แบงก์จับตาลูกหนี้ระดับกลาง

แบงก์จับตาลูกหนี้ระดับกลาง

แบงก์ชี้หนี้ครัวเรือนเริ่มกดดันกลุ่มลูกค้าระดับกลางมากขึ้น เร่งคุมคุณภาพหนี้ต่อเนื่อง ส่งผลยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง

นางศศิธร พงศธร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้ลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่ายอดอนุมัติสินเชื่อลดลงจาก 50-60% เป็น 35-40% ทั้งที่ลูกค้าของธนาคารเป็นผู้ที่มีฐานะดี โดยเป็นลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป แต่กลับพบว่ามีหนี้เต็ม หรือมีระดับหนี้ต่อรายได้สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดที่ 80% ซึ่งต่างจากธนาคารอื่นที่กำหนดอัตราส่วนดังกล่าวที่ 40% เนื่องจากธนาคารคำนวณรายได้อัตราก้าวหน้ารวมโบนัสและรายได้อื่น ๆ ไว้ด้วย แต่ก็ยังพบว่าลูกค้ามีหนี้สูงอยู่ดี

"ก่อนหน้านี้ลูกค้าส่วนใหญ่กู้ซื้อบ้านเดี่ยว กู้ซื้อบ้านประมาณ 5 ล้านบาท แต่เมื่อเราขยายฐานมาลูกค้าคอนโดทำให้ค่าเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 3 ล้านบาท แต่เมื่อคอนโดเริ่มสร้างเสร็จแล้วโอนในปีนี้ เรากลับพบว่าลูกค้าระดับกลางๆ กลุ่มนี้มีหนี้เต็ม ขณะที่ลูกค้าบ้างรายที่กู้ซื้อคอนโดที่เราปล่อยกู้โครงการ เมื่อเราอนุมัติวงเงินให้กลับไม่ใช้สินเชื่อกับเราเพราะมีทางเลือกเยอะ ทำให้ธนาคารเบนเข็มไปทำตลาดรีไฟแนนซ์แทนเพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ต้องการรีไฟแนนซ์เมื่อกู้แบงก์เดิมครบ 3 ปี"นางศศิธร กล่าว

ด้านนายยุทธพงษ์ ศรีวงศ์จรรยา ผู้บริหารสายงานธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้กลยุทธ์สินเชื่อรายย่อยของธนาคารในปีนี้จะเน้นคุมคุณภาพสินเชื่อเช่นเดียวกับธนาคารแห่งอื่น โดยเอ็นพีแอลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมาทำให้ธนาคารออกโปรแกรมช่วยลูกหนี้ที่มีภาระหนี้สูงสามารถปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารได้ ทำให้ลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหาสามารถผ่านวิกฤติมาได้ โดยในขณะนี้ธนาคารมีเอ็นพีแอลของสินเชื่อรายย่อยประมาณ 2.15%

"ลูกหนี้ที่จ่ายช้ามาตลอด 5-6 เดือนเริ่มกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ แต่ที่พบคือลูกค้าที่เคยพยายามกัดฟันจ่ายหนี้ได้ตรงตามกำหนดเริ่มมีสัญญาณว่าผ่อนไม่ไหวและมาขอยืดหนี้กับธนาคารหลังจากที่เห็นว่าธนาคารมีโปรแกรมปรับโครงสร้างหนี้ได้ และยังมีลูกค้าอีกกลุ่มที่พยายามปิดหนี้ให้ได้ก่อนกำหนด เช่น 48 เดือนก็ขอยืดเป็น 60 เดือน" นายยุทธพงษ์ กล่าว

ในส่วนของสินเชื่อบ้านนั้นธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นมากนัก เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่สร้างผลตอบแทนไม่มากนัก แต่จะใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม ด้วยการร่วมมือกับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) โดยธนาคารจะเป็นผู้พิจารณาสินเชื่อให้กับลูกค้าหลังจากนั้นจะโอนให้กับบตท.ไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่ต้องการรีไฟแนนซ์มาจากธนาคารแห่งอื่น เนื่องจาก บตท.มีอัตราดอกเบี้ยคงที่นานถึง 10 ปี

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น ประกอบกับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมาทำให้ธนาคารระมัดระวังการให้สินเชื่อ จึงจะเห็นได้ว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีสินเชื่อรายย่อยของธนาคารยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสามารถมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 ล้านบาทจากเป้าหมาย 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่สินเชื่อบุคคลเติบโตเพียง 300-400 ล้านบาทต่อเดือน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 700-900 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในภาวะที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว

"สินเชื่อบ้านเราต่ำกว่าเป้าก็จริงแต่จะเห็นได้ว่าแรงเก็งกำไรหายไป เช่นเดียวกับสินเชื่อบุคคลที่เราก็ไม่ได้ต้องการเร่งการเติบโตในภาวะแบบนี้"

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเริ่มขยับมาอยู่ที่กลุ่มคนรายได้ปานกลางขึ้นไป จากเดิมที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่จะระมัดระวังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น โดยจะเห็นได้ว่าสินเชื่อเพื่อการบริโภค ปรับขึ้นเร็วกว่าสินเชื่อธุรกิจ สะท้อนว่ามีการผลักดันจากการใช้จ่ายเป็นหลัก โดยคาดการณ์ว่า อัตราหนี้ครัวเรือนในปีนี้จะอยู่ที่ 88-89% ของจีดีพี สูงขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 85% ของจีดีพี

"ธนาคารมีการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว และไปจับกลุ่มเป้าหมายที่มีการใช้จ่ายจริงและกลุ่มมีกำลังซื้อ จึงเห็นสินเชื่อบ้าน และบัตรเครดิตยังเพิ่มขึ้นอยู่ โดยหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจะมีผลต่อการใช้จ่าย การบริโภคในปีต่อๆ ไป ที่จะเติบโตได้ช้าลงเรื่อยๆ เพราะการใช้จ่ายถูกกดดันจากหนี้ ที่ขยับไปสู่กลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน" นายเชาว์ กล่าว