ปรับเงื่อนไขลบชื่ออาชญากร ลดอุปสรรค 'คนมีประวัติ' กลับตัว

ปรับเงื่อนไขลบชื่ออาชญากร ลดอุปสรรค 'คนมีประวัติ' กลับตัว

(รายงาน) ปรับเงื่อนไขลบชื่ออาชญากร ลดอุปสรรค“คนมีประวัติ”กลับตัว

หากเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ว่าเป็น “เหรียญสองด้าน” หรือ “ดาบสองคม” ซึ่งมีทั้งด้านดีและไม่ดี หรือให้ทั้งคุณและโทษแล้ว ระบบ “ทะเบียนประวัติอาชญากร” ก็คงจัดอยู่ในนิยามความหมายของสำนวนดังกล่าวด้วย


ในด้านที่เป็น “คุณ” ทะเบียนประวัติอาชญากรถูกนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรม ในการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรม รักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้ “มิจฉาชีพ” สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์ของสุจริตชนในสังคม


ทว่าอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายกรณีก่อให้เกิด “โทษ” ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับคนที่พ้น “มลทิน” ไปแล้วแต่กลับถูกตราหน้าว่าเป็น “อาชญากร” เพราะยังมีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนประวัติผู้กระทำผิดอาญา
ประเด็นผลกระทบดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ หัวข้อสัมมนา “คนดี มีประวัติ(?) ไม่มีงานทำ" ที่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะในการปรับปรุงระบบทะเบียนประวัติอาชญากรให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อผู้พ้นผิดอาญาไปแล้ว


พ.ต.อ.ณรงค์ยศ อุณหบัณฑิต ผู้กำกับการ ฝ่ายทะเบียนประวัติ 3 กองทะเบียนประวัติอาชญากร อธิบายขั้นตอนการทำทะเบียนประวัติว่า ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย ผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้รับการอบรม และศพ ที่จะมีโอกาสผ่านขั้นตอนนี้ทำ ทะเบียนประวัติ


โดยวิธีการเก็บข้อมูลเจ้าพนักงานซึ่งอาจจะเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ศาลจับมือประทับพิมพ์ลายนิ้วมือลงบนแบบฟอร์มที่เตรียมไว้ พร้อมด้วยรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ นามสกุล อายุ ส่วนสูง ตำหนิรูปพรรณสัณฐาน รวมถึงลักษณะคดีความผิด เพียงเท่านี้ก็ได้ขึ้นชื่อว่า เป็น “บุคคลที่มีประวัติติดตัว” แล้ว
เขาบอกว่า จากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งเข้าสู่ระบบของกองทะเบียนประวัติอาชญากร และศูนย์พิสูจน์หลักฐาน หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด


ขณะที่กระบวนการในศาล หรือผู้พิพากษา ก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบการพิจารณาเพิ่มโทษหรือลดโทษให้เหมาะกับความผิดที่บุคคคลนั้นได้กระทำไป ซึ่งเป็นไปตามหลักการของการลงโทษ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ผู้กระทำความผิดสำนึกผิดในสิ่งที่ได้กระทำลงไป และพร้อมที่จะกลับตัวเป็นคนดี

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงและในทางปฏิบัติ เมื่อ “คนมีประวัติ” กลับตัวกลับใจพร้อมเริ่มต้นใหม่แล้ว ขั้นตอน ระบบ ระเบียบในการ “ลบชื่อ” ออกจากสารบบทะเบียนประวัติที่ยุ่งยากซับซ้อนนั้นเป็นอุปสรรคทำให้กระบวนการล่าช้า ซึ่งความล่าช้าที่เกิดขึ้นกระทบ “สิทธิ” ต่อเจ้าตัวผู้ที่มีชื่อปรากฏทั้งทางตรงและทางอ้อม
นายสาโรช นักเบศก์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 6 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยกตัวอย่างชายคนหนึ่ง ถูกศาลยุติธรรมพิพากษาในข้อหาไม่รับหมายเรียกเข้ารับการเกณฑ์และบรรจุเป็นข้าราชการทหาร ซึ่งมีบทลงโทษตามความผิดคือ จำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


โดยศาลลงโทษชายรายนี้เป็นเงิน 150 บาท และผลจากการที่ชายคนนี้มีประวัติต้องหาคดีอาญา และมีประวัติการถูกลงโทษ ทำให้ชายคนนี้ไม่ได้รับพิจารณาเข้าทำงานในบริษัทต่างๆ ต่อมาจึงมีการยื่นคำร้องขอให้ลบทะเบียนประวัติอาชญากร


แม้ว่าตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดอุจฉกรรจ์ไม่ต้องมีประวัติติดตัว โดยกำหนดไว้ในระเบียบฯ ในการคัดแยกทะเบียนประวัติอาชญากรออกจากฐานระบบ กับผู้ต้องหาคดีลหุโทษ หรือคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าลหุโทษ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดให้มีโทษปรับสถานเดียว


