ไมโครซอฟท์ ‘เซอร์เฟซ3’ ขายไทยลอตแรกเอเชีย

ไมโครซอฟท์ ‘เซอร์เฟซ3’ ขายไทยลอตแรกเอเชีย

ไมโครซอฟท์ ‘เซอร์เฟซ3’ ขายไทยลอตแรกเอเชีย ราคาเริ่มต้น 17,400 บาท รุ่น 64 กิกะไบต์ ขายผ่านไอทีซิตี้-บานาน่า-เพาเวอร์บาย

ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประกาศเปิดตัวแทบเล็ตรุ่นล่าสุด “เซอร์เฟซ3” จอ 10.8 นิ้ว เจาะกลุ่มมิดเทียร์หรือผู้ใช้งานทั่วไป ราคาต่ำกว่า 2 หมื่นบาท (เริ่มต้น 499 ดอลลาร์) ต่างจากรุ่นก่อนหน้าหรือเซอร์เฟซ โปร 3 ที่เปิดตัวด้วยราคาเริ่มต้นระดับ 2 หมื่นปลายๆ พร้อมระบบปฏิบัติการวินโดว์ส 8.1 เวอร์ชั่นเต็มที่ทำงานได้เทียบเท่ากับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือโน้ตบุ๊ค จากเดิมที่แทบเล็ตในกลุ่มมิดเทียร์ของไมโครซอฟท์จะทำงานด้วยระบบวินโดว์ส อาร์ทีที่ตัดคุณสมบัติบางอย่างของวินโดว์สออกเพื่อให้ทำราคาเครื่องได้ต่ำลง

ตามรายงานข่าวจากเว็บไซต์ซีเน็ตระบุว่า ไมโครซอฟท์จะวางจำหน่ายเซอร์เฟซ 3 อย่างเป็นทางการทั่วโลกในวันที่ 5 พ.ค.นี้ในสหรัฐ พร้อมกับบางประเทศในเอเชียแปซิฟิกซึ่งครั้งนี้มีรายชื่อประเทศไทยติดอยู่ด้วย (ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ฮ่องกง, เกาหลีใต้, ไทย, มาเลเซีย และนิวซีแลนด์) แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะมีรุ่นที่รองรับการใช้แอลทีอีด้วยหรือไม่แม้ประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จะมีเครือข่าย 4จีใช้งานอยู่แล้ว

ด้านไมโครซอฟท์ ไทยเผยว่า กำหนดวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ซึ่งสามารถสั่งจองเครื่องได้ที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่าย ไอทีซิตี้ บานาน่า และเพาเวอร์บาย ได้ตั้งแต่วันนี้ โดยสำหรับรุ่นความจุ 64 กิกะไบต์ ราคาเริ่มต้น 17,400 บาท ส่วนรุ่น 128 กิกะไบต์ เริ่มต้นที่ 21,400 บาท ยังไม่รวมสไตลัส และคีย์บอร์ด

ขณะที่กำหนดการเริ่มพรีออเดอร์กลุ่มแรกจะเริ่มวันนี้ (2 เม.ย.) เช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย, สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์สามารถสั่งซื้อได้ผ่านไมโครซอฟท์ ออนไลน์ สโตร์ ส่วนประเทศอื่นๆ จะจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีกในประเทศ ทั้งนี้เซอร์เฟซ 3 จะวางตลาดในจีนและญี่ปุ่นด้วย แต่ไม่ปรากฎรายชื่อในข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัท ซึ่งไมโครซอฟท์ระบุว่าจะเผยในภายหลัง

