รางวัลกับภาพสะท้อนจากบทเพลง

รางวัลกับภาพสะท้อนจากบทเพลง

มิได้เป็นเพียงรางวัลสำหรับคนสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฏยังบอกเล่าถึงความเป็นไปของวงการเพลงวันนี้






“ครั้งแรกที่ผมฟังเพลง ‘ทางปิศาจ’ นะ ผมถึงกับอึ้งไปเลย เพลงนี้มันมีของจริงๆ...”


ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ นักวิชาการและคอลัมนิสต์อิสระ เอ่ยขึ้นในที่ประชุมรอบสุดท้ายของคณะกรรมการพิจารณาตัดสินใจรางวัล ‘คมชัดลึก อวอร์ดส์’ ครั้งที่ 12 ประเภทเพลงไทยสากล

“มันเป็นกวี มันเลยคำว่า romantic มันเลยคำว่า sentimental...” บวรพงษ์ ศุภโสภณ นักวิจารณ์ดนตรีแถวหน้า ร่วมสนับสนุน พร้อมอภิปรายต่อว่า “ฟังแล้วน้ำตาตกใน แล้วเอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่หนทางที่ดีนะ เพราะมันคือ ‘ทางปิศาจ’ แต่มันเอาความเป็นปิศาจมาอธิบายอุดมคติที่สูงส่งมาก”

เมื่อถึงช่วงเวลาของการอภิปรายรางวัลในสาขา ‘เพลงยอดเยี่ยม’ บรรยากาศดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อนเช่นเคย บ่งบอกถึงสปิริตของกรรมการทุกคน ซึ่งต่างทำการบ้านมาเป็นอย่างดี โดยในปีนี้มีรายชื่อผลงานเข้าชิงรางวัลสาขานี้ 5 เพลงด้วยกัน ประกอบด้วย เพลง "อยู่อย่างเหงาๆ" ของ สิงโต นำโชค ; เพลง "ทางปิศาจ" ของวง "ซอนเน็ท แอนด์ แอลกอฮอล์" ; เพลง "สาวน้อยหมวกแดง" ของวง "โมโนมาเนีย" ; เพลง "สัตว์ประหลาด" ของ "แสตมป์ อภิวัชร์” และ เพลง "ไม่มีสิ่งไหน" ของศิลปิน "เดอะ บอย-ก้อ"

“ขณะที่เพลง ‘สาวน้อยหมวกแดง’ อธิบายถึงสภาพสังคมปัจจุบัน เอามาแต่งเป็นเพลงที่ออกมาแล้วดูดี... ” ชุมพล ชงประเด็นต่อ ก่อนที่พิธีกร นักเขียน และคอเพลงตัวจริงอย่าง คมสัน นันทจิต จะพูดถึงเพลงเดียวกันว่า “มันจะมีคำร้องท่อนนึง ที่สรุปว่า อย่าเห็นหมาป่าเป็นเจ้าชาย คมคายมากจริงๆ”

แล้วคณะกรรมการชุดนี้ก็พากันอภิปรายต่อไป ด้วยการยกแง่มุมจุดเด่นจุดด้อยของแต่ละเพลงมาวิเคราะห์อย่างละเอียดลออ บางคนพูดถึงปรัชญาของความไม่เที่ยงแท้ในเพลง ‘ไม่มีสิ่งไหน’ บางคนพูดถึงภาคดนตรีของบางเพลงที่ไม่แข็งแรงพอ พลอยทำให้ “ความเข้มข้น” ของเพลงลดลงไปอย่างน่าเสียดาย

หลังจากอภิปรายกันจนได้ที่ มาถึงการโหวตลงคะแนนให้แก่ “เพลงยอดเยี่ยม” ประจำปีนี้ ผลลัพธ์มาลงเอยที่ ‘สัตว์ประหลาด’ ของ แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

“พอโจทย์ออกมาที่เนื้อร้อง ทำนอง การเรียบเรียง การร้อง ทั้งหมดมาลงตัวที่เพลงนี้ ทั้งการ การนำเสนอ ช่วงที่มันรุนแรง ช่วงที่มันจะสงบ มันมีอารมณ์ที่ปล่อยออกมาในแต่ละวรรค” ธานี โหมดสง่า บรรณาธิการนิตยสารจีเอ็ม 2000 สรุป ก่อนที่ใครบางคนจะเสริมว่า “ตอนที่ resolve ดีมาก ตอนที่กำลังคลั่ง แล้วฉันก็ควบคุมมันได้เพื่อเธอ คุกเข่าแล้ว เหนื่อยแล้ว...”

