ชำแหละ 'ค้ามนุษย์โรฮิงญา' ไทยจุดตั้ง 'คอกกัก' เรียกค่าไถ่

ชำแหละ 'ค้ามนุษย์โรฮิงญา' ไทยจุดตั้ง 'คอกกัก' เรียกค่าไถ่

(รายงาน) ชำแหละ "ค้ามนุษย์โรฮิงญา" ไทยจุดตั้ง "คอกกัก" เรียกค่าไถ่

รายงานจากเดลีสตาร์และเอเชียนิวส์เนตเวิร์ก ระบุว่าแก๊งค้ามนุษย์ซึ่งรับปากว่าจะหางานดีๆ ให้ในมาเลเซีย ได้คุมตัวชาวบังกลาเทศไว้ประมาณ 250,000 คนในไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และทำเงินได้หลายล้านทาคา (1 ล้านทาคาประมาณ 428,000 บาท)


คนยากจนจากบังกลาเทศซึ่งหวังจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้ลงเรือขนส่งสินค้ามายังไทย แล้วก็เดินทางต่อไปทางบกยังมาเลเซีย แต่ความฝันของพวกเขากลายเป็นฝันร้าย เพราะถูกคุมตัวในสภาพที่แออัดและสกปรกในป่าเป็นเวลาหลายเดือน หรือถึงขั้นหลายปี บางครั้งก็ถูกทุบตีและไม่มีอาหารกิน


ชาวบังกลาเทศคนหนึ่งในมาเลเซีย กล่าวว่า ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการคุมตัวเหยื่อไว้ในเทือกเขาที่ห่างไกล ผู้อพยพเหล่านี้ถูกคุมตัวไว้ในไทยจนกว่าจะมีการจ่ายเงินให้จึงถูกส่งต่อไปยังมาเลเซีย


นายหน้าชาวมาเลเซียคนหนึ่งเผยว่า เอเยนต์ค้ามนุษย์มีกระจายอยู่บังกลาเทศและได้เงิน 5,000-10,000 ทาคา (2,150-4,300 บาท) ต่อหัวจากการจัดหาเหยื่อให้เครือข่ายค้ามนุษย์ ส่วนระดับเจ้าพ่อได้เงินประมาณ 15,000-30,000 ทาคา


เหยื่อซึ่งเป็นคนจนที่หวังได้งานดีๆ จะไม่ได้รับการปล่อยตัวจากป่าในไทยจนกว่าคนที่จับพวกเขาไว้ จะได้รับการยืนยันว่าจากนายหน้าในบังกลาเทศว่าได้เงินจากครอบครัวเหยื่อแล้ว ซึ่งจำนวนเงินแตกต่างกันไประหว่าง 200,000-350,000 ทาคาต่อหัว เงินค่าไถ่ส่วนใหญ่จ่ายผ่านระบบธนาคารทางมือถือ ครอบครัวของเหยื่อซึ่งถูกกดดันจากแก๊งค้ามนุษย์ที่ยื่นเส้นตายให้ ก็ต้องนำที่ดินออกขาย หรือไปกู้เงินมาด้วยดอกเบี้ยสูง


ข้อมูลเกี่ยวกับการค้ามนุษย์นี้ยากจะประเมิน แต่เหยื่อและเอ็นจีโอที่ติดตามประเด็นนี้ เผยว่าเครือข่ายกระจายอยู่ในบังกลาเทศ พม่า ไทย และมาเลเซีย รายงานของสหประชาชาติเมื่อเดือนธ.ค. ปีที่แล้วระบุว่าเฉพาะปีที่แล้วมีผู้คน 53,000 คนจากบังกลาเทศและพม่า เดินทางไปมาเลเซียและไทยทางทะเล


เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เดลีสตาร์ได้สัมภาษณ์เหยื่อค้ามนุษย์ 8 คนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหลายคน ได้ข้อมูลพอสรุปว่า มีเรือสินค้าอย่างน้อย 2 ลำ แต่ละลำบรรทุกคนประมาณ 500 ชีวิต ออกเดินทางจากบังกลาเทศทุกสัปดาห์ ปีละประมาณ 8 เดือน โดยธุรกิจมักซบเซาช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ย. เพราะฝนตกและทะเลมีคลื่นแรง


