เล่าเรื่องวันวานผ่านผืนผ้า

เล่าเรื่องวันวานผ่านผืนผ้า

ศรีสัชนาลัยเป็นเมืองแห่งทองจริงๆ

เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งทำทองโบราณที่ได้ชื่อว่ามีฝีมือการทำประณีตที่สุด จนหลายคนรู้จักในชื่อ "ทองสุโขทัย" หรือ "ทองศรีสัชนาลัย" แล้ว กลางเมืองโบราณที่ยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมกรดโลกแห่งนี้ยังมี "ผ้าทองคำ" ที่ทำหน้าที่คล้ายคัมภีร์โบราณ บอกเล่าเรื่องราวของคนในยุคเปลี่ยนผ่าน กระทั่งถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี


ผ้าทองคำที่ว่าถูกเก็บรักษาไว้ภายใน พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ โดยมีชาวไทยเชื้อสายไทยพวนอย่าง ลุงสาธร โสรัจประสพสันติ เป็นผู้รวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ความรู้


ลุงสาธรเล่าว่า ได้สะสมผ้าทอโบราณมานานแล้ว โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจกของชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย ซึ่งในระยะแรกเป็นการเสาะหาเพื่อซื้อขาย แต่เมื่อคิดได้ว่า ควรมีห้องแสดงผ้าโบราณเพื่ออวดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษบ้าง พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำโบราณจึงเกิดขึ้นโดยตั้งอยู่ในตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย


ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของผ้าทอลายโบราณของชาวไทยพวนเป็นหลัก ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้าทอไทยพวนคือเป็นผ้าตีนจก 9 ลาย ได้แก่ ลายเครือน้อย, ลายเครือกลาง, ลายเครือใหญ่, ลายสิบหกขอ, ลายแปดขอ, ลายสี่ขอ, ลายน้ำอ่าง และลายสองท้อง ผ้าโบราณจะถูกเก็บรักษาไว้ในตู้กระจกอย่างดี แต่ละผืนก็มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีผ้าที่ใช้ในพิธีบวชนาคบนหลังช้าง ผ้าคลุมไหล่ ผ้าสไบ ผ้าที่ใช้ในพิธีแต่งงาน รวมถึงผ้าตีนจกจากพื้นที่อื่นๆ อีกมากมาย


ความวิจิตรงดงามของผืนผ้าสะกดผู้มาเยือนให้อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ได้เนิ่นนาน โดยมีลุงสาธรบรรยายความเป็นมาและความสำคัญของผ้าแต่ละผืนให้ฟัง ส่วนไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นั่นก็คือ "ผ้าทองคำ" ลุงสาธร บอกว่า ที่พิธภัณฑ์นี้มีผ้าทองคำ 2 ผืน ผืนแรกเป็นซิ่นทองคำอายุกว่า 100 ปีที่ซื้อมาเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ซิ่นทองคำถือเป็นอาภรณ์ของชนชั้นสูงในราชสำนักเชียงตุง โดยผืนนี้คาดว่าเป็นมรดกที่ตกทอดมา ลักษณะเป็นซิ่นทอด้วยดิ้นเงินผสมดิ้นทองคำราว 50 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นสีของซิ่นจึงไม่เหลืองทองสุกสกาวอย่างที่ควรจะเป็น แต่ประณีตงดงามมาก


ส่วนผ้าทองคำผืนที่ 2 นั้น ลุงสาธรสั่งทอขึ้นมาเอง โดยใช้ทองคำแท้ 90 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้ในพิธีแต่งงานของลูกสาวลุงสาธร แต่ซิ่นทองคำผืนนี้ผู้สวมใส่จะนั่งไม่ได้ เพราะทองคำจะหัก จึงใส่เพื่อรับแขกได้เท่านั้น เมื่อเสร็จพิธีก็นำมาจักแสดงให้ลูกหลานได้ศึกษา


"สมัยก่อนเขาจะมีคำพูดบอกว่า หญิงทอผ้า ชายตีเหล็ก คือผู้หญิงที่ทอผ้าไม่ได้ก็จะหาผัวไม่ได้อะไรแบบนั้น แล้วผู้หญิงบ้านหาดเสี้ยวจะเคร่งครัดในการแต่งตัวมากเป็นพิเศษ คือถ้าเป็นหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานจะใส่ซิ่นตีนแดงแฮ้งตู๊ หรือผ้าเคียนนมด้วยผ้าสี แต่ถ้าเป็นหญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่ผ้าซิ่นตีนดำแฮ้งตู๊ด้วยผ้าดำ" ลุงสาธร บอก


พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-17.30 น. ซึ่งนอกจากอาคารพิพิธภัณฑ์แล้ว ภายในบริเวณนั้นยังมีเรือนไทยพวนในสมัยโบราณให้ชม รวมถึงโซนสาธิตการทอผ้าตีนจก และห้องจำหน่ายผ้าพื้นบ้านศรีสัชนาลัยด้วย


ส่วนใครที่สนใจภาษาไทยพวน ที่นี่ก็จะมีการสอนภาษาไทยพวนวันละคำ จดจารไว้บนกระดานให้ผู้ผ่านไป-มาได้อ่านกัน มาถึงศรีสัชนาลัยแล้วไม่แวะชมพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำเดี๋ยวจะมาไม่ถึง(นะ)