มองมุมต่าง มองมุมจีน "พรชัย จิตรนวเสถียร"

มองมุมต่าง มองมุมจีน "พรชัย จิตรนวเสถียร"

นาทีนี้ทัวร์จีนกลายเป็นเรื่องเมาท์ของชาวโลกไปแล้ว แต่เจ้าของบ้านที่ต้องต้อนรับแขกเมืองเหล่านี้อยู่ทุกวันไม่คิดเช่นนั้น

ถึงจะขาวสวยหมวยเอ็กซ์ หล่อตี๋มีตังค์ แต่ตัวเลขกลมๆ 1 ล้านคนสำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ตลอดปีที่ผ่านมา พร้อมกับข่าวลบข่าวลือที่เกิดขึ้นแบบถี่ยิบ ก็ทำให้เกิดกระแสแอนตี้ตี๋หมวยกระหึ่มไปทั่วโลกโซเชียล

          จริงบ้าง...ไม่จริงบ้าง นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ พรชัย จิตรนวเสถียร บอกว่าส่วนใหญ่มาจากความไม่เข้าใจ บนพื้นฐานความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งหากปรับโฟกัสให้ชัดๆ จะเห็นข้อดีของนักท่องเที่ยวจีน และข้อเสียซึ่งน่าจะแก้ไขได้ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นระบบได้มาตรฐาน

          ในฐานะผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจโรงแรมอยู่ในเชียงใหม่ เคยเป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และปัจจุบันนอกจากตำแหน่งในสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมนักธุรกิจไทยจีนจังหวัดเชียงใหม่ ประธานคณะกรรมการบริหารงานกองทุนเพื่อการอนุรักษ์ดอยอินทนนท์ (UNDP) เขายืนยันว่าปัญหาของเชียงใหม่ไม่ใช่แค่ทัวร์จีน แต่เป็นมุมมองและทัศนคติของคนไทยจำนวนหนึ่งด้วย

 

-บรรยากาศการท่องเที่ยวในเชียงใหม่ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ

          โดยภาพรวมการท่องเที่ยวเชียงใหม่ไม่เคยตกนะ และต้องยอมรับว่าหลังจากภาพยนตร์ Lost in Thailand เรียกว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ค่อนข้างก้าวกระโดด เพราะกระแสนี้มันมาพร้อมๆ กับสถานการณ์การเมืองที่กรุงเทพซึ่งเป็นระยะยาวพอสมควร แล้วก็เหตุการณ์น้ำท่วมที่กรุงเทพ สามปัจจัยหลักนี้ทำให้เชียงใหม่ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว อย่างการท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ซึ่งสามารถรองรับไฟล์ทบินต่างชาติได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งเชียงใหม่นอกจากจะเป็นจุดเชื่อมต่อทางการบินได้แล้วก็มีแหล่งท่องเที่ยวของตัวเอง และเป็นแหล่งที่ได้รับการยอมรับทั้งเรื่องการบริการและความปลอดภัยต่างๆ มันก็เลยทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ

          อย่างเมื่อก่อนเรามีวันนึงสัก 20 เที่ยวบินก็โอเคละ ปัจจุบันช่วงไฮซีชั่น ธันวาคมถึงมกราคมที่ผ่านมาเรารองรับถึง 200 เที่ยวบินต่อวัน โดยค่าเฉลี่ยก็อยู่ที่ 100-150  เที่ยวบินต่อวัน ถือว่าตอนนี้เราเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลฮับที่สามารถทำการเชื่อมต่อไปยังเดสติเนชั่นต่างๆ แล้วก็เรียกว่าเป็นฮับของเออีซีตอนบนได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเลยทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราเพิ่มทุกๆ ปี แล้วก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในกลุ่มต่างชาติ ซึ่งส่วนผสมในอดีตเป็นชาวต่างชาติ 30% ชาวไทย 70% ตอนนี้ก็เป็นชาวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 40% สัดส่วนที่เป็นชาวไทยก็ลดลง ประกอบกับปีนี้สถานการณ์เรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศเราค่อนข้างมีปัญหานิดหน่อย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วตลาดจะลง แต่โชคดีที่ของเราตลาดชาวต่างชาติมันเพิ่มขึ้น ตรงนี้เลยทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ยังทรงตัวอยู่

-ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่โตขึ้นส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน?