แต่เนื่องจากความผิด ไม่รับหมายเรียก ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ราชการทหาร มีระวางโทษ ทั้งจำ ทั้งปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ใช่ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว แม้ศาลได้มีคำพิพากษาปรับเป็นเงิน 150 บาทก็ตาม ก็ไม่ทำให้ความผิดไม่รับหมายเรียกตามมาตราดังกล่าว กลายเป็นความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว


ผลจากคำพิพากษารับโทษปรับ 150 บาทที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถคัดแยกออกจากฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร มิหนำซ้ำส่งผลกระทบทำให้ชายคนนี้ถูกปฏิเสธเข้ารับทำงานในเวลาต่อมา!


จากกรณีที่เกิดขึ้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีการมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับไปพิจารณา


ต่อมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อนุมัติในหลักการให้นำข้อมูลกรณีความผิดทุกประเภทที่ศาลมีคำพิพากษาสูงสุดให้ลงโทษปรับสถานเดียวและกรณีตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวออกจากสารบบข้อมูลประวัติอาชญากรเพิ่มเติมจาก 12 กรณีที่มีอยู่เดิม (ดูเพิ่มเติมที่...)


หลังจากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็นำข้อมูลกรณีเกี่ยวกับมาตราพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา มาตรา 86 และมาตรา 90 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว และกรณีที่ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ตกไป ตามมาตรา 91 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ออกจากสารบบข้อมูลประวัติอาชญากร เพิ่มเติมอีก


ทั้งนี้ ยังมีประเด็นคำจำกัดความคำว่า “อาชญากร” นั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเปลี่ยนถ้อยคำเพื่อให้เกิดความเหมาะสมซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ระหว่างประมวลเรื่องเพื่อเสนอต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้งกระนั้นก็ตามวิทยากรในวงเสวนาต่างเห็นพ้องว่าควรมีีบทบัญญัติกฎหมายโดยตรงและชัดเจน จากที่เคยเป็นเพียงระเบียบปฏิบัติของหน่วยงาน


นอกจากนี้การที่มี ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีสาระสำคัญคือ คดีอาญาที่เกิดขึ้น ทั้งที่ยอมความได้และยอมความไม่ได้ แต่เมื่อคู่กรณีประสงค์จะไกล่เกลี่ย ด้วยความสมัครใจให้ส่งผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และผู้ที่คู่กรณีไว้วางใจฝ่ายละ 1 คนเข้าสู่กระบวนการ โดยไม่มีทนายความ นั้นก็อาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหาทางอ้อมให้กับการถอนประวัติอาชญากรออกจากสารบบได้ด้วยเช่นกัน

.............................

เปิด16เงื่อนไข ลบตราบาปคดี


การคัดแยกประเภททะเบียนประวัติอาชญากรออกจากสารบบ หรือฐานข้อมูลประวัติอาชญากร เพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ของบุคคลลและประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของตำรวจนั้น


หลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี พ.ศ.2547 จำนวน 12 ข้อ ประกอบด้วย
1.มีหลักฐานชัดเจนว่าเสียชีวิต 2.ผู้เสียหายถอนคำร้อง ถอนฟ้อง หรือยอมความกัน 3.คดีที่อัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง 4.ศาลสั่งยกฟ้องหรือไม่ประทับรับฟ้อง


5.คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง 6.อัยการถอนฟ้องในชั้นศาล 7.เมื่อมีกฎหมายออกมาภายหลังการกระทำความผิดยกเลิกความผิด 8.มีกฎหมายยกเว้น


9.มีคำพิพากษาของศาลให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ว่าบุคคลนั้นไม่ได้กระทำความผิด 10.เป็นคดีลหุโทษหรือคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าลหุโทษ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดให้มีโทษปรับสถานเดียว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการเปรียบเทียบปรับ หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษปรับสถานเดียว


11.คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด โดยศาลไม่ได้มีคำพิพากษาจำคุก หรือมีการเปลี่ยนแปลงโทษเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน เช่น เด็กหรือเยาวชนที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับหรือมีคำสั่งให้ว่ากล่าวตักเตือน แล้วปล่อยตัวไปโดยไม่กำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติ เป็นต้น


12.คดีตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่ออนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ปล่อยตัวผู้ผ่านการฟื้นฟูสมรรถผู้ติดยาเสพติดแล้ว


ล่าสุดได้มีการพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขอีก 4 ข้อ ได้แก่ 13.ความผิดทุกประเภทที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษปรับ 14.คดีที่ศาลสั่งให้ผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ฟื้นฟู บำบัดรักษา หรือทำทัณฑ์บนไว้


15.ผู้กระทำผิดเป็นเด็กและเยาวชนที่ศาลสั่งให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา และ16.คดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลความผิด