ซัดร่างรธน.กำมะลอ จี้รับความคิดเห็นปชช.

ซัดร่างรธน.กำมะลอ จี้รับความคิดเห็นปชช.

“ธีรภัทร์” ซัดร่างรธน.กำมะลอ จี้ให้รับความคิดเห็นปชช.-ปรับเนื้อหา ยกกรอบรัฐธรรมนูญม.35(2)ทำประชาธิปไตยให้เหมาะสมกับสังคม

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) แถลงผลการสำรวจความเห็นของประชาชนเพื่อจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ประเด็นการสร้างประชาธิปไตยให้เป็นระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ชอบธรรม ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิพล ยั่งยืน และมีลักษณะประชาธิปไตยกินได้ ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย สพม. ระหว่างวันที่ 1 - 25 มี.ค. จากการใช้แบบสอบถามลักษณะตัวเลือก และไม่มีการแสดงเหตุผลปประกอบการเลือกคำตอบ และใช้วิธีสุ่มแบบบังเอิญ ใน 55 จังหวัด มีผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,478 คน

โดยตั้งคำถามในกรอบการสร้างประชาธิปไตยให้เป็นระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ชอบธรรม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นั้น ประเด็นที่มานายกฯ ผู้ตอบแบบสอบถามสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 70 เห็นว่านายกฯควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน,​รองลงมา ให้ส.ส.และส.ว.เป็นผู้เลือก คิดเป็นร้อยละ 11.8, ให้ส.ส.เลือก คิดเป็นร้อยละ 7.8 , ให้สรรหาจากบุคคลที่เหมาะสม คิดเป็ดร้อยละ 7.5 และมาจากการเลือกของส.ว. คิดเป็นร้อยละ 0.6 , ประเด็นที่มาส.ส. เห็นว่าควรเป็นรูปแบบเดิม คือเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ คิดเป็นร้อยละ 37.8 รองลงมาคือ มาแบบสัดส่วนผสม (รูปแบบเหมือนประเทศเยอรมนี) และมีเฉพาะแบบแบ่งเขตเท่านั้น คิดเป็นร้อยละที่เท่ากัน คือ ร้อยละ26, ประเด็นที่มาส.ว. เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน คิดเป็นร้อยละ 55.2 รองลงมา คือ จากการเลือกตั้งและสรรหา คิดเป็นร้อยละ 24.9 และมาจากการเลือกตั้งตามสาขาอาชีพ ร้อยคะ 14.5 ขณะที่ประเด็นการแบ่งแยกอำนาจ เสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.5 เห็นว่าตต้องมีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติที่ชัดเจน คือ ส.ส. และส.ว.ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ส่วนวาระการบริหารของรัฐบาล เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีวาระ4 ปี ดำรงตำแหน่งไม่เกินสองวาระติดต่อกันและห้ามกลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกไม่ว่ากรณีใดๆ ​

นายธีรภัทร์ แถลงด้วยว่าสำหรับกรอบการสร้างประชาธิปไตยให้ยั่งยืนนั้น เสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.8 เห็นด้วยกับแนวคิดให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน และมีรายละเอียดที่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นเป็นเสียงส่วนใหญ่คือ การให้การศึกษาการเมืองต้องทำทั้งในและนอกระบบการศึกษาผ่านหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาล นอกจากนั้นร้อยละ 90 เห็นด้วยกับการจัดตั้งสถาบันพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อมาดำเนินการให้การศึกษาการเมืองแก่ประชาชน ขณะที่การมีอยู่ของสภาพัฒนาการเมือง ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ร้อยละ 62.4 เห็นว่าควรมีต่อไป และในกรอบที่ว่าด้วยการสร้างประชาธิปไตยกินได้ นั้น ภาพรวมของการประเมินคือการให้บทบาทสำหรับสภาพลเมืองในการวางรากฐานความรู้ทางการเมืองและประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนทุกระดับ

นายธีรภัทร์ กล่าวด้วยว่าความเห็นของประชาชนดังกล่าวตนจะนำไปสังเคราะห์และเตรียมยกร่างเป็นบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนุญเพื่อมอบให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานฯ โดยมีรายละเอียดสำคัญคือการให้การศึกษาการเมืองแก่ประชาชนที่ควรเขียนเป็นหมวดเฉพาะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และส่วนต้องการเห็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนำการสำรวจความเห็นของประชาชนที่จัดทำโดยสพม. นั้นไปพิจารณาเพื่อปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 (2) ที่ระบุให้การยกร่างรัฐธรรมนูญมีกรอบทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสม กับสภาพสังคมของไทย

ดังนั้นการทำการปกครองที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยจำเป็นต้องรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย ไม่ใช่ฟังแต่ความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีสมาชิกรวมกันประมาณ 500 คนเท่านั้น ซึ่งหากไม่รับฟังความเห็นประชาชนที่สะท้อนความต้องการแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าต่อให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ไม่สามารถลบคำครหาที่ว่า รัฐธรรมนูญกำมะลอ หรือรัฐธรรมนูญฉบบับของปลอมได้ ดังนั้นจึงขอให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนำไปพิจารณา อย่าเขียนรัฐธรรมนูญบนฐานความมีอคติ หรือนึกไปเองด้วยความคิดที่คับแคบของตนเองเท่านั้น