เสนอยกเลิก 'โทษประหารชีวิต' เหลือจำคุกตลอดชีวิต

เสนอยกเลิก 'โทษประหารชีวิต' เหลือจำคุกตลอดชีวิต

"กสม." เสนอให้ยกเลิก "โทษประหารชีวิต" แนะเหลือแค่โทษจำคุกตลอดชีวิต ชี้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันจันทร์ที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอของกสม. ในเรื่องข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตและหลักสิทธิมนุษยชน โดยกสม.รายงานว่าแนวคิดการลงโทษผู้กระทำผิดปัจจุบันมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำผิดด้วยการบำบัดฟื้นฟูจิตใจและพฤติกรรมซึ่งเป็นผลจากความรู้ความเข้าใจที่ผิดพลาดของผู้กระทำจนนำไปสู่การกระทำความผิด ซึ่งปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกส่วนใหญ่ยกเลิกโทษประหารชีวิตเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสแก้ไขฟื้นฟูให้สามารถกลับคืนเป็นบุคคลที่มีคุณค่าทางสังคมได้ อย่างไรก็ตามตามหลักสิทธิมนุษยชนโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการมีชีวิตของบุคคล ทางกลับกันในแง่ทฤษฎีด้านอาชญาวิทยาโทษประหารชีวิตยังมีผลในการป้องกันหรือยับยั้งบุคคลอื่นมิให้กระทำความผิดเช่นเดียวกัน

 

“แต่กสม.พบว่าการกระทำความผิดที่มีการลงโทษด้วยการประหารชีวิตไม่ได้ทำให้การกระทำความผิดลดลง แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแสดงว่าโทษประหารชีวิตไม่ได้ยับยั้งป้องปรามการกระทำความผิดได้จริง ดังนั้นกสม.จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายต่อครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป”

 

ส่วนข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายของกสม.ที่มีต่อครม.ที่น่าสนใจเสนอข้อหนึ่งระบุว่า ครม.ควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาบางมาตราที่มีโทษประหารชีวิตบางฐานความผิดก่อน โดยเฉพาะฐานความผิดที่ผู้กระทำความผิดไม่ได้มุ่งประสงค์ต่อชีวิตของผู้เสียหาย หรือไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น เช่น มาตรา 148 , 149 , 201 , 202 , 218 , 220 , 222 , 313 และ 314 ฯ

“และเสนอว่าครม.ไม่ควรกำหนดให้มีโทษประหารชีวิตไว้ในกฎหมายในกรณีที่จะมีการตรากฎหมายขึ้นใหม่ และควรแก้ไขกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตทุกฐานความผิดเมื่อสังคมมีความเข้าใจและมีความพร้อมในการยกเลิกโทษประหารชีวิตต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิในการดำรงชีวิตอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

นอกจากนี้ กสม.ยังเสนอให้ครม.ควรพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิตภายใน พ.ศ. 2561 และส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 อย่างจริงจัง โดยการยกเลิกโทษประหารชีวิตทุกฐานความผิดเมื่อปัจจัยต่างๆพร้อม เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิในการดำรงชีวิตอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และครม.ควรลงมติเห็นชอบการสนับสนุนข้อมติเกี่ยวกับการพักการใช้โทษประหารชีวิตในการประชุมสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากระหว่าง พ.ศ. 2547-2556 คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติประเทศไทยไม่ได้ใช้การลงโทษด้วยการประหารชีวิตมาเป็นเวลาช้านานอยู่แล้ว ยกเว้นนักโทษประหารชีวิตคดียาเสพติดสองรายในปี พ.ศ. 2552 เท่านั้น หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตนักโทษอีกเลย

 

กสม.เสนออีกว่า ครม.โดยกระทรวงยุติธรรมควรมีมาตรการทดแทนเมื่อมีการยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งมาตรการทดแทนดังกล่าวอาจเป็นการเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยให้มีระยะเวลาการจำคุกไม่น้อยกว่า 25 - 30 ปี และนักโทษเหล่านี้มีสิทธิยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ตามกลไกที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นกรมราชทัณฑ์จะต้องเร่งปฏิรูประบบเรือนจำให้สามารถรองรรับนักโทษประหารชีวิตหากมีการเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยเรือนจำต้องมีความมั่นคงแข็งแรงและต้องมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักโทษ

 

ส่วนข้อเสนออื่นๆ กสม. เสนอว่า กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคมไทยเกี่ยวกับโทษประหาร และกรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กรมสุขภาพจิต ศาลยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มบทบาทครอบครัวและชุมชนในการคุมประพฤติผู้กระทำผิดภายใต้การกำกับดูแลของผูคุมประพฤติและคำสั่งหรือคำพิพากษา และควรปรับปรุงระบบและกระบวนการยุติธรรม อาทิ ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยให้ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งครอบครัวและชุมชนของทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนบำบัดฟื้นฟูผู้เสียหายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำผิดให้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำด้วยการชดใช้เยียวยา และต้องพัฒนาวิธีการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพการและจิต ส่วนกระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ศาลยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรปรับปรุงระบบยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วถูกต้อง ใช้ระยะเวลาดำเนินการแต่ละคดีไม่มากนัก

 

“โดยมติครม.รับทราบข้อเสนอของกสม. และมอบหมายให้กระทรวยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายของกสม. โดยให้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาตามข้อเสนอของกสม. และให้จัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม เพื่อเสนอกลับมาที่ครม.ภายใน30วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง”