ครม.ตั้งคกก.พิจารณาเงินเดือนจนท.รัฐทั้งระบบ

ครม.ตั้งคกก.พิจารณาเงินเดือนจนท.รัฐทั้งระบบ

ครม.เคาะตั้งคกก.พิจารณาเงินเดือนจนท.รัฐทั้งระบบ ทั้งขรก.ตุลาการ-พลเรือน-องค์กรอิสระ-องค์การมหาชน แต่เริ่มใช้ในรัฐบาลหน้า

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เรื่องนี้เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.เงินเดือนที่ต้องผ่านสภาฯไปแล้ว การจะแก้ไขในขั้นสภาก็ยุ่งยาก แต่ฐานเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการแต่ละประเภทไม่ว่าตำแหน่งใดมีความลักลั่นกันอยู่ ดังนั้นครม.จึงมีติให้ตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ”

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องเดิมเมื่อปี 2540 ที่มีกฎหมายออกมาว่าเงินเดือนของข้าราชการตุลาการต่อไปนี้จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและไม่นำฐานเงินเดือนข้าราชการพลเรือนมาผูกโยง จึงทำให้ระบบเงินเดือนของส่วนต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ เช่นในปี 2543 ข้าราชการฝ่ายตุลาการแยกเรื่องของการคิดเงินเดือนตัวเองออกมา ปี 2544 ข้าราชการอัยการก็มีพ.ร.บ.เงินเดือนของตัวเอง ปี 2547 พ.ร.บ.เงินเดือนข้าราชการครู ปี 2551 มีระเบียบข้าราชการพลเรือนว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร ปี 2554 เป็นระเบียบฯของตำรวจแยกออกมาต่างหาก ทำให้เกิดการลักลั่นกัน

“นายกฯจึงกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจาารณาค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยทำให้มีความเหมาะสมเทียบเคียงกันในสัดส่วนของเงินเดือนทุกประเภท ซึ่งเดิมทีมีคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติอยู่ หรือ กงช. แต่กงช. ดูได้เฉพาะเงินเดือนข้าราชการพลเรือนเท่านั้น ไม่สามารถดูระบบเงินเดือนทุกภาคส่วนได้”พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า นายกฯไม่ต้องการให้สังคมเป็นกังวลเพราะเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องนี้ออกมาจะไม่ได้ใช่ในรัฐบาลนี้ แต่จะเป็นการวางรากฐานให้กับรัฐบาลต่อไป เพราะที่ผ่านมาเงินเดือนของทหารเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ผู้บัญชาการกองพล หรือรองแม่ทัพเงินเดือนน้อยกว่านายอำเภอ นายกรัฐมนตรีเงินเดือนน้อยกว่าศาล เป็นต้น มีความลักลั่นกันในทุกแท่งของข้าราชการทุกประเภท จึงเป็นการจัดระเบียบเงินเดือนทั้งระบบทั้งองค์กรอิสระ องค์กรมหาชนทั้งหลายในรอบเดียวกัน