ซื้อโอนเงินค่าสินค้าเข้ามา เงินจะถูกเก็บไว้ในระบบก่อนจนกว่าผู้ซื้อจะแจ้งยืนยันการรับสินค้า ระบบจึงจะส่งเงินต่อให้ผู้ขาย

“โมเดลการขายแบบใหม่ เราไม่เก็บค่าพื้นที่เหมือนเดิม แต่จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมที่จ่ายผ่านบัตรเครดิต 2.9% เพื่อเป็นค่าตัวกลางการชำระเงินที่เรานำมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจและการันตีการซื้อขาย และจากค่าคอมมิชชั่นขายสินค้าที่จะเริ่มเก็บในปีถัดไป แต่เป้าหมายหลักจริงๆ คือ ต้องการให้ตลาดอีคอมเมิร์ซขยายตัวมากขึ้น และทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ได้จริงๆ เพราะอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นธุรกิจหลักของทุกคนเมื่อตลาดอาเซียนเปิดกว้างมากขึ้น” นายวีรวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้คาดว่าการปรับธุรกิจครั้งนี้จะเพิ่มยอดการซื้อขายผ่านร้านค้าในวีเลิฟช็อปปิ้งราว 2,000 ล้านบาทในปีนี้จากเดิมมีกว่า 1 พันล้านบาทจากยอดผู้เข้าเว็บราว 4 แสนราย และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านค้าใหม่ให้ได้ 1 หมื่นรายจากปัจจุบันมีกว่า 3,000 รายหลังเริ่มทดลองเว็บใหม่ และย้ายลูกค้าจากโมเดลเว็บเดิมที่มีอยู่แล้วกว่า 8 หมื่นร้านเข้ามาใช้วีเลิฟช็อปปิ้งใหม่