          เมื่อก่อนที่ยังไม่มีเรื่อง Lost in Thailand คนจีนก็เข้ามาสักปีละแสน แต่หลังจากที่มีกระแสจากภาพยนตร์เรื่องนี้ก็บูมขึ้นมาในช่วงปีครึ่งอยู่ที่ประมาณ 450.000 คน  จนกระทั่งมาปี 2556 อยู่ที่ 700,000 คน ปี 2557 ที่ผ่านมาก็น่าจะ 1 ล้านคนได้ คือไม่ใช่เพราะ Lost in Thailand อย่างเดียว เพราะว่าหลังจากที่ตรงนั้นติดแล้วด้วยสามปัจจัยที่บอกไปก็มีส่วน แล้วจังหวัดเชียงใหม่เองอยู่ใกล้กับประเทศจีน ระยะทางจากจีนมาถึงเชียงใหม่ด้วยนถน R3A ก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง เพราะว่าระยะทางมันเท่ากันกับขับรถจากเชียงใหม่ลงกรุงเทพ คือออกก่อนเที่ยงไปทานข้าวเย็นที่เมืองจีนสิบสองปันนาได้เลย เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นส่วนที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาด้วย

- จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ด้านหนึ่งก็สร้างปัญหาอย่างที่เป็นข่าว?

          ปัญหาก็มีฮะ แต่มันไม่ใช่เฉพาะทัวร์จีนอย่างเดียว ต้องยอมรับว่าตลาดของนักท่องเที่ยวชาวจีนมีอัตราการขยายตัวมากที่สุด เพราะฉะนั้นอัตราส่วนของความไม่เข้าใจ ความผิดพลาดของการสื่อสารย่อมมีสูงกว่าเป็นเรื่องปกติ ในหลายประเด็นที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ไม่เข้าใจ แต่ไม่ใช่ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ดีนะ ส่วนที่สองก็เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนมีสัดส่วนเยอะขึ้น เมื่อเกิดความไม่เข้าใจแล้ว ปรากฎว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมาแม้ไม่ใช่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนก็ถูกเหมารวมว่าเป็นชาวจีน มันเป็นกระแสที่ผิดพลาด ยกตัวอย่างกรณีที่ไม่ใช่แน่นอน ก็ที่มีคนก้นขาวไปอึแถวคูเมือง ตรวจสอบเรียบร้อยปรากฎว่าเป็นคนเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนสติไม่สมประกอบที่ตลาดช้างเผือกนี่แหละ คนก็เหมาว่าเป็นคนจีน

          หรืออย่างล่าสุดกรณีที่มีคนขึ้นไปยืนบนกำแพงเมืองแล้วถ่ายรูป ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นใคร เป็นชาวจีนหรือเปล่าก็ไม่มีอะไรบอก นักท่องเที่ยวมีทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม พม่า ลาว อะไรต่างๆ อาจเป็นนักท่องเที่ยวชาติไหนก็ได้ หรืออาจเป็นคนไทยแต่งตัวสวยๆ ก็ได้ แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ เลยก็บอกว่าเป็นชาวจีน อันนี้คือประเด็นที่หนึ่ง ประเด็นที่สองก็คือกรณีที่เกิดขึ้นมามันเป็นเรื่องปกติ กำแพงเมืองตรงนี้เป็นกำแพงเมืองสร้างใหม่ทับโครงสร้างกำแพงเมืองเก่า และเมื่อถึงช่วงฤดูร้อนจะเห็นเด็กๆ เล่นน้ำกัน ขึ้นไปบนกำแพงเมืองแล้วกระโดดลงมา มันก็มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะฝรั่งจะขึ้นไปถ่ายรูปเยอะมาก ปรากฎว่าไม่เป็นข่าว แต่พอคิดว่าเป็นคนจีนซึ่งจริงๆ ยังไม่รู้เลยว่าเป็นใคร ก็ไปสรุปว่าเป็นทัวร์จีน สรุปว่าผิดธรรมเนียม แล้วเมื่อไปดูในพื้นที่จริง ปรากฎว่าก็ไม่มีป้าย ไม่มีตราสัญลักษณ์ใดๆ เลยที่บอกว่าห้ามขึ้น ห้ามปีนป่าย หรืออะไร เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเรื่องของความไม่เข้าใจมากกว่า แล้วก็เป็นเรื่องของทัศนคติ

          อย่างไรก็ตามทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวก็ตระหนักถึงปัญหาในหลายกรณีที่เกิดขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ เราร่วมกับหลายหน่วยงานจัดทำเอกสารข้อมูล Do Don't คือสิ่งใดที่ควรและสิ่งใดที่ไม่ควร ซึ่งทั้งหมดจะถูกทำเป็นสัญลักษณ์ เพราะว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ค่อยอ่าน แล้วเพิ่มคุณค่าโดยการใส่แผนที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญเข้าไป พร้อมทั้งมีเบอร์โทรฉุกเฉินเบอร์ที่มีความจำเป็นในกรณีต่างๆ โดยจะทำการแจกอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ตรงนี้ก็น่าจะทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวในเบื้องต้นได้

          เมืองเชียงใหม่เราเป็นเมืองที่มีความเป็นมายาวนานนับถึงปีนี้ก็ 719 ปี สิ่งที่ขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ คือ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นมันเป็นจุดแข็งของเมือง เราต้องรักษาให้เป็นวิถีชีวิตของคนให้ได้ ถ้าเรารักษาสิ่งนี้ให้เดินหน้าต่อไปได้ นั่นแปลว่าเราจะรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้ได้ แต่ถ้าเราไม่สามารถรักษาสิ่งนี้ให้เป็นวิถีชีวิตและเดินหน้าต่อไปได้ โลกาภิวัตน์จะเข้ามากลืน แล้วเมืองอย่างเชียงใหม่ไม่ติดทะเล ถ้าเราสูญสิ้นวัฒนธรรม สูญสิ้นประเพณี คนจะไม่มา เลยนะครับ คือเราไม่มีอะไรขาย

          แหล่งท่องเที่ยวอย่างทะเลวันนึงน้ำมันท่วม พออีก 15 วัน เดือนนึงทะเลใสปิ๊งเหมือนเดิมได้ วัฒนธรรมถ้าหายไปปีเดียว มันหายไปอีกร้อยปีพันปี กู้คืนก็ไม่ได้  เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องยึดถือ ต้องดำเนินการทุกอย่างให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วได้ซึมซับ ได้รับรู้ ได้อยากเป็น ได้อยากทำ ได้อยากภาคภูมิใจกับวิถีของเรา ซึ่งการดำเนินการเช่นนั้นเราต้องทำทั้งในภาคประชาชน คือให้คนเชียงใหม่เองได้ตระหนักได้รับรู้แล้วก็ดำเนินให้เป็นวิถีชีวิต เพื่อเอาจุดแข็งตรงนั้นไปพัฒนาเป็นจุดขาย และเมื่อเราขายสิ่งที่เป็นวิถีชีวิต นักท่องเที่ยวเขาตระหนักถึงการที่จะมาท่องเที่ยวในจุดขายของเรา เขาก็ควรที่จะประพฤติตัวปฏิบัติตัวตามธรรมเนียมของเรา เพราะฉะนั้นของเราคืออะไร ก็ต้องนำเสนอให้เขารู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันก็สามารถขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้

-เอกสารที่จะแจกให้กับนักท่องเที่ยวนี้ไม่ได้โฟกัสที่นักท่องเที่ยวจีนอย่างเดียว?

          ไม่ครับ ก็แจกกับนักท่องเที่ยวทุกคน ทุกด่านที่เข้ามาทั้งด่านทางอากาศ คือการท่าอากาศยาน และที่ด่านถนน R3A ซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวทั้งพม่า เวียดนาม จีน

-มองในมุมนี้ธุรกิจท่องเที่ยวในเชียงใหม่ก็น่าจะเรียกว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น ยังมีอะไรที่น่าเป็นห่วงอีกไหมคะ

          ที่น่าเป็นห่วงคือ เวลานี้เป็นแค่หนังตัวอย่างของนักท่องที่ยวที่เข้ามา แต่เมื่อไหร่ที่บริบทของเออีซีเกิดขึ้นมันจะเข้ามามากกว่านั้น คือเข้ามาทั้งการลงทุน การเงิน  เรื่องสื่อเรื่องภาษา เรื่องจำนวนผู้คนที่เยอะขึ้น นั่นหมายถึงวัฒนธรรมของต่างชาติที่เข้ามาก็จะเยอะขึ้น สิ่งนี้ถ้าคนเชียงใหม่ไม่ตระหนักถึงความเป็นภัยคุกคาม มันก็จะถูกกลืนไปโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก ในเรื่องของวิถีชีวิต เรื่องของจุดแข็งที่ถูกบั่นทอน

          ในประเด็นที่สองก็คื เรื่องการค้าการลงทุน ปัจจุบันเรามีกลุ่มทุนต่างถิ่นเข้ามา ทั้งหมู่บ้านจัดสรร ออร์แกไนเซอร์ โรงแรม อะไรต่างๆ แต่กลุ่มทุนต่างถิ่นเขาก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของท้องถิ่นบ้าง คราวนี้เมื่อมันเปิดเสรีขึ้นมา แล้วกฎหมายยังมีช่องโหว่ให้ต่างชาติได้ถือหุ้น หรือครอบครองโดยมีนอมินีจะทำให้คนเหล่านั้นได้เข้ามาลงทุน การลงทุนนี้แน่นอนที่สุดว่าชาวต่างชาติก็หวังแต่ผลกำไร ซึ่งระบบการท่องเที่ยวและการบริการมันควรจะหมายถึงการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง เพราะการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงมันเป็นการรักษาวิถีชีวิต แต่ถ้ากลุ่มทุนนั้นเป็นกลุ่มทุนต่างชาติเมื่อไหร่ ความตระหนักรับรู้ตรงนั้นจะน้อย เพราะฉะนั้นรายได้เมื่อมันไม่กระจายไปอย่างทั่วถึง รอบข้างโรงแรม รอบข้างแหล่งท่องเที่ยว ประชาชนไม่มีรายได้ตรงนั้น เขาขายที่ขายทาง สุดท้ายวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ก็หายไป เหลือแต่ของปลอมไปซะ ตรงนี้ที่มันเป็นอันตราย

          อีกส่วนที่อันตรายมากๆ ก็คือ เมื่อสัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น มันหมายถึงว่ากลุ่มทุนต่างชาติก็จ้องเพิ่มขึ้น การเข้ามาอย่างผิดรูปร่างในกลุ่มที่หนึ่ง ก็คือเข้ามาลงทุนโดยทุนที่เหนือกว่าไปตัดราคาอะไรต่างๆ อีกส่วนหนึ่งคือทุนที่เข้ามาแบบแอบแฝง อันตรายมากก็คือเรื่องของทัวร์ศูนย์เหรียญ นี่คือสิ่งที่เรามีความกังวลมาก

-ทัวร์ศูนย์เหรียญเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ทำไมถึงยังแก้ไม่ได้

          แก้ได้ ถ้าภาครัฐให้การมีส่วนร่วม ซึ่งเรากำลังรอการมีส่วนร่วมนั้นอยู่ ผมยกตัวอย่างที่กรุงเทพหรือที่ภูเก็ต เขาจะมีแอตต้าในการสกรีนนักท่องเที่ยวนะครับว่านักท่องเที่ยวเข้ามากรุ๊ปนี้ต้องมีตัวแทนของบริษัท แล้วก็มีมัคคุเทศก์มารอรับ จำนวนนักท่องเที่ยวกี่คน มีตารางการท่องเที่ยวว่าจะไปเที่ยวไหนมาส่งให้แอตต้า เพื่อให้แอพพรูฟให้เข้าไปรับ อันนี้คือข้อดี และถึงจะมีจุดเสียอยู่บ้าง คือสองแห่งนั้นมันเป็นประตูที่ใหญ่ การควบคุมทำได้ยาก เพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วอาจจะออกที่อื่นๆ ไม่ได้ออกที่เดิม แต่ก็เป็นการป้องกันได้

          สำหรับพื้นที่เชียงใหม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 96-97 เข้ามาประตูเชียงใหม่จะออกจากประตูเชียงใหม่ เข้ามาทาง R3A ก็ออก R3A เข้ามาทางสายการบินก็ออกจากการท่า อากาศยานเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นเป็นจุดที่ควบคุมได้แน่นอน แต่เชียงใหม่ไม่มีการควบคุมจากภาคเอกชนในลักษณะนี้ เราก็ทำหนังสือไปทางการท่าอากาศยานเพื่อขอพื้นที่  และระบบบริหารจัดการเพื่อทำตรงนี้ ก็ถูกปฏิเสธมาหนึ่งครั้ง ตอบรับหนึ่งครั้ง ปฏิเสธอีกหนึ่งครั้ง ตอนนี้กำลังยื่นเรื่องเข้าไปใหม่ รอทางการท่าอากาศยานซึ่งเป็นบริษัทมหาชนว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธ

-ในมุมของผู้ประกอบการที่มีโรงแรมถึงสองแห่ง การที่นักท่องเที่ยวเข้ามามากๆ ก็น่าจะดีกว่าไม่ใช่เหรอคะ

