'FolkCharm Craft' พลังหญิงเพื่อผู้หญิง

'FolkCharm Craft' พลังหญิงเพื่อผู้หญิง

หญิงร่างเล็ก ใช้สองมือเล็กๆของตัวเอง ปลุกปั้นกิจการเพื่อสังคม “FolkCharm Craft”เพื่อปลุกพลังหญิง สร้างรายได้ที่เป็นธรรม และมีอาชีพที่ยั่งยืน

ผ้าพันคอลายสวย ทำมาจากธรรมชาติ ไม่ผ่านกระบวนการเคมี เป็นมิตรกับทั้งคนและโลก เรียงรายอยู่ในเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก “FolkCharm Crafts” (โฟล์คชาร์ม คราฟท์) ตรึงสายตาขาช้อปทั่วโลกให้กลับมาสนใจในผลิตภัณฑ์ชุมชนของคนไทย

นี่คือเรื่องเล่าจากคนตัวเล็ก “ลูกแก้ว-ภัสสร์วี ตาปสนันทน์” ผู้ก่อตั้ง FolkCharm Crafts กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ด้านผลิตภัณฑ์ชุมชน จากโครงการ BANPU Champions for Change ปี 4

ลูกแก้ว จบปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการวางแผนพัฒนาชนบท ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) สาขาที่เธอบอกว่า คนเรียนน้อย แต่ก็อยู่ในความสนใจของเธอเอามากๆ

หนึ่งผลงานที่เป็นประสบการณ์ระหว่างเรียน คือ ทำวิจัยเรื่อง พลังของสตรีที่ทำงานที่บ้าน โดยใช้กรณีศึกษาเป็นกลุ่มโอทอป ซึ่งการได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสสตรีที่ส่วนใหญ่มีอาชีพทอผ้าไหม เลยได้เห็นโลกความจริงว่า ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ชาวบ้านทำมาอย่างยากลำบากและใช้เวลานานไปกับการทำนั้น ถึงเวลาขาย กลับได้ราคาแค่น้อยนิด ไม่เป็นธรรม ขณะที่ถ้าเพียงลองเพิ่มมูลค่าขึ้น เช่น ปรับสี เปลี่ยนดีไซน์สักหน่อย ก็จะตั้งราคาขายให้สูงขึ้นได้ ที่สำคัญไม่ใช่แค่ทำตลาดในไทย แต่คือสามารถขายได้ทั่วโลก

เรื่องราวนั้นฝังอยู่ในความคิด แต่เธอไม่ได้เริ่มทำทันทีหลังเรียนจบ ลูกแก้ว มาทำงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ประมาณ 3 ปี มีโอกาสทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้น คือ การได้รู้จักกับ “สุนิตย์ เชรษฐา” ผู้อำนวยการสถาบันเช้นจ์ฟิวชัน และได้ร่วมทำเรื่องกิจการเพื่อสังคมด้วยกันมา ทำให้เธอได้รู้จักโลกใบที่ชื่อ Social Enterprise มากขึ้น จนวันหนึ่งได้ทราบข่าวโครงการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมของบ้านปู บวกแรงยุแรงเชียร์จากคนรอบข้าง เลยได้ลองส่งตัวเองเข้าประกวดกับเขาบ้าง

แต่แผนธุรกิจเพื่อสังคมที่เริ่มจากคนๆ เดียว มีแต่ไฟและใจ แต่ไม่มีแม้กระทั่ง “ทีม” ซ้ำคนทำก็ยังไม่มีแบคกราวน์ทางด้านธุรกิจเลยด้วยซ้ำ ผลงานจึงยังไม่เข้าตากรรมการ ไม่สามารถผ่านเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายได้

ทว่าโครงการเล็กๆ ในวันนั้น กลับส่องประกายและมีความหวังมากขึ้นในวันนี้

“ตอนนี้กำลังจะไปเปิดตลาดที่ญี่ปุ่น”

