กมธ.ยกร่างรธน. ชี้แยกประเด็นร่างรธน.ทำประชามติไม่ได้

กมธ.ยกร่างรธน. ชี้แยกประเด็นร่างรธน.ทำประชามติไม่ได้

กมธ.ยกร่างรธน. ชี้แยกประเด็นร่างรธน.ทำประชามติไม่ได้ เหตุแต่ละมาตราเชื่อมโยงกัน หวั่นแยกประเด็นยากต่อการเข้าใจของปชช.

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวย้ำถึงแนวคิดที่เสนอให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เฉพาะประเด็นที่มีความสำคัญ มีข้อถกเถียงและภาคส่วนสังคมให้ความสนใจ เช่น ที่มาของนายกฯ ที่ไม่จำกัดว่าต้องมาจากส.ส. เท่านั้น, ที่มา ส.ว. แม้จะมีการแก้ไขให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนใน 77 จังหวัด แต่ต้องผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการในจังหวัด ถือว่ายังเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียง

ทั้งนี้ตนยังไม่ได้ดูรายละเอียดหรือเงื่อนไขของการทำประชามติที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ว่าจะสามารถทำได้ตามข้อเสนอหรือไม่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น มีส่วนที่ประชาชนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นการแยกประเด็นที่ชัดเจนให้ประชาชนทำประชามติ จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ตกไปทั้งฉบับ ส่วนที่หลายฝ่ายระบุว่าร่างมาตราของรัฐธรรมนูญนั้นมีการเชื่อมโยงประเด็นกัน หากเลือกทำเฉพาะประเด็นอาจกระทบกับส่วนอื่นๆ ด้วยนั้น ตนมองว่าการกำหนดกติกาเพื่อนำไปสู่การทำประชามตินั้น มีประเด็นทางเทคนิคและรายละเอียดที่ต้องพิจารณาซึ่งขึ้นอยู่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและเสนอร่างกฎหมายประกอบกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว

ด้านนายสุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 3 กล่าวว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยแยกทำทีละประเด็นที่มีปัญหานั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากประเด็นต่างๆ เช่น ที่มาของส.ว. หากทำประชามติว่าจะให้ใช้รูปแบบใด แล้วประชาชนลงมติว่าไม่เอาตามที่บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะมีปัญหาต่อรายละเอียดอื่นๆ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งถูกออกแบบไว้ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน ดังนั้นการแยกประเด็นร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปทำประชามตินั้น ไม่สามารถทำได้

ขณะที่นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ สนช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุ กมธ.ยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า ในเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าการทำประชามติแต่ละเรื่องนั้น สามารถทำได้ทั้งรูปแบบเต็มฉบับ หรือแยกทีละประเด็นได้ แต่ส่วนตัวมองว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ควรแยกประเด็นออกจากกัน เนื่องจากประเด็นต่างๆ มีความเกี่ยวโยงกันไว้ในหลายมาตรา นอกจากนั้นแล้วตามกฎหมายประชามติกำหนดให้ต้องจัดให้ความรู้กับประชาชนก่อนลงคะแนนประชามติ ดังนั้นอาจเกิดความยุ่งยากได้หากแยกทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญทีละประเด็น เพราะหลักการนั้นมีความเชื่อมโยงกัน ขณะที่ข้อเสนอของสปช. ที่ระบุให้ทำประชามติหลังจากที่สปช. ลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ นั้นตนมองว่าทำไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้กำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่า เมื่อสปช.ลงมติเห็นชอบก็จะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ แต่หากสปช.ไม่เห็นชอบต้องเริ่มดำเนินการใหม่ ดังนั้นข้อเสนอดังกล่าวจึงทำไม่ได้

ด้านนายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยแยกประเด็นนั้น ตนมองว่าสามารถทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยการทำประชามติกำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียด และกติกาที่จะดำเนินการ ซึ่งต้องออกแบบให้เหมาะสม ขณะที่บางประเด็นซึ่งเกี่ยวโยงกันไปในหลายมาตรานั้น เชื่อว่าไม่เป็นปัญหา หากนำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาจัดกลุ่มประเด็นแล้วนำไปทำประชามติ ขณะที่การจัดเวทีรับฟังความเห็นของภาคประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทางอนุกมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช. ได้ดำเนินการในเวทีต่างๆ ซึ่งได้นำแบบสำรวจความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนแต่ละเวทีได้ร่วมแสดงความเห็นนั้น ตนมองว่าไม่สามารถนำมาเทียบกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตได้ เนื่องจากแต่ละเวทีได้เน้นการสร้างความเข้าใจและความรับรู้ ไม่ใช่เป็นระดับของการร่วมตัดสินใจที่เป็นหลักการสำคัญของการทำประชามติ