ทิ้งท้ายด้วยคำพูดของ ดีเจโด๋ว มรกต โกมลบุตร “เพลงยอดเยี่ยมปีนี้ สัตว์ประหลาด ชนะปิศาจ” !

-1-

โดยพื้นฐาน รางวัลในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นหนัง ละครโทรทัศน์ หรือเพลง ต่างมีขึ้นเพื่อยกย่องและเป็นกำลังใจให้แก่คนทำงานสร้างสรรค์ ด้วยมุ่งหมายไปยัง “คุณภาพของผลงาน” เป็นสำคัญ แต่ด้วย “อิทธิพลของมาร์เก็ตติ้ง” ที่ครอบงำทุกวงการในเวลานี้ จึงพลอยมีรางวัล “มหาชน” หรือ “ป๊อปปูลาร์” เข้ามาด้วย เพื่อตอบสนองกับกระแสเสียงของคนหมู่มากเคียงคู่กันไป

นักวิจารณ์อย่าง บวรพงษ์ ศุภโสภณ ผู้สอนวิชาวิจารณ์ดนตรี ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปกติคลุกคลีอยู่ในแวดวงดนตรีคลาสสิก แต่เมื่อมาได้สัมผัสแวดวงเพลงไทยสากลร่วมสมัยในระยะหลัง เขายอมรับว่า อย่างน้อยๆ ผลงานเพลงไทยสากลในรอบปีนี้ได้ให้ความเบ่งบานใจไม่น้อย

“เมื่อมาถึงการพิจารณาในสาขาสุดท้าย ‘เพลงยอดเยี่ยม’ ทำให้ผมมีความหวังกับวงการเพลงป๊อป ผมมาจากสายคลาสสิก เมื่อมาเห็นว่า เพลงป๊อปคิดได้ทำได้ขนาดนี้ ต้องยอมรับว่า สุดท้ายแล้ว ศิลปะเคารพกันตรงความคิด มัน defend ตัวเองได้ว่า วงการเพลงป๊อปไทยมีความหวัง ตัวศิลปินตัวศิลปะก้าวไปแล้ว เหลืออยู่ที่มหาชน ศิลปินถือธงเดินนำไปแล้ว นำไปในทางอุดมคติ ส่วนมหาชนจะย่ำอยู่กับน้ำเน่าก็อยู่ไป ตรงนี้ต่างหากที่เราดีใจ ปีนี้ทำให้ตื่นเต้นมาก”

แม้น้ำเสียงของ บวรพงษ์ จะแสดงความชื่นชมต่อความคิดสร้างสรรค์ในวงการเพลงไทย แต่ท่าทีของ คมสัน นันทจิต กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม และแสดงออกอย่างน่าผิดหวังมากกว่า

“พูดตามตรงนะ ผมว่าภาพรวมของปีนี้ แม้เราจะมีผลงานมาตรฐานก็จริง แต่มันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเลย การสร้างสรรค์เพลงในวันนี้ รวมถึงผลรางวัลที่ออกมา มันอาจจะบ่งบอกว่า ยุคสมัยเป็นเช่นนี้ เมื่อคนเราสมาธิสั้นลง เราอ่านหนังสือน้อยลง บทเพลงที่สร้างสรรค์ออกมาก็มีลักษณะคล้ายๆ กันด้วย มันดูเหมือนจะขาดอะไรบางอย่างไป”

