นายกฯชี้มีแพคเกจเพื่อดันส่งออก

นายกฯชี้มีแพคเกจเพื่อดันส่งออก

"ประยุทธ์"แจงศก.ไทยตกน้อยกว่าหลายชาติ ชี้มีแพคเกจเพื่อดันส่งออก และส่งเสริมความเข้มแข็งเอสเอ็มอี แจงเยือนบรูไนขายข้าวเพิ่มอีกปีละ5หมื่นตัน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังการประชุมครม.สัญจร ที่สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ในเรื่องเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจอาเซียนและเศรษฐกิจในประเทศ ที่มันเดินไปด้วย หลายประเทศเศรษฐกิจตกหมด อนเดียก็ตก อเมริกาก็ตก เราตกแต่ตกไม่มากเท่าประเทศอื่น และที่ตกของเราก็คือธุรกิจสีเทาที่ตก เพราะเศรษฐกิจชั้นล่างมันหายไป

ถามว่าประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศเล็กๆบางประเทศทำไมเขาถึงเจริญเติบโตมากกว่าเรา เขาถึงก้าวหน้ามากกว่าเรา วันนี้เขาบอกว่าขึ้น 6.6% เพราะเศรษฐกิจเขาเล็กกว่าเรา พอลดก็ลดในปริมาณที่เล็กกว่าเรา ซึ่งตัวเลขแบบนี้เป็นแบบนี้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงเทียบกันไม่ได้ แต่เศรษฐกิจของไทยมีขนาดใหญ่ ระบบใหญ่แต่ไม่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยง ต้องทำให้เป็นแพคเกจให้ได้ ซึ่งกำลังทำอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่าแพคเกจเศรษฐกิจที่ว่าคืออะไร พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการสร้างความต่อเนื่องเชื่อมโยง เพราะเศรษฐกิจส่งออก 70% เป็นรายได้ของประเทศ เมื่อการค้าการลงทุนที่พึ่งการส่งออกลดลงด้วยสถานการณ์โลก สถานการณ์การเมืองก็แล้วแต่มีความขัดแย้ง การส่งออกน้อยลง มูลค่าสินค้าน้อยลง ทำให้รายได้รัฐลดน้อยลง

ดังนั้นต้องส่งเสริมความเข้มแข็งด้วยธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี และต้องทำให้คนกลับเข้ามาในระบบให้ได้ เพราะมีเอสเอ็มอีไม่ได้จดทะเบียนอีกมากกว่า 2ล้านธุรกิจ มีการจดทะเบียน6แสนกว่ารายเท่านั้น แล้วก็มาโวยวายว่าไม่รู้ว่าจะเข้าถึงแหล่งทุนที่ไหนก็เพราะไม่มาจดทะเบียนใครจะช่วยได้

แจงเยือนบรูไนขายข้าวเพิ่มอีกปีละ5หมื่นตัน

ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ที่หัวหินว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.แจ้งให้ครม.รับทราบผลการเดินทางเยือนประเทศบรูไน ระหว่างวันที่ 25-26มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนให้กำลังใจประเทศไทยและคนไทยทุกคนในการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ และหารือถึงการค้าการลงทุน โดยบรูไนตกลงจะทำการซื้อข้าวจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 5 หมื่นตันต่อปี

นอกจากนั้นทางบรูไนตอบรับพิจารณาข้อเสนอของไทยในการซื้อขายสินค้าปศุสัตว์จากไทย และนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ประเทศบรูไนพิจารณาประเทศไทยเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆในการเข้าไปทำประมงในเขตน่านน้ำบรูไนที่กำหนดเขต 200ไมล์ทะเลให้ทำประมงได้

นายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ประชุมร่วมกับผู้แทนบรูไนอย่างโดยเร็จอาจทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันไว้ก่อนเพื่อเตรียมการล่วงหน้า ก่อนที่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไรจะเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี