โอมาน..สนามแดดเล่น

โอมาน..สนามแดดเล่น

กลางห้างสยามพารากอน ชายชาว 3 คนจากดินแดนอาหรับ ยืนถ่ายเซลฟี่คู่กับรถหรูราคาแพงระยับที่นำมาจัดโชว์กันคนละมุม....

"เชื่อมั้ย 3 คนนี้เป็นคนโอมาน ?"


เพื่อนหันขวับอย่างไม่เชื่อ ในใจคงคิดว่า “นี่แกคงจะมีญาณทิพย์สินะ?”


...ไม่ถึงกับต้องพึ่งญาณทิพย์หรอก แค่สูด "กลิ่น" บางอย่างก็แทบจะมั่นใจได้แล้ว!


กลิ่นที่ว่านั้นคือ "บาคูร์" เครื่องหอมที่ชาวโอมานนิยมใช้จุดสร้างบรรยากาศในบ้าน ให้ความหอมเสื้อผ้า และอีกนัยหนึ่งก็เพื่อช่วยขับไล่วิญญาณชั่วร้าย จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไปโดยปริยาย


และจะไม่คุ้นได้อย่างไร ในเมื่อตลอดการเดินทางเยือนโอมานไม่นานนี้ ฉันได้ทำคุ้นเคยมาตั้งแต่บนรถ ในโรงแรม ในมัสยิด ในตลาด กระทั่งตอนที่นั่งคู่กับคุณลุงชาวโอมานีขากลับกรุงเทพฯ ตลอด 6 ชั่วโมง หรือแม้แต่ตอนเปิดกระเป๋าเดินทางเมื่อกลับบ้าน กลิ่นนั้นยังลอยตลบมาด้วย


@@@@


ขณะที่กำลังจะก้าวลงจากบันไดเครื่องบิน เพื่อไปขึ้นรถเวียนสู่อาคารผู้โดยสาร... พรึ่บ!! เจ้าหน้าที่กางแขนกั้นไว้ พร้อมส่งสัญญาณให้รอสักครู่ เพราะรถคันแรกมีผู้โดยสารเต็มแน่นแล้ว


นั่นเป็นวิธีแรกที่ฉันได้สัมผัสกับ "แสงแดด" ของดินแดนแห่งทะเลทรายแบบซาบซึ้งอยู่นานกว่า 5 นาที ก่อนที่จะได้ขึ้นรถเข้าสู่อาคารผู้โดยสารขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ไกลออกไป มองเห็นโครงสร้างของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่ใหญ่โตกว่าและใกล้จะแล้วเสร็จ เป็นสัญญาณบอกว่าโอมานเป็นจุดหมายสดใหม่ที่เพิ่งลิ้มรสการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ไม่นาน


โอมาน เพิ่งเปิดประเทศเต็มตัวในราว 40 กว่าปีก่อน ด้วยแนวคิดของ สุลต่านกาบูส ผู้ปกครองประเทศหนึ่งเดียวภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เข้ามายึดอำนาจบิดาของตัวเองเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2513 พาประเทศมาสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจ พัฒนาระบบสุขภาพ การศึกษา และรัฐสวัสดิการให้ทันสมัยขึ้น


ขณะที่เพื่อนบ้านร่วมสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ หรือ GCC ชิงอวดความมั่งคั่งผ่านการลงทุนสิ่งปลูกสร้าง ทำสถิติใหม่ถล่มกันเป็นว่าเล่น แต่สำหรับโอมาน หากกวาดตามองไปสุดสายตา นอกจากภูเขา ท้องฟ้า และแดดอันจัดจ้าแล้ว มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาท้าชิงความโดดเด่น นั่นคือ ยอดมัสยิดแวววาวตั้งตระหง่านคู่กับหอคอยยอดแหลม


นั่นเป็นเพราะสุลต่านกาบูส มีแนวคิดในการพัฒนาในแบบของตัวเอง อยากให้ผู้คนรู้จักโอมานในฐานะประเทศที่มีธรรมชาติสมบูรณ์และหลากหลาย ไม่ซ้ำกับเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่โด่งดังเรื่องสิ่งปลูกสร้างฝีมือมนุษย์ (Man-made) จึงออกกฎหมายควบคุมอาคารขึ้นมา (รัฐบาลไม่อนุญาตให้สร้างตึกสูงเกิน 8 ชั้น แม้กรุงมัสกัตจะเป็นเมืองหลวงก็ไม่มีข้อยกเว้น)