คมสัน ตั้งข้อสังเกตแรกๆ ถึงข้อจำกัดและศักยภาพของศิลปิน ปีนี้ นับเป็นปีแรกๆ ที่วงการเพลงมีผลงานอัลบั้มออกมาน้อยมาอย่างน่าใจหาย เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ริเริ่มโครงการรางวัลคมชัดลึกเป็นครั้งแรก ในคราวนั้น คณะกรรมการต้องนั่งฟังซีดีเพลงกองมหึมา เพื่อคัดสรรผลงานที่ดีที่สุด แต่ทุกวันนี้ เหลืองานเพลงที่จับต้องได้เพียงหยิบมือ

“ไม่ใช่เรื่องเหยียดเพศ แต่ปีนี้เราไม่มีผลงานศิลปินหญิงที่เข้าเกณฑ์เลย นั่นเป็นผลทำให้ไม่มีการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงในสาขาศิลปินเดี่ยวหญิงเป็นครั้งแรก ในเมื่อตัวรางวัลเราพิจารณาจากคุณภาพของผลงานเป็นสำคัญ แต่ผลงานเพลงส่วนใหญ่ ไม่มีอัลบั้มหลักให้พิจารณา มีแต่ซิงเกิลเท่านั้น”

สอดรับกับมุมมองของ มรกต โกมลบุตร ที่ระบุว่า แม้กระทั่งการประกาศผลรางวัล สีสัน อวอร์ดส์ โดยนิตยสารสีสัน ที่ขาดช่วงไปนาน 2 ปี และเพิ่งมีการจัดขึ้นใหม่ในปีนี้ ก็มีรายชื่อศิลปินหญิงเพียง 4 รายเท่านั้น

“ศิลปินหญิงขาดแคลนมากจริง... ” ดีเจโด๋วบอก ก่อนจะเสริมว่า “... จริงๆ แล้ว เราก็มีศิลปินเยอะนะ แต่การเข้าสู่มาตรฐานมันน้อย ดูจากศิลปิน GMM ที่ปั้นออกมา ก็ไม่น้อยเลย แต่เขาเน้นการขายรูปลักษณ์ หน้าตา จะเน้นไปตรงนั้น ตรงความน่ารัก ใสปิ๊ง หรือเซ็กซี่ไปเลย ขณะที่ศิลปินชาย ผมมองว่า ยังพอมีตัวเจ๋งๆ แข็งแรงอยู่บ้าง”

-2-

รางวัลอาจจะเป็นภาพสะท้อนของวงการเพลงว่าถึงที่สุดแล้ว เรากำลังอยู่ในสถานภาพใด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการเพิ่มรางวัลในสาขา “บันทึกเสียงยอดเยี่ยม” เพื่อให้น้ำหนักแก่บุคลากรที่ทำงานเบื้องหลังให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกจังหวะก้าวหนึ่งของการยกระดับวงการเพลง โดยปีนี้ มีผู้สันทัดกรณีอย่าง ธานี โหมดสง่า และ ชุมพล มุสิกานนท์ มาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ พร้อมการฟังเพื่อ “มอนิเตอร์” เสียงที่ดีที่สุด ในห้องฟังเพลงที่มีการเซ็ทอัพระบบและอุปกรณ์มูลค่านับล้านบาท ซึ่งแม้กระทั่ง คมสัน ที่เล่นแผ่นเสียงมานานก็ยอมรับว่า เป็นมิติใหม่และความรู้ใหม่ของการพิจารณารางวัล เช่นเดียวกันกับ มรตก โกมลบุตร

“ในฐานะกรรมการคมชัดลึกปีนี้ ผมได้ความรู้ใหม่ๆ จากการฟังเพลงผ่านระบบเสียงคุณภาพสูง พร้อมกรรมการที่สันทัดจัดเจน อย่าง ดร.ชุมพล มาให้ความรู้เรื่องการบันทึกเสียงแบบคนละแอมเบียท์ ซึ่งบางคนอาจจะไม่มองในประเด็นเหล่านี้ ถ้าไม่ได้ฟังเครื่องเสียงดีๆ หรือกรณีที่คุณธานี บอกว่าต้องเซ็ทการฟังมาตรฐานที่ระดับความดัง 80 db ดังนั้น ปีนี้คณะกรรมการมีความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก”