ลูกแก้ว อัพเดทสถานการณ์ให้เราฟัง หลังมีโอกาสเป็นตัวแทนผู้หญิงไทย ร่วมเวทีสัมมนา “กิจการเพื่อสังคมของสตรีแห่งเอเชีย” The Asian Women Social Entrepreneurs 2014 ที่จัดโดย มูลนิธินิปปอน (The Nippon Foundation) และสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี (Association for the Promotion of the Status of Women: APSW) และมีโอกาสเดินทางไปบรรยายที่ประเทศญี่ปุ่น

หนึ่งผลพลอยได้ก็คือ เรื่องเล่าของ FolkCharm ถูกเผยแพร่ออกไปในสื่อญี่ปุ่น อย่างหนังสือพิมพ์ “Sankei Express” กิจการเล็กๆ เลยได้เป็นที่รู้จักของชาวเมืองปลาดิบมากขึ้น 

ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การได้หอบหิ้วผลิตภัณฑ์ของตัวเองไปจัดแสดงที่ญี่ปุ่น เลยได้รับฟังเสียงสะท้อนจากคนที่นั่น เธอว่า แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสังคม แต่ถ้าคนรู้สึกว่าไม่ได้มีคุณค่าอะไร เขาก็ไม่สนใจ

เช่นเดียวกับ ผ้าทอ ถ้าเพียงแค่ลายสวย แต่ไม่เป็นออร์แกนิก ไม่ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม คนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ให้คุณค่า

ต่างกับผ้าออร์แกนิกผืนเดียวที่เธอนำไปด้วย พาดสวยๆ ประดับตัว ไม่ได้หวังไปขาย ทว่าคนกลับจะแย่งกันซื้อ

นั่นคือที่มาของการคิดปรับคอนเซ็ปต์ใหม่ จากแค่ลงไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้รับกับความต้องการของตลาด แล้วหาตลาดให้ชาวบ้าน เพื่อช่วยเหลือชาวชุมชนให้มีรายได้ที่เป็นธรรม และอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ เลยมาเพิ่มอีกโจทย์ใหญ่ คือ การทำผ้าออร์แกนิก ที่ไม่ใช้สารเคมีตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่ปลูกจนเป็นผืนผ้า

จากที่เคยทำกับ 3 ชุมชน ก็มุ่งไปที่ 2 ชุมชนหลัก คือ บ้านนาโพธิ์ และ บ้านกกบก จังหวัดเลย ซึ่งเป็นชุมชนที่ทำผ้าออร์แกนิก เดิมอยู่แล้ว

จากเดิมที่วางแผนจะทำตลาดออนไลน์เพียงอย่างเดียว โดยขายผ่านเว็บไซต์ เฟชบุ๊ก และ Etsy.com เว็บไซต์ขายผลิตภัณฑ์แฮนด์เมด แต่พอได้เห็นโอกาสจากตลาดญี่ปุ่นที่สดใส ก็เลยเริ่มวิจัยตลาดเมืองปลาดิบ และพยายามหาคอนเนคชั่นที่นั่น เพื่อที่จะไปเปิดตลาดโดยตรง ไม่ต้องผ่านออนไลน์

แต่ที่ดูจะยังชัดเจน ตั้งแต่วันเริ่มต้น จนถึงวันนี้ คือ จุดยืนที่จะให้ผ้าทุกผืนมีเรื่องเล่าของชุมชน นั่นคือเหตุผลที่ทุกชิ้นจะไม่ระบุแค่แบรนด์ FolkCharm แต่จะเป็น “FolkCharm by…” เช่น “FolkCharm by Baan Kokkabok” เพื่อบอกเล่าว่า เป็นแบรนด์ FolkCharm ที่ผลิตมาจากบ้านกกบก เป็นต้น

ทำกิจการเพื่อสังคมไม่ง่าย และมีเรื่องท้าทายอยู่ตลอด ขณะที่ทรัพยากรก็มีน้อยนิด จำกัดไปหมดทั้งกำลังคนและกำลังเงิน ส่วนคนทำก็ยังบอกเราอีกว่า “อารมณ์ศิลปิน” อยู่พอตัว คือ ไม่ได้มุ่งแต่จะขาย จะทำตลาด ไม่เคยบีบบังคับชาวบ้านให้ทำตามสั่ง ได้ผ้ามาก็ทำตลาดเท่าที่ได้ ‘ก็ไม่ได้อยากรวย’ เธอว่าอย่างนั้น