การพัฒนาของโอมานจึงใกล้เคียงกับการเติบโตที่ยั่งยืนพอสมควร เพราะยุทธศาสตร์หลักมีเพียงการนำประเทศให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง โดยอยู่บนพื้นฐานของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาสและความเสมอภาคของชนทุกชั้น และต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ในด้านของการท่องเที่ยว โอมานจึงเป็นจุดหมายที่ชาวอาหรับด้วยกันหรือกระทั่งกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปรู้จักกันดีว่าร่ำรวยธรรมชาติ และเป็นเสมือน "ปอด" ของอ่าวเปอร์เซีย

@@@@


รถยนต์กลางเก่ากลางใหม่มาจอดรอที่โรงแรมในช่วงเย็นย่ำของวันแรก พร้อมกับ "ซาลิม" สารถีที่ดูแลการเดินทางตลอดเวลาที่เราอยู่ในกรุงมัสกัต
การได้มาพบกับ ซาลิม ถือเป็นการได้เรียนวิชาลัดในการรู้จักกับชาวโอมานีขนานแท้ เพราะคนขับรถ จัดเป็นอาชีพที่สงวนไว้ให้คนท้องถิ่นเท่านั้น ต่างจากงานบริการด้านอื่นๆ จะปล่อยให้ชาวต่างชาติครองเรียบ ส่วนใหญ่คือชาวอินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ที่รับหน้าที่ทั้งพนักงานโรงแรม ร้านอาหาร ทำความสะอาด ไปจนถึงปลูกต้นไม้ ขณะที่อุตสาหกรรมหลักอย่างประมงนั้น แรงงานจากบังคลาเทศกวาดตลาดราบคาบ


หลายครั้ง การปฏิบัติในแบบฉบับโอมานีขนานแท้ ก็ทำให้คนไทยอย่างเราอึ้ง และต้องเรียนรู้กันพักใหญ่ หากคุณเดินทางมาที่โอมานแล้วพบว่าคนขับรถทำหน้าที่ขับรถเพียงอย่างเดียว โดยไม่แตะต้องงานนอกหน้าที่เลย เช่น ยกกระเป๋าออกจากรถ ช่วยเป็นล่าม ก็ต้องทำใจว่านี่เป็นวิถีความเคยชินในแบบโอมานี แต่ในด้านอัธยาศัยไมตรีทั่วไปนั้น ก็ถือว่าพูดคุยสัพเพเหระกันได้ ไม่ได้น้ำใจแห้งผากเหมือนทะเลทรายไปเสียหมด


"อีกประมาณ 10 นาทีก็ถึง" ซาลิมตอบเป็นมั่นเป็นเหมาะ เมื่อเราถามถึงระยะทางไปถึง สวนสาธารณะอเมรัต พับลิค ปาร์ค ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมัสกัต เฟสติวัล


เราพยักหน้า และหันไปเพลิดเพลินกับวิวข้างทางที่เริ่มน่าตื่นตาตื่นใจขึ้น เมื่อเข้าสู่รอยต่อของกลางวันสู่กลางคืน เปลวแดดก็เริ่มเปลี่ยนเฉดส่งให้เมืองมีสีสันต่างไปโดยสิ้นเชิง และมันช่างดูเข้ากันกับอาคารบ้านเรือนที่สร้างด้วยศิลปะอิสลามที่ทาสีขาวโพลนเกือบทั้งหมด คล้ายเมืองแปลงร่างเป็นสนามอันกว้างใหญ่ที่รอให้แสงแดดเป็นจิตรกร วาดฝีมือแต่งแต้มภาพความงามที่ไม่ซ้ำกันเลยในทุกนาที


ภูเขาอัล ฮาจาร์ ที่เคยเทาทะมึนในช่วงเที่ยง ในเวลานี้กลับฉาบด้วยสีชมพูแดงระเรื่อและค่อยเข้มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ คล้ายได้เปิดเผยตัวตนอีกด้านที่อ่อนโยน แม้เนื้อแท้จะประกอบด้วยอิฐหินแข็งกระด้างก็ตาม


