วาทะ'สุขุมพันธุ์'สะเทือนประชาธิปัตย์

 วาทะ'สุขุมพันธุ์'สะเทือนประชาธิปัตย์

"เราเป็นเมืองน้ำ เป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำท่วมต้องไปอยู่บนดอย.."

หนึ่งในถ้อยคำแถลงข่าวสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯเมื่อ 25 มีนาคม จากม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ถูกส่งเป็นประโยคที่สังคมวิพากษ์อย่าง"เสียงดัง" ถึงบทบาทผู้นำเมืองหลวง ภายหลังโซเชี่ยลมีเดียได้กระหน่ำแชร์ภาพน้ำท่วมในจุดต่างๆ จากพายุฤดูร้อนที่พัดถล่มเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 24 มีนาคม พร้อมช่วยกันส่งสัญญาณตามหา"ผู้ว่าฯกทม." 

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 หน่วยงานภาครัฐได้สรุปบทเรียนและวางระบบป้องน้ำท่วม คนกรุงเทพฯจึง"คาดหวัง" ไว้สูงว่า กทม.จะมีมาตราการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก แต่เมื่อเกิดภาพ"น้ำท่วมฉับพลัน" เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 24 มีนาคม บวกกับถ้อยแถลงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในวันต่อมา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนกรุงส่วนหนึ่งจะ"ผิดหวัง" กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะเสียงสะท้อนในสังคมออนไลน์ได้แสดงความผิดหวังต่อคำแถลงข่าว เพราะไม่ใครเชื่อว่า บางประโยคที่มาจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะเป็นประโยคที่ออกมาจาก"ตัวแทน" ที่ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งใจเลือกมากับมือ เพราะกว่า 1,256,349 เสียงที่คนกรุงเทพฯทุ่มให้ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 29 มีนาคม 2556 ด้วยคะแนนถล่มทลายครั้งประวัติศาสตร์ กลายเป็น"สัญญาประชาคม"ที่ผูกมัดการทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.สมัยที่ 2 ในทันที

เหตุการณ์น้ำท่วมขังในวันนั้น ถึงแม้บางพื้นที่จะใช้เวลาระบายน้ำ 1-3 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับอดีตต้องใช้เวลาระบายเกิน 5 ชั่วโมงขึ้นไปแต่ระยะเวลาการระบายน้ำ รวมถึงมาตราการรับมือยัง"ไม่เพียงพอ"  กับความต้องการของสังคม 

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า "วันนี้กำลังให้ตรวจสอบไปที่กทม.ด้วย ทำไมปัญหาการระบายน้ำมันอยู่ที่ตรงไหน แล้วมาตามแก้กัน นี่ไงคือปัญหาของประเทศไทย ทำงานแบบเชิงรับกันตลอด มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น วันนี้คสช.มองไปในวันข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรให้น้ำไม่ท่วม ไปบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ไม่ใช่ทำแก้ปัญหาแบบนี้ไม่เอา" 

ขณะที่"hate speech"ที่ถูกแชร์กันอย่างรวดเร็วในโลกโซเชี่ยลมีเดียโดยเฉพาะในเฟซบุ๊ค"ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" มีชาวสังคมออนไลน์ได้เข้ามาสะท้อนการทำหน้าที่ ถึงผู้ว่าฯกทม.โดยตรง อาทิ“ท่านผู้ว่าช่วยประชาสัมพันธ์เยอะๆ หน่อยได้มั้ยคะ ว่าทำอะไรไปบ้าง ทุกวันนี้คนกทม.แทบไม่รู้เลยว่าท่านทำอะไรบ้าง ถือว่าเป็นคำแนะนำนะคะ” / “เมื่อวาน น้ำท่วม และท่วมเกินปกติ มันไม่ใช่หละนะครับท่าน เข้าใจว่าระบายไม่ทัน แต่ท่านลองวางระบบการจัดการใหม่ดูครับ ลองดูครับ” / “พูดโดยไม่ไตร่ตรอง มันพาไปสู่ความล้มเหลว ขอแนะนำให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกทม.พิจารณาตัวเอง และช่วยเตือนให้ท่านผู้ว่า ออกมาขอโทษ ประชาชนเถอะค่ะ”

ยิ่งไปกว่านั้น"ดร.เสรี วงษ์มณฑา" นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ได้โพสต์เฟซบุ๊ควิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา โดยเน้นไปที่"ทฤษฎีการสื่อสารในภาวะวิกฤต" ซึ่งดร.เสรีมองการแถลงข่าวครั้งนี้ยัง"สอบไม่ผ่าน" โดยเฉพาะหัวข้อApology ระบุตอนหนึ่งว่า “การสื่อสารในภาวะวิกฤตนั้นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขอารมณ์ของสาธารณชน อย่าพูดจาอะไรที่จะเป็นการโหมไฟความโกรธของสาธารณชน และเปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงกันข้ามโจมตี การแก้ไขวิกฤตเราต้องการแนวร่วม ดังนั้นต้องไม่พูดอะไรที่สร้างศัตรู”

ขณะเดียวกันก็ไม่ผิดคาดที่คำพูดของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะไป“เข้าทาง” พรรคเพื่อไทย เมื่อนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ และรองหัวหน้าพรรค และอดีตประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรค จะเปิดศึกโจมตีคำแถลงของผู้ว่าฯกทม.อย่างรุนแรงเช่นกัน

นอกจากแรงกดดัน“ภายนอก” ที่ถาโถมใส่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไม่ยั้ง ยังมีแรงกดดัน“ภายใน” จากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะในวันนั้นสมาชิกพรรคหลายคนได้วิจารณ์คำพูดม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ค่อนข้างมากเพราะเสียงวิจารณ์ต่อผู้ว่าฯกทม.เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนไม่ได้สะเทือนต่อม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เพียงอย่างเดียว แต่จะสะเทือนไปถึงประชาธิปัตย์ในการสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งต่อไป คำแถลงของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในอดีต ย่อมมีผลต่อคะแนนเสียงประชาธิปัตย์ในอนาคต

ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายได้ขีดเส้นให้ผู้ว่าฯกทม.คนเดียวกัน จะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แต่ยัง"งานหิน" หากประชาธิปัตย์ต้องการชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในสมัยหน้า เพราะตั้งแต่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. เมื่อ 29 สิงหาคม 2547 จนถึงวาระการทำงานม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในสมัยที่ 2 ถือว่าประชาธิปัตย์ได้กุมอำนาจการบริหารกทม.มาแล้วนานกว่า 10 ปี หากในวันข้างหน้ามีฝ่ายใดนำวาทกรรม"บนดอย" มาโจมตีในช่วงปฏิทินหาเสียง ก็มีโอกาสที่ฐานเสียงประชาธิปัตย์อาจถูกล้มได้เช่นกัน

  

ทั้งหมดจึงเป็นความกดดันต่อทุกย่างก้าวของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่มีอนาคตประชาธิปัตย์เป็น“เดิมพัน”