“ข้อเสียมากๆ คือเป็นคนที่ไม่มีหัวธุรกิจเลย แผนจึงยังไม่ชัดพอ” เธอยอมรับ

แล้วทำไมถึงยังพยายามเปิดตลาดอยู่ และดูจะไม่ท้อง่ายๆ เสียด้วย คำตอบที่ผู้หญิงแกร่งบอกกับเราก็แค่..

“มองว่า ถ้าไม่มีคนทำในตอนนี้ ก็จะไม่มีคนทำต่อแล้ว เพราะถ้าไปดูป้าๆ ที่ทอผ้า ส่วนใหญ่อายุเกิน 50 ปี ไปแล้วทั้งนั้น ขณะที่ลูกหลานก็ไม่เอา ไปทำงานโรงงานกันหมด เห็นชัดเลยว่า ถ้าไม่มีคนเริ่มทำ ก็คงไม่มีใครมาทำต่อ เพราะเขาไม่เห็นคุณค่า”

แน่นอนว่า เธอซาบซึ้งในคุณค่าที่ว่านี้ และคงทนดูไม่ได้ถ้าคุณค่าเหล่านี้ ต้องล่มสลายไปต่อหน้า เลยขอเลือกที่จะสู้ และปรับตัว เท่าที่กำลังจะพอมี ทำเรื่องดีๆ ต่อไปเรื่อยๆ โดยหวังว่า ถ้าทำสำเร็จ สามารถหาตลาดที่มั่นคงให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนได้จริง เด็กรุ่นหลังที่เคยเมินเฉยก็อาจหันกลับมาเห็นคุณค่าและสานต่อภูมิปัญญาเหล่านี้มากขึ้นเอง

“มองในระยะยาว ถ้าสมมติเราสามารถหาตลาดที่ยั่งยืนได้ มีออเดอร์เกิดขึ้นจริง แล้วทุกคนเห็นว่า ได้เงินเพิ่มขึ้น และเขาอยู่ได้จริง ก็คงมีคนสนใจมาทำมากขึ้นเอง นั่นคือเหตุผลที่คงต้องทำต่อ แม้รู้ว่าไม่ง่าย” เธอบอก

FolkCharm คือ กิจการเพื่อสังคม ที่กำลังรับมือกับความท้าทายสำคัญ คือ การตอบโจทย์การอยู่รอดด้วยโมเดลธุรกิจ หนึ่งเรื่องหินของเด็กที่มาในสายสังคม ซึ่งลูกแก้วก็บอกว่า ยังต่อสู้กับความท้าทายนั้นและพยายามหาโมเดลที่จะนำพา FolkCharm ไปสู่การมีรายได้ที่ยั่งยืนให้ได้

ก็เมื่อเป้าหมายที่ยึดมั่นไว้ ตั้งแต่วันเริ่มต้น ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ ที่จะทำให้กลุ่มผู้หญิงในชุมชน ทั้งสตรี แม่บ้าน และผู้สูงอายุ ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ไม่ว่าจะในกระบวนการไหน ต้องร่วมเป็นผู้มีส่วนได้กับผลของงานที่ทำขึ้นด้วย

“ผ้าทุกหนึ่งผืนที่ขายได้ ทุกคนต้องได้ส่วนแบ่ง ได้เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นหน้าที่ของทุกคนคือ ต้องรับผิดชอบที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุดออกมาให้ได้” เธอบอก

อีกหนึ่งบทพิสูจน์ของคนทำงานเพื่อสังคม ที่ไม่ต้องตัวใหญ่ ไม่ต้องมีทรัพยากรหรือทุนมากมาย แต่สามารถใช้พลังเล็กๆ ของตัวเอง เปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้