ทางออกลิขสิทธิ์ดนตรี

ทางออกลิขสิทธิ์ดนตรี

ทำอย่างไร จึงจะเป็นการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่นักแต่งเพลงอย่างแท้จริง มิใช่จ่ายเพื่อแลกค่าคุ้มครอง

 

 

          ในรอบ 2 ทศวรรษก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมดนตรีเคยเผชิญหน้ากับปัญหาการปราบปรามเทปผีซีดีเถื่อน ซึ่งเป็นการตรวจจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่จับต้องได้ (physical product) อย่างสื่อบันทึกเสียงจำพวกเทปและซีดีเป็นสำคัญ

             แต่ในระยะหลายปีหลัง เมื่อโมเดลทางธุรกิจเปลี่ยนไปจากเดิม อันสืบเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่กำลังมาแรงและเป็นที่พูดถึงตลอดเวลา คือเรื่องของการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ประกอบการทั้งหลาย ที่ต้องใช้งานดนตรีกรรม ไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อมก็ตาม

            ผู้ประกอบการที่ว่านี้ กินความหมายกว้างกว่า “ร้านคาราโอเกะ” อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่หมายถึง “ใคร” หรือ “หน่วยงานใด” ก็ได้ ที่ใช้ “เพลง” เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าและบริการ ตั้งแต่คลื่นวิทยุโทรทัศน์จนถึงร้านขายข้าวแกง  ตั้งแต่คนจัดคอนเสิร์ตและอีเวนท์ทั้งหลาย จนถึงร้านกาแฟ  ฯลฯ

            เหนืออื่นใด เมื่อการละเมิดลิขสิทธิ์ กฎหมายกำหนดโทษอาญาเอาไว้ แต่แนวทางและวิธีการปฏิบัติ ยังไม่พัฒนาให้ดีพอที่จะสร้างความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ จึงกลายมาเป็น “ช่องทาง” ของการแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใช้งานดนตรีกรรมอยู่ทุกหัวระแหงในเวลานี้

           

ทุ่งสังหารวงการเพลง

            ผู้สันทัดกรณีอย่าง วรพจน์ นิ่มวิจิตร ให้คำนิยามว่า สถานการณ์ของลิขสิทธิ์เพลงในเวลานี้ว่า ไม่แตกต่างจาก “ทุ่งสังหาร” (The Killing Field) สักเท่าใด เพราะเดินๆ ไป มีแต่ “กับระเบิด” (Mine) เต็มไปหมด วันดีคืนดีอาจจะไปเหยียบโดนกับระเบิดเข้า

            อดีตผู้บริหารในหลายค่ายเพลง ไม่ว่าจะเป็น วอร์เนอร์ มิวสิค , เบเกอรี มิวสิค , อาร์เอส และยังเคยบุกเบิกงานลิขสิทธิ์ให้แก่ วอร์เนอร์ ชาเปล มาก่อนหน้านี้ ขยายความต่อว่า

            “เอาเข้าจริงๆ ปัญหานี้เกิดขึ้นใกล้ๆ กันกับเทปผีซีดีเถื่อน เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มาจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เมื่อปี พ.ศ. 2537 แต่ก็ใช้เวลานานเป็น 10 ปี กว่าเริ่มมีการใช้สิทธิเผยแพร่อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อปี 2548 ที่มีการจัดตั้งองค์กรจัดเก็บ โดยก่อนหน้านั้น กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวผลักดันในเรื่องนี้ จะมีแต่บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี กับทาง Phonorights  เป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงจากต่างประเทศเท่านั้น”

            โดยภาพรวมของสังคมไทย แม้จะไม่มีการรวบรวมตัวเลขการใช้เพลงอย่างเป็นทางการ แต่คาดการณ์ได้ว่า มีสัดส่วนการใช้เพลงไทยมากกว่าเพลงสากล ซึ่งสำหรับเพลงไทยแล้ว ลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่ ตกอยู่กับค่ายเพลงอย่างแกรมมี่และอาร์เอส ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้ มีนโยบายในเรื่องลิขสิทธิ์เพลงไม่เหมือนกัน

            ในส่วนของแกรมมี่ เป็นที่ทราบกันดีว่า มีนโยบายชัดเจนตรงที่ลิขสิทธิ์เพลงทุกเพลงของแกรมมี่ เป็นของคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม (ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย) โดยมอบหมายให้ทางแกรมมี่ดูแล ขณะที่อาร์เอสนั้น ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงทุกเพลง ดังนั้น ลิขสิทธิ์เพลงบางส่วนจึงอยู่ที่ตัวนักแต่งเพลงเอง เพราะแต่เดิม อาร์เอส ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ลิขสิทธิ์เพลงในแง่ของทรัพย์สินทางปัญญานัก

