ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจคนไทยกระเป๋าแห้ง

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจคนไทยกระเป๋าแห้ง

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เผย ผลสำรวจคนไทยรายได้ไม่พอใช้จ่าย อยู่ในภาวะ "ไม่จำเป็นไม่ซื้อ" ด้าน "เอสเอ็มอี" หายใจรวยริน บางรายเริ่มร่อแร่

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 428 รายจาก 8 จังหวัด เกี่ยวกับผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 สำรวจวันที่25 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2558 พบว่า เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ โดยแบ่งตามขนาดของสถานประกอบการพบว่า สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (การจ้างงานไม่เกิน 5 คน) 54% ระบุว่า ยอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 34% ระบุว่า ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ และอีก 12% ระบุว่า มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก (การจ้างงาน 6 ถึง 50 คน) 44% ระบุว่า ยอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 38% ใกล้เคียงกัน และอีก 18% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง (การจ้างงาน 51 ถึง 200 คน) 36% ระบุว่า ยอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 47% ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ และอีก 17% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยยอดขายในไตรมาสที่ 1ปีนี้เปรียบเทียบปีที่แล้วพบว่า รายย่อยขายลดลงประมาณ 32%ขนาดเล็กยอดขายลดลง 24% และผนาดกลางยอดขายลดลง 18%

” เอสเอ็มอีไทยมี 2.8 ล้านราย พบว่า 2 ล้านรายได้รับผลกระทบ และกลุ่มยอดขายลดลงพบว่าสภาพคล่องเหลือ15. วัน ซึ่งน่าเป็นห่วง ซึ่งก็คาดหวังรัฐจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งหากทำได้เร็วก็จะเห็นผลในปลายไตรมาส2. หรือต้นไตรมาส3″นายเกียรติอนันต์กล่าว

​​ด้านการคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 พบว่า สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย 23% คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้น 47% ใกล้เคียงกัน 30% แย่ลง สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง 29%คาดว่าดีขึ้น 49% ใกล้เคียงกัน 22% แย่ลง และสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง 31% คาดว่าดีขึ้น 55% ใกล้เคียงกัน 14% แย่ลง

สำหรับอุปสรรคสำคัญ 5 อันดับแรกที่จะส่งผลต่อการทำธุรกิจ ได้แก่ การลดลงของกำลังซื้อในประเทศ การขาดสภาพคล่องและการเข้าถึงแหล่งทุน กำลังซื้อจากต่างประเทศ การเกิดภัยแล้ง และต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่ง ผู้ประกอบการปรับตัวมุ่งไปที่การกระตุ้นกำลังซื้อด้วยการลดราคา การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ พัฒนาให้บุคลากรทำงานให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการทำตลาดด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้เร็วที่สุด

” ในขณะนี้คนกระเบียดกระเสียน ไม่จำเป็นไม่ซื้อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่งผลต่อยอดขายเอสเอ็มอี มีผลทำให้เอสเอ็มอีอยู่ในข่ายเจ็บปวดหายใจระรวย แต่รายย่อยเริ่มหายใจถี่เตรียมจะจากลา การแก้ปัญหาผู้ประกอบการต้องปรับตัวเองให้อยู่รอดและภาครัฐต้องกำหนดแผนพัฒนาเอสเอ็มอีหากไม่ชัดเจนท้ายสุดไทยก็แข่งขันไม่ได้ เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นส่วนสำคัญที่เกิดการจ้างงานมั่นคงยั่งยืน”

ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,190 คน จาก 22 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อจัดทำดัชนีคุณภาพชีวิตของคนไทย ทำการสำรวจระหว่าง 10 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2558พบว่า คนไทยไม่มีเวลาออกกำลังและพักผ่อนน้อย, มีความเครียดด้านชีวิตความเป็นอยู่, คนไทยยังชักหน้าไม่ถึงหลังการมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายความสามารถในการเก็บออมเงินได้ต่ำและกว่าสองในสามเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งในปี 2558