รีดภาษีกวดวิชา-ค่าเรียนพุ่ง กระทบตรง'ผู้มีรายได้น้อย'

รีดภาษีกวดวิชา-ค่าเรียนพุ่ง กระทบตรง'ผู้มีรายได้น้อย'

(รายงาน) รีดภาษีกวดวิชา-ค่าเรียนพุ่ง กระทบตรง “ผู้มีรายได้น้อย”

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ “ยกเลิกการยกเว้นภาษีอากรจากกิจการโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา” นั้นมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


จริงๆ แล้วประเด็นนี้เป็นเรื่องเก่าที่ผ่านการถกเถียงมาแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งอาจเป็นเพราะการหยิบยกเหตุผลของการเก็บ “ภาษี” ว่าจะช่วยลด “เหลื่อมล้ำ” ทางการศึกษา ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้ดูดี แต่สุดท้ายแล้วจะเป็นการผลักภาระให้ผู้ปกครองต้องมาแบกรับค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้น


อนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา บอกว่า คำว่า “ไม่เห็นด้วย” ตอนนี้ดูจะไม่เหมาะที่จะมากล่าวถึงกันอีก ในเมื่อเหตุการณ์ล่วงเลยมาถึงขั้นมีมติจาก ครม. ประกาศเป็นกฎหมายให้จัดเก็บภาษีกับโรงเรียนกวดวิชาตามปกติ แต่รัฐบาลไม่ได้ใส่รายละเอียดให้ชัดเจนว่า ตามปกติจะเก็บอย่างไร อัตราเท่าไร หรือแตกต่างกันแค่ไหน ถือเป็นการเปิดช่องให้สรรพากรเก็บภาษีได้อย่างกว้างขวาง เพราะไม่ได้จำกัดความหมายในการตีความให้ชัดเจน


“ตอนนี้ต้องหันไปถามอธิบดีกรมสรรพากรแล้วว่า ให้เก็บภาษีกับโรงเรียนกวดวิชาตามปกตินั้น คำว่า ตามปกติ หมายความว่าอย่างไร เพราะโรงเรียนกวดวิชาก็มีหลายระดับเช่นกัน”


เขาอธิบายว่า การเก็บภาษีในประเทศเราหลักๆ มีอยู่ 2 ประเภท คือ “นิติบุคคล” กับ “บุคคลธรรมดา” ขณะที่โรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทยส่วนใหญ่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ประมาณ 90% และโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่มีกำไรไม่เกิน 20% ของรายได้ หากมีการจัดเก็บภาษีจะถือเป็นการเพิ่มภาระ “ต้นทุน” ให้กับ “โรงเรียนกวดวิชาขนาดเล็ก” ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากได้ล้มหายตายจากกันไป


ที่สำคัญสถานะของโรงเรียนกวดวิชาแต่ละแห่งจะตีความกันอย่างไร ระดับอัตราการจัดเก็บจะแตกต่างหรือไม่
"หากจัดเก็บในฐานะนิติบุคคล ที่อัตรา 20% กำไรของโรงเรียนจะเหลือประมาณ 5% เท่านั้น โรงเรียนขนาดเล็กที่มีหลายแห่งจะลำบาก และหากมีภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ปกครองก็ต้องรับภาระภาษีดังกล่าว"


ทั้งนี้ อนุสรณ์ ยืนยันว่า ไม่เคยเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาการจัดเก็บภาษี ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้านี้ควรจะมีการนั่งพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเสียก่อน ตลอดจนความเห็นจากเด็กนักเรียนและผู้ปกครองที่ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ทุกอย่างไม่เคยเกิดขึ้น กระทั่งมีการประกาศบังคับกฎหมายในที่สุด


“ผมทราบว่าสมาคมครูและผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชาในต่างจังหวัดเคยรวมตัวกันมายื่นข้อเรียกร้องที่กระทรวงศึกษาธิการกันมาแล้ว อย่างน้อย 2 ครั้งในรอบเดือนที่ผ่านมา”


นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา เห็นว่า สาเหตุที่มีการเรียกเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาก็เพราะรัฐบาลต้องการให้เด็กทุกพื้นที่ศึกษาหาความรู้จากระบบการศึกษาที่รัฐบาลดูแลซึ่งจะทำให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน จึงใช้มาตรการภาษีเพื่อกำจัดโรงเรียนกวดวิชา แต่จริงๆ แล้วเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด


“รัฐบาลไม่ได้มองที่คุณภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนของโรงเรียนแต่ละแห่ง หรือกำกับดูแลการสอนของครูผู้สอนให้มีคุณภาพมาตรฐานเท่าเทียมกัน ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนไขว่คว้าหาคุณภาพการศึกษาจากโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้”


