สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 23-27 มีนาคม 2558

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 23-27 มีนาคม 2558

“เงินบาททยอยอ่อนค่าปลายสัปดาห์ ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยลดลงต่อเนื่องหลุดระดับ 1,500 จุด ท่ามกลางปัจจัยลบรอบด้าน”

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

- เงินบาทแข็งค่า แต่ลดช่วงบวกลงช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทเคลื่อนไหวใกล้ระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 32.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จากสัญญาณจังหวะเวลาในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ยังไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยลดช่วงบวก และกลับไปอ่อนค่าลงในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนี PMI ภาคบริการ หนุนให้มีแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้น

- สำหรับในวันศุกร์ (27 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 32.57 เทียบกับระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 มี.ค.)


สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 มี.ค.-3 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยประเด็นที่ตลาดรอจับตา คือ ข้อสรุปการพิจารณาแผนปฎิรูปของกรีซโดยกลุ่มเจ้าหนี้ยูโรโซนเพื่อปลดล็อกให้กรีซสามารถเริ่มเบิกเงินจากมาตรการช่วยเหลือได้ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ข้อมูลตลาดแรงงาน (การจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงาน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย ยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนก.พ. ดัชนีราคาบ้านเดือนม.ค. นอกจากนี้ ตลาดในประเทศอาจจับตาข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมี.ค. และตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนก.พ. ด้วยเช่นกัน


สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

- ดัชนี SET ปรับลดลงต่อเนื่อง จนหลุดระดับ 1,500 จุด ท่ามกลางปัจจัยลบรอบด้าน โดยดัชนีปิดที่ระดับ 1,495.22 จุด ลดลง 2.27% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 6.96% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 36,719.61 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 664.44 จุด ลดลง 7.62% จากสัปดาห์ก่อน

- ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ข้อมูลภาคการส่งออกเดือน ก.พ. 58 ออกมาหดตัวมากกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ความวุ่นวายในเยเมนที่เลวร้ายลงด้วย ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 มี.ค.- 3 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวต้านที่ 1,510 และ 1,524 จุด ตามลำดับ ขณะที่แนวรับอยู่ที่ 1,474 และ 1,482 จุด โดยปัจจัยภายที่ต้องติดตาม ได้แก่ การนำเสนอร่างแผนปฏิรูปของกรีซต่อเจ้าหนี้เพื่อแลกกับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ ประเด็นเกี่ยวกับการพิจารณายกเลิกกฏอัยการศึกของทางการไทย รวมทั้ง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ เครื่องชี้ภาคการผลิต (Markit PMI และ ISM Manufacturing) และการจ้างงานนอกภาคการเกษตร อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาการรายงานข้อมูล PMI ของประเทศในยูโรโซน จีน และญี่ปุ่นด้วย