..กว่าจะมาเอะใจว่า เกิน 10 นาทีไปอีกหลายสิบนาทีแล้ว แต่เราก็ยังไม่ถึงจุดหมาย


อาการลังเลเส้นทางของซาลิมมาพร้อมการกลับรถกะทันหันแบบฉวัดเฉวียนราวกับถูกวิญญาณพอล วอล์คเกอร์เข้าสิง จนในที่สุดก็วนกลับมาถนนสายเก่า (ที่ผ่านมานานแล้ว) และวิ่งเข้าสู่เส้นทางชันตัดข้ามภูเขาซึ่งเป็นหนทางที่ถูกต้องได้เสียที


แม้จะหลงทางแต่ก็ไม่เสียเวลาเปล่า เพราะเหมือนได้นั่งชมวิวกรุงมัสกัตไปในตัว ยิ่งรถไต่ระดับความสูงของเทือกเขาอัลฮาจาร์ไปมากเท่าไหร่ วิวที่มองลงไปยิ่งทำให้ตกตะลึง แสงไฟระยิบระยับของกรุงมัสกัตแผ่กว้างเต็มที่ราบสุดสายตา ส่วนที่เส้นขอบฟ้าก็มีแสงเรื่อสีแดงที่ค่อยๆ เข้มมากขึ้นก่อนจะถูกสีดำของยามราตรีกลืนกลบ


วินาทีนั้นต้องยอมรับว่าท้องฟ้าของโอมาน ...สวยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาแห่งหนึ่งเลยทีเดียว


เมื่อเดินเข้าไปในโซน เฮอริเทจ วิลเลจ ในเทศกาลมัสกัต สิ่งแรกที่เข้ามาทายทักคือ กลิ่นของบาคูร์ ถ่านไม้จากสมุนไพรหลากหลายที่ถูกเผาไหม้ผ่านตะเกียงขนาดเล็ก รวมถึงกลิ่นจากกำยานที่พ่อค้าแม่ค้านำออกมาเรียงราย ทุกร้านก็ต่างจุดบาคูร์ของตัวเอง ทำเอาอากาศอบอวลไปด้วยกลิ่นเฉพาะตัวแบบโอมาน


โมห์ชิน โมฮัมเหม็ด อัล ชาอีค นายกเทศบาลกรุงมัสกัต เล่าถึงจุดมุ่งหมายการจัดงานเทศกาลมัสกัตที่ยาวนาน 1 เดือนในทุกช่วงต้นปี ก็เพื่อความบันเทิงของชาวเมืองเป็นหลัก โดยจะรวบรวมเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาจัดแสดงและออกร้านค้า อาทิ เครื่องหอม เครื่องเงิน ผ้าทอท้องถิ่น เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ เน้นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดย่อมมีพื้นที่ค้าขาย


รวมถึงการเชิญ 11 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงไทย) มาจัดพาวิลเลียนในโซนหมู่บ้านนานาชาติ ซึ่งเทศบาลกรุงมัสกัตทุ่มทุนเป็นสปอนเซอร์เชิญมาทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวโอมานได้เรียนรู้โลก และมีประสบการณ์ฉบับย่อ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปด้วยตัวเอง

@@@@


จุดหมายในวันถัดไป ทำให้เราเกือบลืมไปว่ายังอยู่ในเมืองแห่งทะเลทราย เพราะเมื่อมาโผล่ที่เมืองชายฝั่งอ่าวโอมานอย่าง มัทราห์ (Mutrah หรือจะสะกดว่า Matrah ก็ได้) น้ำทะเลสีฟ้าสดเหมือนหินเทอร์ควอยส์ก็ลบเลือนภาพความร้อนแล้งลงสิ้นเชิง


มัทราห์เป็นเขตเมืองเก่าของมัสกัต ในอดีตก่อนจะมีการขุดค้นพบน้ำมัน เคยเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญมาก่อน และมีท่าเรือสำคัญของประเทศตั้งอยู่บริเวณนี้ หากขับรถเส้นเลียบทะเลไปเรื่อยๆ ใกล้เคียงกัน ยังมี อัล อราม พระราชวังดั้งเดิมอายุกว่า 200 ปีของสุลต่านกาบูส รวมถึงกำแพงเมือง ป้อมปราการตระหง่านบนเชิงผา เป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการปกป้องข้าศึกในอดีต