มุมมองข้างต้นของ มรกต ยังสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานสร้างสรรค์ของศิลปินต่อไปว่า

“บางแง่มุม คุณธานีอธิบายได้เลยว่า ทำไมงานของ บอดีสแลม ที่ทำออกมาแล้วไฟล์เพลงถึง compressed เหมือนถูกบีบอัดไว้ ไม่ออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งหากมีการแลกเปลี่ยนมุมมองความรู้ตรงนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุงงานให้ดีขึ้นได้ อัดเสียงให้ดี เวลามิกซ์หรือทำมาสเตอร์ จะได้ไม่ต้องคอมเพรส หรือการทำงานเพลงออกมา มาสเตอร์ใหญ่ ต้องมีคุณภาพดีมาก หากเล่นเสียงไฮไฟ ควรจะให้คุณภาพเสียงครบทุกยานความถี่ เพราะบางคน ซื้อแผ่นราคา 300 บาทก็ควรได้คุณภาพเสียงเต็ม ไม่ใช่มาแค่เอ็มพี 3”

ผลงานที่รับการเสนอชื่อเข้าชิง “บันทึกเสียงยอดเยี่ยม” ประกอบด้วย "ฮอน" ณรงค์ฤทธิ์ จากอัลบั้ม "Neture of everything" ; วง "ชูการ์ อนาล็อก" อัลบั้ม EP.moir'e ; วง "บอดี้สแลม (Bodyslam)" อัลบั้ม "ดัม-มะ-ชา-ติ (dharmajati)" ; วง "โมโนมาเนีย (Monomania)" อัลบั้ม "another side of human" และ สิงโต นำโชค อัลบั้ม "ลัคกี้ (Lucky)" โดยมี อัลบั้ม EP.moir'e ของ ; วง ชูการ์ อนาล็อก คว้ารางวัลไปในที่สุด

-3-

นอกจากการเพิ่มสาขารางวัลแล้ว นักวิจารณ์อย่าง พรเทพ เฮง กรรมการอีกท่านที่หมุนเวียนกลับมาทำหน้าที่บ่อยครั้ง กลับเห็นว่าปัญหาใหญ่ๆ มาจากตัวอุตสาหกรรมเพลงไทยเองที่ “ปรับตัวไม่ทัน”

“วงการเพลงไทยมาถึงจุดที่เลยการเซ็ทตัวเองไปแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับทิศทางของโลกแน่นอนว่า เทคโนโลยี streaming มาชัดเจน มีการปรับทิศทาง แม้จะมีการปะทะกันบ้างประปราย อย่าง กรณี เทย์เลอร์ สวิฟท์ ที่พยายามจะปฏิเสธ”

“แต่สำหรับค่ายเพลงไทยที่เคยได้เงินได้กำไรส่วนเกินมามากมาย กลับไม่ปรับตัว หรือปรับตัวไม่ทัน แม้จะพยายามไล่ตามกระแสโซเชียลมีเดีย หรือโลกออนไลน์ แต่ก็ยังไล่ตามไม่ทัน”

ความเคลื่อนไหวของค่ายเพลงใหญ่ดูจะตรงข้ามกับความเคลื่อนไหวของวงดนตรีเล็กๆ อิสระๆ ทั้งหลายที่ผุดขึ้นมา ซึ่ง บิ๊กตู่ พรเทพ เน้นว่า ไม่ขอใช้คำว่า “อินดี้” แต่พึงใช้คำว่า “ไมโคร” มากกว่า

“มันเป็นระดับไมโครแล้วครับ มันเล็กลงไปกว่านั้น ลักษณะแบบนี้มีความคล่องตัว ถ้าไปไม่รอด ก็สลายตัวไปอย่างรวดเร็ว ไม่บาดเจ็บ แตกต่างจากพวกอินดี้ ที่พยายามรวบรวมอินดี้ แต่ไปไม่รอด”