ตัวเลขนี้หมายความว่ามีการค้ามนุษย์เดือนละประมาณ 4,000 คน หรือปีละ 32,000 คน และหากแต่ละคนจ่ายเงินค่าไถ่รายละ 200,000 ทาคา เงินจากการค้ามนุษย์จะสูงถึง 6,400 ล้านทาคา


แต่ใช่ว่าทุกครอบครัวสามารถจ่ายเงินได้ เพราะเหยื่อบางคนหาเงินมาไม่ได้และถูกขายไปเป็นทาส


เดลีสตาร์ประเมินว่า มีชาวบังกลาเทศ 250,000 คนตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขนี้รวบรวมจากข้อมูลที่ได้จากเหยื่อและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ตำรวจย่านเทคนาฟระบุว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของเหยื่อนั้น 10-15% เป็นชาวโรฮิงญา


ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือกล่าวว่า การค้ามนุษย์ถูกควบคุมโดยหลายแก๊ง นายเจเวล บารัว วัย 22 ปี เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการช่วยเหลือจากตำรวจไทยจากป่าเมื่อเดือน ม.ค.ปีที่แล้ว เขาถูกส่งตัวมายังไทยเมื่อเดือนพ.ย.2556 ในป่าที่เขาถูกคุมตัวอยู่นั้น เขาเห็นกลุ่มที่มีแต่ผู้หญิงซึ่งคอยคุม โดยหัวหน้ากลุ่มดูเหมือนคนไทย 

นายแมทธิว สมิธ ผู้อำนวยการกลุ่มฟอร์ติฟาย ไรต์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า มีคนหลายหมื่นคนตกอยู่ในสภาพเลวร้าย ถูกทุบตี และถูกทรมานเพื่อเรียกเงิน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างอยู่ในทะเล ในแคมป์กลางป่า หรือตามจุดคุมตัวต่างๆ ในมาเลเซีย พร้อมเสริมว่าในบางกรณี เจ้าหน้าที่ไทยสมรู้ร่วมคิดด้วย


ในส่วนของบังกลาเทศนั้น เทคนาฟกับเซนต์มาร์ตินเป็นเหมือนศูนย์กลางการค้ามนุษย์ โดยหลังจากเดินทางมาจากหลายตำบลของบังกลาเทศ คนเหล่านี้ถูกนำไปเก็บตัวในบ้านและถูกยึดข้าวของต่างๆ แม้แต่รองเท้า เมื่อถึงวันที่กำหนดไว้ จะมีการนำตัวคนเหล่านี้ไปลงเรือ ซึ่งส่วนใหญ่มีกัปตันเป็นคนไทย


ทันทีที่ถึงไทยแล้ว เหยื่อจะถูกแยกตัวเป็นกลุ่มๆ ตามชื่อเจ้าพ่อในเทคนาฟและคอกซ์บาซาร์ที่ล่อลวงคนเหล่านี้มา แล้วกลุ่มค้ามนุษย์ก็ตั้งเต็นท์ในป่า และมีการย้ายไปย้ายมาด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งตัวต่อไปยังมาเลเซีย


ในการเคลื่อนย้ายนั้นใช้รถปิกอัพไม่มีหลังคาซึ่งคลุมด้วยผ้าพลาสติกและมีผู้อพยพอยู่คันละ 20 คน ระหว่างทางหากมีตำรวจถามว่าอะไรอยู่ใต้ผ้าพลาติก คนขับก็ตอบว่าผัก


นอกจากผู้ที่ถูกจับอยู่ในป่าแล้ว ยังมีส่วนหนึ่งกระจายอยู่ตามพุ่มไม้ตามยอดเขาในไทย และตามเกาะต่างๆ รวมถึงลอยเรืออยู่ในทะเลอันดามัน เผื่อไว้สำหรับกรณีที่เหยื่อบางรายถูกตำรวจจับจะได้มีเหยื่อรายอื่นเหลืออยู่