            “สมัยนั้น จะมีก็แต่ทีมของ อ.วิรัช อยู่ถาวร ที่เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงพยายามชักชวนครูเพลงให้มาร่วมกัน ตั้งระบบดูแลนักแต่งเพลง ในรูปของบริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี ประเทศไทย ซึ่งสาเหตุที่จดในรูปบริษัท เพราะกฎหมายไทยไม่เปิดช่องให้จดเป็นนิติบุคคลในรูปแบบอื่นๆ จึงทำให้หลายๆ คนยังไม่มั่นใจนัก กับฐานะการเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ทั้งที่เครือข่ายที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ อย่าง ซีแซค เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรก็ตาม”

            “เดิมทีนั้น ไม่มีใครสนใจจะจัดเก็บลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง จนมาถึงปี 2548-2549 ที่เริ่มมีการจดทะเบียนบริษัทจัดเก็บ มีการรณรงค์ให้มีการจัดเก็บอย่างเป็นรูปธรรม เพียงแต่รัฐปล่อยให้เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ สามารถดำเนินการจัดเก็บกันเอง ไม่ได้เกิดเป็นองค์กรกลาง นี่แหละคือ ‘ระเบิดเวลา’ ที่พัฒนาจนกลายมาเป็นทุ่งสังหารในเวลานี้” วรพจน์ กล่าว

 

ลงเอยที่ ‘ศาลเตี้ย’

          ดูเผินๆ การที่เจ้าของเพลง หรือเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงมอบหมายให้บริษัทจัดเก็บ แล้วแต่ละบริษัทต่างดำเนินการจัดเก็บเอง ก็ดูมีเหตุมีผลดี แต่ในความเป็นจริงนั้น ได้สร้างปัญหามากมาย ทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัทจัดเก็บ ไม่ก่อให้เกิด economy of scale

            ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการที่มีความจำเป็นต้องใช้เพลง ต้องประสบปัญหาความยุ่งยากในการจ่ายลิขสิทธิ์ บ้างมีรายจ่ายซ้ำซ้อน ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะไม่มีอำนาจต่อรอง และหลายครั้งต้องเสี่ยงต่อการละเมิดโดยไม่ตั้งใจ

            “อย่าลืมว่า เราอาจจะมีนักแต่งเพลงเป็นหลักหมื่นหลักแสน แต่หากมองในแง่ผู้ใช้งาน ผู้ประกอบการใหญ่น้อยทั้งหลาย น่าจะมีจำนวนมากกว่านั้นหลายเท่า เป็นหลักล้าน หรือเผลอๆ เป็นหลักสิบล้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านข้าวแกง โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ที่ไหนเปิดเพลง ไม่ว่าจะใช้ source ใด ทั้งซีดี หรือจากทีวีวิทยุ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์จับเก็บได้หมด”

            “อัตราการจัดเก็บจะเป็นเท่าไหร่นั้น ต้องมาดูกันที่ความสำคัญของเพลงในธุรกิจนั้นๆ  ถ้าคุณทำร้านคาราโอเกะ ความสำคัญของเพลงย่อมมีมากกว่าคุณทำร้านขายข้าวแกง เพราะทำร้านขายข้าวแกง คุณอาจจะไม่เปิดเพลง แต่คนก็ยังมากินข้าว เพราะอาหารคุณอร่อย”

            มองในแง่นี้ จะเห็นได้ว่า มีคนใช้งานดนตรีกรรมจำนวนมหาศาล มากกว่าจำนวนเจ้าของสิทธิ์ ทว่า กฎหมายและระบบที่เป็นอยู่ กลับไม่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการเท่าที่ควร ทั้งที่ในต่างประเทศ ร้อยละ 95-98 เปอร์เซนต์ มักจะมีองค์กรกลางเพียงองค์กรเดียว หากจะมี 2 องค์กร มักจะแบ่งเป็นองค์กรที่ดูแลด้านงานดนตรีกรรม (นักแต่งเพลง) ส่วนหนึ่ง กับสิ่งบันทึกเสียง  อีกส่วนหนึ่ง