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางรายยังมองว่าไมโครซอฟท์วางโพสิชั่นตลาดของเซอร์เฟซยังไม่ชัดเจนระหว่างโปรเฟสชั่นนอลและคอนซูเมอร์ หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นหรือไม่สำหรับการใช้เพื่อความบันเทิงหรือการทำงาน เพราะแม้บริษัทจะระบุว่าเซอร์เฟซ 3 เป็นแทบเล็ตคอนซูเมอร์ที่ใช้งานได้ทั้งเวิร์คแอนด์เพลย์ แต่ก็คงมีผู้ใช้งานทั่วไปไม่มากนักที่จะลงทุนเพิ่มอีก 180 ดอลลาร์ (เกือบ 6,000 บาท) เพื่อซื้ออุปกรณ์เพิ่มเพื่อทำให้ใช้งานได้เทียบกับพีซีมาตรฐาน ซึ่งขณะนี้นับว่าเป็นจุดวิกฤติสำหรับตลาดแทบเล็ตที่เริ่มมีแววไม่ค่อยดีในอนาคต

ทั้งนี้นับตั้งแต่แอ๊ปเปิ้ลเปิดตัวไอแพดรุ่นแรกเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาและเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ตลาดแทบเล็ตเฟื่องฟูก่อนจะเริ่มชะลอตัวในปัจจุบัน เพราะการใช้งานเครื่องที่ยาวนานขึ้นจากการอัพเกรดซอฟต์แวร์ และพฤติกรรมของผู้ใช้ที่จำนวนมากเลือกจะส่งต่อแทบเล็ตเครื่องเก่าเมื่อไม่ใช้งานแล้วให้เพื่อนหรือญาติ 

ขณะที่กระแสของตลาดมือถือแบบ “แฟบเล็ต” ที่ก้ำกึ่งระหว่างสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การซื้อแทบเล็ตใหม่ลดลง โดยรายงานจากบริษัทการ์ทเนอร์พบว่า ยอดจำหน่ายแทบเล็ตทั่วโลกอาจทรุดตัวลง 8% ในปีนี้จากที่เคยเติบโตเป็นเท่าตัวมาโดยตลอด

นางสาวมิคาโกะ คิตากาวา นักวิเคราะห์จากการ์ทเนอร์ มองว่า ตลาดแทบเล็ตกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตจะเป็นจอขนาด 12-13 นิ้วหรือมีฟังก์ชั่นแบบทูอินวัน เช่น เซอร์เฟซ โปร 3 เพราะคุณสมบัติของแทบเล็ตส่วนใหญ่ทำอะไรไม่ได้มากหากไม่มีคีย์บอร์ด ซึ่งดูจากความสำเร็จของตลาดเซอร์เฟซ โปร 3 ที่ทำให้ธุรกิจแทบเล็ตของไมโครซอฟท์ในปีที่ผ่านมาแตะระดับพันล้านดอลลาร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะสามารถนำไปใช้เป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ของสำนักงานได้ และยังถูกยกเป็นคู่แข่งสำคัญของตลาดแมคบุ๊ค แอร์ ของค่ายแอ๊ปเปิ้ล

แต่ตลาดแทบเล็ตโดยภาพรวม ซึ่งผู้ใช้งานทั่วไปสามารถหาซื้อเครื่องราคาถูกหรือไม่กี่พันบาทสำหรับใช้เพื่อความบันเทิง และก็ยังมีแทบเล็ตแอนดรอยด์ที่สเปคดีราคาถูกวางขายในตลาดอยู่เป็นจำนวนมาก และยังเป็นระบบปฏิบัติการที่มีผู้ใช้งานแพร่หลาย

ตัวเลขจากไอดีซีระบุว่า ราว 2 ใน 3 เครื่องของแทบเล็ตทั่วโลกจะเป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ขณะที่วินโดว์ส โฟน ของไมโครซอฟท์มีสัดส่วนในตลาดยังต่ำกว่า 3% ของสมาร์ทโฟนทั่วโลก และมีส่วนแบ่งในตลาดแทบเล็ตทั้งหมดเพียง 11% แม้ไมโครซอฟท์จะอนุญาตให้ผู้ผลิตใช้ไลเซ่นวินโดว์สฟรีสำหรับการผลิตเครื่องที่จอขนาดเล็กกว่า 9 นิ้วแล้วก็ตาม