เมื่อมาถึงย่านนี้ ไฮไลท์สำหรับนักท่องเที่ยว คือการขับรถเส้นเรียบทะเล (บนถนนที่สะอาดกริบด้วยฝีมือแรงงานชาวอินเดีย) หรือเดินทอดน่องชมวิวริมทะเลที่เป็นสีฟ้าสด ดูนกนางนวลในน้ำทะเลที่ยังคงใสแจ๋วจนเห็นก้อนหินด้านล่าง และเก็บภาพเรือสำราญขนาดใหญ่ 2 ลำที่เป็นสมบัติของสุลต่านกาบูส


แต่สิ่งที่เป็น "ที่สุด" สำหรับขาช้อปคือ มัทราห์ ซุค หรือตลาดมัทราห์ ตลาดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศอาหรับ อัดแน่นด้วยสินค้าขึ้นชื่อของโอมาน อาทิ เครื่องหอม เสื้อผ้าชุดประจำชาติ เครื่องเงิน เครื่องทองเหลือง ทั้งของเก่าของใหม่ที่ดูน่าสะสม โคมไฟโมเสกสไตล์อาหรับ ผ้าโพกศีรษะ ฯลฯ


ส่วนที่ขาดไม่ได้คือ คันห์จาร์ มีดสั้นที่มีปลายโค้งคล้ายเคียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บนธงชาติโอมาน และเป็นเครื่องประดับที่ชายชาวโอมานต้องเหน็บไว้ที่เอวเมื่อเข้าร่วมพิธีการสำคัญต่างๆ สนนราคานั้นก็แล้วแต่ต่อรอง แต่หากพบว่าพ่อค้าร้านไหนชิงพูดว่า "ขอบคุณครับ" อย่างภาคภูมิใจ เป็นการอวดว่าเคยไปเที่ยวไทยมาแล้ว ให้รีบรองต่อราคาดู.. จะมีโอกาสสูงกว่าเดิมอีกหลายเท่า!


อย่าลืมว่าแต่ละปีมีชาวโอมานมากกว่า 7 หมื่นคน และคนที่นี่มีความรู้สึกเชิงบวกกับไทยค่อนข้างสูง


...อีกหนึ่งเป้าหมายที่ปักหมุดไว้ก็คือ เจเบล อัคห์ดาร์ ซึ่งมีความหมายว่า "ภูเขาสีเขียว"


เทือกเขาสูงแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองนิซว่า ที่ห่างจากกรุงมัสกัตไปราวชั่วโมงครึ่ง ซึ่งจากตัวเมืองนิซว่าจะมีทางไต่ระดับขึ้นภูเขาสู่ความสูงเฉียด 3,000 เมตรจากน้ำทะเลไปอีกราว 45 นาที


เราจึงต้องเปลี่ยนพาหนะมาเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อของไกด์นามว่า "สุลต่าน" แทน ตามข้อบังคับของการเดินทางที่จะมีด่านคอยตรวจตราให้แน่ใจว่า รถทุกคันที่ผ่านเส้นทางนี้จะต้องเป็นระบบโฟร์วีลเท่านั้น เพราะต้องผ่านเส้นทางที่คดเคี้ยวขึ้นลง เลี้ยวตัดผ่านหน้าผาสูงชัน แถมบางครั้งก็มีเศษหินหล่นลงมาให้ระทึกใจเล่น สมกับเป็นเส้นทางที่ชื่อว่าอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโอมาน


ระหว่างทางเต็มไปด้วยแนวภูเขาที่มีหินสีน้ำตาลถูกกัดเซาะคล้ายแกรนด์แคนยอน สลับกับภูเขาบางลูกที่เป็นทรายสีน้ำตาลแห้งมีพุ่มไม้สีเขียวซีดขึ้นเป็นหย่อม เป็นภูมิทัศน์ที่แปลกตาคล้ายกับแล่นไปอยู่บนพื้นผิวของดาวอังคาร


ไม่น่าเชื่อว่าในความสูงขนาดนี้ จะมีชุมชนบ้านเรือนซ่อนตัวอยู่ริมผาเป็นหย่อมๆ ยังพบร่องรอยของบ้านเก่าที่สร้างด้วยหินและดินสีเหลือง แซมแทรกอยู่กับบ้านปูนสมัยใหม่ ขณะที่มองลงไปยังลาดเชิงผา มีการเพาะปลูกพืชแบบขั้นบันไดสารพัด ที่ขึ้นชื่อเฉพาะถิ่นนี้ที่สุดคือลูกทับทิม แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันโอมานมีปัญหาในเรื่องขาดแคลนน้ำ ทำให้พืชผลการเกษตรลดลงตามไปด้วย