            “การมีบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์มากมาย คือจุดเริ่มต้นของปัญหาในทุกวันนี้ โดยคอนเซ็พท์ ของเรื่องนี้ คือการให้ความสำคัญแก่การสร้างสรรค์ ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่รัฐต้องดูในแง่การบังคับใช้กฎหมายด้วย ว่าเป็นไปได้เพียงใด รัฐควรมีมาตรการที่ดีกว่านี้  ควรมีการกำกับดูแล ดูอัตราการจัดเก็บว่าเหมาะสมหรือไม่ ทุกวันนี้ รัฐสักแต่บังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่ได้ดูปัญหาที่ตามมา”

            ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานไตรภาคี ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ใช้เพลง จัดตั้งขึ้นในชื่อ Copyright Royalty Board ซึ่งจะพิจารณาในเรื่องความเป็นธรรมของอัตราการจัดเก็บ และคำนึงถึงการดำรงอยู่ของธุรกิจนั้นๆ ด้วย

            “ตอนนี้ มันเลยไม่ต่างจากทุ่งสังหาร มีกับระเบิดเต็มไปหมด ผมเข้าใจว่า ทั่วทั้งประเทศ มีคดีจับกันทุกๆ อาทิตย์ และส่วนใหญ่ลงเอยด้วยศาลเตี้ย คุณปล่อยให้เจ้าหน้าที่ หรือใครก็ไม่รู้มาเก็บเงินจากผู้ประกอบการ ซึ่งน่าจะตกอยู่รายละ 30,000-50,000 บาท กับเคสกี่พันกี่หมื่นเคสในรอบหลายปีที่ผ่านมา คิดดูว่ารวมเป็นเงินเท่าไหร่ แล้วขอถามว่า มันช่วยทำให้ชีวิตนักแต่งเพลงดีขึ้นมั้ย”

            “ผู้ประกอบการที่จ่ายค่าใช้งานดนตรีกรรมเหล่านี้ ก็หวั่นๆ ว่าตัวเองจะละเมิด เพราะจ่ายได้ไม่หมดทุกเจ้า และไม่รู้ว่าจะควบคุมการใช้เพลงของตัวเองได้อย่างไร ทุกวันนี้ เขาจ่ายเงิน แต่เขาก็ยังไม่สุขสบายใจ ทุกวันศุกร์วันเสาร์ยังต้องคอยระแวดระวัง ว่าจะมี ‘นักบิน’ มาตามอ้างสิทธิเก็บเงินมั้ย ชีวิตเหมือนอยู่ในแดนทุ่งสังหาร อย่างไรอย่างนั้น”

            นักบิน ในที่นี้ หมายถึงตัวแทนที่ได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัทเจ้าของสิทธิ์ไปดำเนินการให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ละเมิดสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่ในที่นี้ คือ เหยื่อ อันเกิดจากช่องว่างของกฎหมาย และมักจะลงเอยด้วยการตกลงกันแบบ “ศาลเตี้ย” ในที่สุด

 

ทางออกอยู่ที่จุดเริ่มต้น

            ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมดนตรีให้น้ำหนักกับการจัดเก็บลิขสิทธิ์เป็นเรื่องรอง  โดยเฉพาะการจัดเก็บลิขสิทธิ์ในคอนเสิร์ตต่างๆ ซึ่งเพิ่งมาเน้นหนักการหารายได้นี้ในภายหลัง หลังจากรายได้ยอดขายซีดีหายไป เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเพลงเปลี่ยนไป ดังนั้น เม็ดเงินที่เหลือในวงการ จึงมาจากการแสดงสด หรือ Live Show ถือเป็นโอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมเพลงที่จะมาตามเก็บ โดยเฉพาะรายที่ถือครองลิขสิทธิ์เพลงเป็นจำนวนมาก ย่อมมีอำนาจการต่อรองและจัดเก็บได้มาก

            แต่นั่นยังไม่ใช่ข้อยุติที่น่าพอใจนักสำหรับทุกฝ่าย เพราะที่ผ่านมา ไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการคิดค่าธรรมเนียม หรือ tariff ที่ชัดเจน ถือเป็นการจัดเก็บแบบไทยๆ  ทั้งที่ในตลาดต่างประเทศ จะดูความสำคัญของเพลงต่อธุรกิจ จะมีการอ้างอิงตัวเลขที่เหมาะสมและเป็นธรรม

