เด็กชักเกร็ง อย่านิ่งนอนใจ

เด็กชักเกร็ง อย่านิ่งนอนใจ

จำนวนผู้ป่วยโรคลมชักเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ 6-7 แสนคน หรือประมาณว่าใน 100 คนจะพบ 1 คน

โรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติจากกระแสไฟฟ้าภายในสมอง ปัจจุบันพบว่าโรคลมชักพบมากขึ้นในผู้สูงอายุที่แข็งแรง ไม่เคยเป็นโรคอะไรมาก่อน แต่เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น สมองฝ่อลีบลงทำให้เซลล์สมองมีโอกาสผิดปกติได้สูงขึ้น จึงอาจทำให้เกิดอาการชักได้


ปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของการชัก ได้แก่ โรคทางพันธุกรรมที่มักมีอาการชักร่วมด้วย ภาวะสมองพิการแต่กำเนิดซึ่งเกิดตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อหรืออุบัติเหตุในระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น การกระทบกระเทือนต่อสมองเนื่องมาจากอุบัติเหตุ หรือการขาดออกซิเจน การติดเชื้อในสมอง อาทิ ฝีในสมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งที่กระจายจากอวัยวะอื่น ๆ มาสู่สมอง


พ.อ. (พิเศษ) นพ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อธิบายว่า อาการชักมีหลากหลายอาการด้วยกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งสมองที่ผิดปกติ อาทิ อาการชักเฉพาะแบบที่ขาดสติ ไม่รู้สึกตัวเหมือนเบลอไป อาจหมดสติหรือไม่หมดสติก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้ป่วยจดจำอะไรในช่วงเวลานั้นไม่ได้ หรือจำได้แค่บางส่วนเท่านั้น หรือมีการสั่งงานของสมองไม่ถูกต้อง


เช่น บางคนอยากจะพูดแต่พูดไม่ออก อยากจะเคลื่อนไหวแต่เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือพอมีเหตุการณ์ก็จำเหตุการณ์ไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ความทรงจำถูกลบไปชั่วขณะ เมื่อหายแล้วทุกอย่างเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว แต่ส่วนใหญ่อาการชักที่เกิดขึ้นจะหยุดเอง โดยปกติอาการชักมักไม่ค่อยมีอันตราย อาจเกิดขึ้นและจบลงภายในเวลาไม่กี่นาที แต่ส่วนมากอันตรายที่เกิดขึ้นมักจะเกิดจากคนรอบข้างหรือผู้ดูแลที่พยายามให้การช่วยเหลืออย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนอาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บทางร่างกายตามมา


สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักที่เป็นเด็ก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปพบแพทย์เป็นประจำ เพื่อจะได้คอยตรวจสอบ ให้การดูแลและป้องกันการชักซ้ำๆ ได้ดีขึ้นในอนาคต เพราะหากเด็กชักซ้ำบ่อยครั้งย่อมเกิดผลกระทบต่อพัฒนาการทางการเรียนรู้และการอยู่ร่วมในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
เด็กที่มีอาการชักที่เกิดขึ้นซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป โดยที่ไม่มีสิ่งกระตุ้น กล่าวคือไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่สบายหรือมีไข้ อาจจะเข้าข่ายว่าเป็นโรคลมชัก พ่อแม่ต้องพามาพบแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจน


เด็กที่ชักบ่อยๆ จะเริ่มถอยห่างจากเด็กที่ปกติ กลายเป็นเด็กที่สติปัญญาช้า เรียนหนังสือไม่ได้ มีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้นและมีปัญหาการเรียนตามมาเรื่อยๆ


ในการรักษานั้น แพทย์จะตรวจจนแน่ใจแล้วจึงให้การรักษา แต่โรคลมชักบางชนิดก็ไม่ต้องรักษา เพราะอาการจะค่อยๆ หายไปเองเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น บางคนอาจชะลอการรักษาออกไปก่อน ไม่จำเป็นต้องรีบรักษาตั้งแต่การชักครั้งแรก จนกว่าจะมีการประเมินอย่างละเอียด


ส่วนการรักษาในผู้ใหญ่จะต้องกินยากันชัก มีการศึกษาพบว่า 70% หลังกินยาจะไม่มีอาการชักเลย และ 30% กินแล้วดื้อต่อยากันชัก ทั้งนี้ ใน 70% ที่ตอบสนองกับยานั้นต้องกินยาในระยะเวลานาน เนื่องจากยาจะไปออกฤทธิ์ในระดับเซลล์ ทำให้เซลล์ค่อยๆ ปรับตัวเป็นปกติ ในจำนวนนี้ก็จะมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่ง เมื่อกินยาครบ 3-5 ปี สามารถหยุดยาและอาการชักหายไป


อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่หยุดยาแล้วกลับมาชักอีก ซึ่งกลุ่มนี้พบว่ารอยโรคอาจจะค่อนข้างมาก จึงต้องกินยาตลอดไปเป็นระยะเวลานานขึ้น หรือบางคนต้องกินยาไปตลอดชีวิต


สำหรับกรณีของผู้ป่วย 30% ที่ดื้อต่อยา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรอยโรคในสมองชัดเจน แพทย์จะพิจารณาถึงการผ่าตัดเป็นลำดับถัดมา ผู้ป่วยจะต้องมาตรวจอาการที่ค่อนข้างซับซ้อนเพื่อหาตำแหน่งคือ การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อหาจุดในสมองที่มีความผิดปกติ โดยต้องมานอนพักที่โรงพยาบาลเป็นสัปดาห์ และทุกขั้นตอนจะอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ


นอกจากนี้ยังมีการรักษาซึ่งอาจเป็นวิธีเสริม เช่น การรักษาด้วยอาหารซึ่งทำมาเกืบ 20 ปีแล้ว เป็นการใช้อาหารไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนต่ำ เรียกว่า Ketogenic Diet จะไปกระตุ้นทำให้เซลล์เกิดการยับยั้ง ทำให้อาการชักลดลงได้ วิธีนี้นิยมใช้กับผู้ป่วยโรคลมชักที่เป็นเด็ก เนื่องจากต้องมีการกำหนดส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งผู้ปกครองต้องประกอบอาหารเอง จึงเหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กมากกว่าผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่หรือสูงอายุที่จะเลือกรับประทาน


นพ.โยธิน ย้ำว่ายังมีความหวังอยู่ว่าอาจมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักในอนาคตอันใกล้ เช่น การผ่าตัดโดยการใช้เลเซอร์ยิง การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นสมอง และเทคโนโลยีล่าสุดคือ Photo Genetic หรือการใช้แสงไฟรักษา คือการฝังเซลล์พิเศษที่เปล่งแสงได้เข้าไปในสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการชัก เทคโนโลยีนี้กำลังอยู่ในช่วงการวิจัยและคงมีโอกาสนำมาใช้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า