อนุสรณ์ ยังเห็นว่า ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเรียนกวดวิชาตามโรงเรียนเอกชนต่างๆ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีฐานะดีกันทุกคน หลายครอบครัวพอจะมีรายได้ แต่ต้องดิ้นรน ยอมเพิ่มรายจ่ายส่วนนี้เพื่อแลกกับอนาคตของบุตรหลาน แต่เมื่อมีการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาระนี้ต้องตกอยู่กับผู้ปกครองแน่นอน
สอดคล้องกับ กรณ์ จาติกวานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ภาระภาษีจะตกอยู่กับผู้ปกครองแน่นอน แต่เฉพาะลูกหลานผู้มีรายได้น้อย จะมีความเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น แต่ที่มีความแน่นอนก็คือ โรงเรียนกวดวิชายังคงอยู่คู่กับเด็กไทย เพราะระบบการศึกษายังเหมือนเดิม


อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า จำนวนโรงเรียนกวดวิชามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากผู้เล่นรายใหม่ๆ มีทางเลือกในการเข้าสู่ตลาดหลากหลายขึ้น


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การซื้อแฟรนไชส์โรงเรียนกวดวิชา ส่งผลให้โรงเรียนกวดวิชามีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น โดยโรงเรียนกวดวิชานิยมใช้กลยุทธ์การนำเสนอความคุ้มค่า รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับนักเรียนในระยะยาว เพื่อนำมาสู่การบอกต่อหรือชักชวนให้นักเรียนมาเรียนจากรุ่นสู่รุ่น


"ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาในปี 2558 ไว้ที่ประมาณ 8,189 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 6.8 จากปี 2557"


ส่วนประเด็นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับโรงเรียนกวดวิชา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มสูงขึ้นและมีแนวโน้มการปรับเพิ่มราคาหลักสูตรการเรียน แต่ผู้ปกครองและนักเรียนน่าจะยังคงให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชา จึงคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบให้จำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาลดลง


“การเห็นชอบการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีการดูแลราคาหลักสูตรการเรียนให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ปกครองและนักเรียน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่โรงเรียนกวดวิชาจะผลักภาระต้นทุนการประกอบธุรกิจดังกล่าว ผ่านการปรับเพิ่มราคาหลักสูตรการเรียน”


ทว่าแนวโน้มการปรับเพิ่มราคาหลักสูตรการเรียนของโรงเรียนกวดวิชา อาจไม่ส่งผลกระทบให้จำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาลดลง เนื่องจากผู้ปกครองและนักเรียนน่าจะยังคงให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชา ทั้งในกลุ่มนักเรียนที่เรียนอ่อน และในกลุ่มนักเรียนที่เรียนอยู่ในระดับดีแต่ต้องการเสริมสร้างความมั่นใจเพื่อยกระดับผลการเรียนในโรงเรียน และเตรียมความพร้อมสู่การสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย


กระนั้นก็ตามความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปี 2558 อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชาสำหรับผู้ปกครองบางกลุ่ม โดยปรับพฤติกรรมการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชาในรูปแบบต่างๆ เช่น การเลือกสมัครเรียนในรายวิชาที่จำเป็น และให้บุตรหลานอ่านทบทวนเองในบางรายวิชา เป็นต้น


ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็น และบทวิเคราะห์ที่นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากการเก็บภาษีกวดวิชาแล้วยังชี้ให้เห็นผลกระทบของภาษีที่มีต่อภาคครัวเรือนซึ่งผูกเกี่ยวกับปัญหาระบบการศึกษาไทยซึ่งทับซ้อนกันจนไม่อาจแก้ไขได้ด้วยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงลำพัง

...

เปิดช่อง“สาธารณประโยชน์” ช่วยกวดวิชาลดหย่อนภาษี


เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ว่า ที่ประชุมหารือกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับโรงเรียนกวดวิชา เพราะถือว่าเป็นการประกอบกิจการพาณิชย์เพื่อหากำไร


"ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ศธ. กระทรวงการคลัง และผู้แทนโรงเรียนกวดวิชา ได้หารือจนได้ข้อยุติร่วมกันว่าเห็นด้วยกับการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา แต่จะมีการลดหย่อนภาษีให้กับโรงเรียนกวดวิชาที่มีการดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์


ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่า โรงเรียนกวดวิชาจะขึ้นค่าเรียน ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับผู้ปกครองนั้น หากโรงเรียนกวดวิชาจะขอขึ้นค่าเรียนก็จะต้องทำเรื่องขออนุญาตมายัง สช. ก่อน ซึ่ง สช.ก็จะต้องพิจารณาว่าจะให้ปรับขึ้นหรือไม่อย่างไร


ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเก็บภาษีเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ จึงจะไม่เข้าไปพูดคุยหรือทำความเข้าใจอะไร ส่วนรายละเอียดหลักเกณฑ์ การขึ้นค่าเรียนจะต้องปรับให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ปกครองนั้น สช.มีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว แต่ก็ไม่แน่ใจว่าโรงเรียนกวดวิชาจะขึ้นค่าเรียนหรือไม่