            เช่น การจัดเก็บในคอนเสิร์ต 1 ครั้ง โดยเฉลี่ยเก็บที่ 3 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการขายบัตร (ไม่ว่าจะใช้กี่เพลงก็ตาม แล้วนำมาเฉลี่ยแบ่งไปตามเจ้าของลิขสิทธิ์) แต่ในเมืองไทย นิยมตกลงค่าลิขสิทธิ์เป็นตัวเลขกลมๆ เช่น เพลงละ 3 หมื่นบาท 5 หมื่นบาท หรือ 1 แสนบาท เหมือนการอนุญาตให้ใช้เพลงในสิ่งบันทึกเสียง เมื่อเป็นเช่นนี้ วงการเพลง ก็เหมือนทุ่งสังหารอีกครั้ง เพราะใครที่จะขึ้นโปรเจ็คท์ใหม่ กับคอนเสิร์ตแบบใด มักไม่สามารถขึ้นโปรเจ็คท์ได้ เพราะติดอยู่กับค่าลิขสิทธิ์ที่ทำลายความเป็นไปได้ของโปรเจ็คท์นั้นๆ ลง

            “สมมติ ในคอนเสิร์ตหนึ่งๆ  มีเพลงที่จะเล่น 20 เพลง คิดเพลงละ 5 หมื่นบาท รวมแล้วเท่ากับ 1 ล้านบาท ค่าตัวศิลปินที่มาแสดงจริงๆ ยังไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ เราลองมาดูว่าต้องขายตั๋วได้เท่าไหร่ ถึงจะจ่ายเงินขนาดนี้ได้ หากคิดสัดส่วนค่าใช้จ่ายเพลงอยู่ที่ 3 เปอร์เซนต์ ยอดเงินขายตั๋วต้องขายได้ถึง 33.34 ล้านบาท แล้วจะมีคอนเสิร์ตไหนบ้างที่ขายตั๋วได้ขนาดนั้น ในเมืองไทย ก็อาจจะมีเฟสติวัลอย่าง มันใหญ่มาก ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้ใช้แค่ 20 เพลง น่าจะใช้เป็นร้อยๆ เพลงจากหลายๆ วงรวมกัน นี่คือสาเหตุที่ผู้ประกอบการไม่สามารถขึ้นงานได้ พอแค่คิด ก็โดนกับระเบิดตาย และผมเชื่อว่าตายไปเยอะแล้วด้วย”

            ทางออกของเรื่องนี้ วรพจน์ มองว่า ต้องกับไปจุดตั้งต้นอีกครั้ง ว่าจะให้ต่างคนต่างจัดเก็บต่อไป หรือจะลดเหลือองค์กรเดียว โดยลักษณะอุดมคติ ต้องเป็นองค์กรกลางที่ไม่แสวงหากำไร และต้องมีความโปร่งใส  เหมือนอย่างที่ดำเนินการในต่างประเทศ โดยที่องค์กรต่างๆ เหล่านี้ ต้องออกมารายงานถึงภาพรวมของการจัดเก็บ ปีหนึ่งๆ เก็บได้กี่มากน้อย และมีค่าใช้จ่ายคิดเป็นกี่เปอร์เซนต์ เพราะโดยหลักการสากลของกฎหมาย ต้องมุ่งให้เกิดความยุติธรรม และความสงบสุข ไม่ใช่สร้างปัญหา หรือก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างที่เป็นอยู่

            “ตอนนี้ ผู้ประกอบการไม่มีความสุข เพราะไม่ได้รู้สึกเลยว่าตัวเองจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนนักแต่งเพลง แต่มีความรู้สึกไม่ต่างจากการจ่ายค่าคุ้มครองเท่าใดนัก”

            ในทางเดียวกัน เมื่อมีองค์กรจัดเก็บมากมายหลายองค์กร ย่อมสร้างความไม่สะดวกให้แก่นักแต่งเพลงใหม่ๆ ที่กำลังจะเติบโตตามมา เพราะพวกเขาไม่รู้จะเลือกไปองค์กรไหนดี ขณะที่ค่ายเพลงอินดี้บางแห่ง ก็ยังไม่ได้ริเริ่มการจัดเก็บลิขสิทธิ์ หรือมอบหมายให้องค์กรจัดเก็บแห่งใดทำหน้าที่ดูแล เท่ากับนักแต่งเพลงเหล่านี้พลอยไม่ได้รับการดูแลไปโดยปริยาย

            เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เข้ามาจดทะเบียนกับกรมทะเบียนการค้า หรือกรมพัฒนาธุรกิจ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะประสานและให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะไม่ว่าธุรกิจไหนๆ ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับเพลง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และเมื่อมีการใช้เพลง ก็ต้องอยู่ในเกณฑ์จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์เช่นเดียวกัน

          เรื่องนี้ต้องรอดูฝีมืออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาคนใหม่ ว่าจะเปลี่ยนแปลงทุ่งสังหารแห่งนี้ ให้กลายเป็นทุ่งดอกไม้-ได้หรือไม่.