ผลลัพธ์ของเรื่องนี้ปรากฏออกมาเป็นงานอีเวนท์เล็กๆ ผุดขึ้นทั่วไป ประมาณว่า บัตร 200 บาท คนดู 100 กว่าคน ที่เกิดขึ้นตามบาร์ต่างๆ ที่ในอนาคตเชื่อว่าจะพัฒนาเป็นคอมมูนิตีของคนฟังเพลงเฉพาะกลุ่ม ทั้งที่บางครั้งโปรดักชั่นการทำงานของศิลปินระดับไมโครเหล่านี้ก็สุดแสนธรรมดา

“แต่ผมมองว่าความเคลื่อนไหวเล็กๆ ตรงนี้ มีพลังมากกว่ายุคสมัยของอัลเทอร์เนทีฟเสียอีก พวกนี้ปรับตัวกับกระแสโลกได้ดี กำลังเบ่งบาน แต่ในเวลาเดียวกัน เราต้องยอมรับด้วยว่า คนฟังก็เปลี่ยนไป เกิด generation ใหม่ รสนิยมใครรสนิยมมัน” พรเทพ ระบุ

หากมองในกรอบแว่นตานี้ ปรากฏการณ์ของวงหมอลำร่วมสมัย The Paradise Bangkok International Molam ก็จัดเป็นความเคลื่อนไหวในระดับ “ไมโคร” ที่ส่งพลังออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากความสำเร็จในเวทีเทศกาลดนตรีในต่างประเทศ ในที่สุดวงนี้ ก็ได้รับรางวัลในสาขาอัลบั้มเพลงยอดเยี่ยมในที่สุด

บทวิเคราะห์ของ พรเทพ ยังตรงกับประสบการณ์ที่ มรกต ได้รับจากการสัมผัสศิลปินรุ่นใหม่โดยตรง ซึ่งถึงวันนี้ ดีเจโด๋วยืนยันว่า มีเทรนด์ที่กลุ่มคนทำดนตรีรุ่นใหม่ๆ กล้าทำดนตรีที่ไม่ได้อยู่ในกระแส ชนิดที่ค่ายเพลงหลักไม่กล้าทำเช่นนั้น

“ดังกรณีของ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม ที่เห็นโชว์ในงานสีสันอวอร์ด แล้วพบว่ามีศิลปินรุ่นน้องใหม่ๆ ที่ทำงานฉีกแนวออกไปมากมาย อย่างวง เยลโลว์แฟง ยังมีคนกล้าที่จะทำ กล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะลอง อย่าง โพลีแคท ที่สนุกจะย้อนกลับไปหาซาวด์ย้อนยุคเอชตีส์ เขาทำเพลงจนเราฟังแล้วนึกถึงซาวด์ยุคนั้นขึ้นมาได้ แนวโน้มวงการเพลงในเวลานี้ จึงเป็นไปได้ ที่จะทำงานทั้งในแบบล้ำสมัย และย้อนสมัยออกมา”

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเอื้ออำนวย ทั้งในด้านโปรดักชั่นและโปรโมชั่น การสร้างสรรค์งานเพลงของศิลปินร่วมสมัยยังมีพื้นที่มากพอสำหรับการแสดงออก เพียงแต่พวกเขาจะเปลี่ยนจาก “ไมโคร” มาเป็น “เมนสตรีม” ได้อย่างไร ดังข้อสรุปของนักวิจารณ์เพลง พรเทพ ที่ปิดท้ายว่า

“โดยส่วนตัว ผมยังพอใจมาก กับการทำเพลงของคนตัวเล็กๆ ที่พัฒนาขึ้นมาจากความหลากหลาย จนเกิดเป็นคอมมูนิตี ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่า แล้วจะมีศิลปินรายใดขยับขยายไปสู่การเป็นกระแสหลักในอนาคต”