ทว่าด้วยอุณหภูมิที่ต่ำถึงขั้นมีหิมะตก ประกอบกับวิวทิวทัศน์ที่เป็นหุบเขาแคนย่อนแปลกตาแบบนี้ ทำให้โรงแรมหรูมาทยอยยึดพื้นที่สร้างรีสอร์ทหรูไว้พร้อม ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่คือชาวยุโรป ที่นิยมการเดินทางท่องเที่ยวแบบผจญภัยใกล้ชิดธรรมชาติ และบุกเบิกเส้นทางใหม่ๆ ที่ใครๆ ยังเข้าไม่ถึง


หนึ่งในนักท่องเที่ยวกิติมศักดิ์ที่เจเบล อัคห์ดาร์ เคยต้อนรับมาแล้วก็คือ "เจ้าหญิงไดอาน่า" ที่ทรงมาตั้งแคมป์นอนดูดาว ดื่มด่ำบรรยากาศเคล้ากลิ่นหอมของบาคูร์ที่ชาวบ้านจุดแบบนี้มาแล้วเช่นกัน


...จากท่าเรือฝั่งมัทราห์ หากขับรถย้อนไปทางตะวันตก มีโซนชายหาดที่ขึ้นชื่ออีกแห่งคือ Shati Al-Qurum ซึ่งเป็นโซนบ้านพักราคาแพง และโรงแรม 5 ดาว และเป็นที่ตั้งของ รอยัล โอเปร่า เฮาส์ โรงอุปรากรที่อลังการทั้งขนาด และความประณีตในเชิงการก่อสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวภายนอก ส่วนการตกแต่งด้านในก็หรูหราด้วยไม้สักจากพม่าที่สลักเสลาวิจิตร


ปัจจุบันตารางการแสดงของรอยัล โอเปร่า เฮาส์ ยังมีตลอดทั้งปี โดยมีการสับเปลี่ยนนำวงออร์เคสตร้าจากฝั่งยุโรปมาเล่นที่นี่ อาทิ ลอนดอน ฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตร้า หรือกระทั่งวงดนตรีแจ๊สเก่าแก่จากอเมริกาอย่าง เพรซเซอร์เวชั่น ฮอลล์ แจ๊ส แบนด์ ก็มีคิวแสดงในปีนี้เช่นกัน โดยหมุนเวียนกับการแสดงดนตรีท้องถิ่นที่โอมานยังคงให้ค่าความสำคัญเสมอ


แว่วว่าเร็วๆ นี้ทั้งดูไบ คูเวต วางแผนโค่นสถิติโอเปร่าเฮาส์แห่งโอมาน เหมือนกับหลายๆ สถิติที่เศรษฐีตะวันออกกลางกำลังเร่งครองความเป็น "ที่สุด" ทั้งมัสยิดใหญ่ที่สุดในโลก พรมใหญ่ที่สุดในโลก ตึกสูงที่สุดในโลก แต่สำหรับชาวโอมานีที่อุปนิสัยค่อนข้าง "ใจเย็น" อยู่เป็นนิตย์แล้ว เชื่อว่าพวกเขาอาจจะแค่ยักไหล่ พร้อมนั่งไขว่ห้าง จิบคาห์วา (คล้ายกาแฟท้องถิ่น) นั่งมองดูเกมการช่วงชิงนั้นอย่างไม่ยี่หระ พลางชมวิวทะเลอันสงบของตัวเองต่อไปเท่านั้นก็ได้

............................


การเดินทาง 

การเดินทางสู่ประเทศโอมาน มีเที่ยวบินตรงจากไทยโดยสองสายการบิน คือ การบินไทย และ โอมาน แอร์ บินจากสนามบินสุวรรณภูมิไปลงที่ท่าอากาศยานกรุงมัตกัส-ดูไบ ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง


นักท่องเที่ยวสามารถขอ Visa On Arrival ที่สนามบิน ราคา 5 โอมานเรียล สำหรับการพำนัก 10 วัน และ 20 โอมานเรียลสำหรับ 1 เดือน