          ผมมองว่าความยั่งยืนมันต้องเกิด ถ้าเราทำตรงนี้มันเกิดอะไรขึ้น หนึ่งคือสกรีนไกด์ ปกป้องอาชีพไกด์ได้ เมื่อปกป้องอาชีพไกด์ได้ ไกด์เป็นคนท้องถิ่น เขาจะไม่ไปพูด หรอกว่าแม่ชีกับพระแต่งงานกันออกลูกมาเป็นเณร แต่นี่คือสิ่งที่ไกด์ที่ไม่ใช่ไกด์ เป็นไกด์ผีไกด์เถื่อนบอกกับนักท่องเที่ยว เพราะธรรมชาติของนักท่องเที่ยวเวลาเจออะไรเขาก็จะ ถาม ถ้าเป็นไกด์คนไทย หรือไกด์ที่ได้รับการอบรมเพิ่มเติมมาเขาจะตอบได้ถึงประวัติศาสตร์หนึ่งสองสามสี่ชัดเจน แต่ไกด์ที่เป็นคนต่างชาติและเข้ามาอ้างว่าเป็นมัคคุเทศก์ของ ประเทศไทย เมื่อเจอคำถามของนักท่องเที่ยวเขาก็จะตอบไปมั่วๆ ...นี่เรื่องจริงนะครับไม่ใช่เรื่องตลก มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก นี่แค่ตัวอย่างเรื่องการปกป้องอาชีพไกด์ และ ภาพลักษณ์ความเข้าใจของความเป็นไทยความเป็นล้านนา

          เพราะฉะนั้นทัวร์นี่ถ้าเราสามารถระบุได้ว่าบริษัทนี้เป็นทัวร์ศูนย์เหรียญ ภาคเอกชนสามารถเป็นเจ้าภาพในการที่จะดำเนินการให้หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีทั้งกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สรรพสามิต สรรพากร ที่เกี่ยวข้องกับบริบทของการท่องเที่ยว เม็ดเงินภาษีที่สูญเสียไป เรื่องราคาที่ไม่เป็นธรรม เข้าไปดำเนินการกับบริษัทนั้นๆ ได้ ก็จะเป็นการป้องกันและปราบปรามไปในตัว ไม่ใช่ว่าคุณไปขายทัวร์ศูนย์เหรียญเข้ามา ที่นอนยางพาราผืนนึงต้นทุน 800 บาท ขาย 20,000 บาท น้ำผึ้งขวดนึง 300-400 บาท ขายขวดละ 3,000 บาท อย่างนี้คือเขาปิดหูปิดตานักท่องเที่ยว สุดท้ายเมื่อนักท่องเที่ยวเขารับรู้ว่ามันไม่ใช่ ภาพลักษณ์นั้นมันกลับมาที่เชียงใหม่ เขาไม่ได้บอกว่าคนที่พามาป็นคนทำ เขาบอกว่ามาซื้อที่เชียงใหม่

-คือหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณไม่ได้โทษพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว แต่มองไปที่การบริหารจัดการมากกว่า?

          จริงๆ คนจีนมีวัฒนธรรมมีพฤติกรรมที่ดีนะครับ เราจะไม่เห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนแบกเป้ใบเดียวแล้วไปยืนโบกขอขึ้นรถ มีแต่ฝรั่ง ที่ถนนลอยเคราะห์เป็นถนนผับบาร์คล้ายๆ พัทยา มีเส้นเดียวซึ่งเราพยายามควบคุมไม่ให้ขยาย มันทำลายวัฒนธรรม เราไม่ใช่เมืองอย่างนั้น มีแต่ฝรั่งไปเที่ยว กลางคืนบางทีเมาเอาขวดตีกันอะไรกัน เราจะไม่เห็นคนจีนนะ เวลาหน้าร้อนเดี๋ยวดูสิ ฝรั่งจะขี่มอเตอร์ไซค์ ถอดเสื้อ เราจะไม่เห็นนะผู้หญิงจีน เขาจะใส่ชุดยาวๆ ใส่หมวกบานๆ ใส่ขาสั้นข้างใน ดูสวยงามใช่มั้ย แต่ฝรั่งนี่โนบราเสื้อบางๆ กางเกงสั้นๆ บางคนเสื้อชั้นในตัวเดียว แล้วก็ใส่เสื้อตาข่าย แล้วเข้าไปเดินในวัดมันยังไงล่ะ

          ระหว่างคนจีนเข้าวัดกับฝรั่งเข้าวัด ชาวต่างชาติหลายประเทศเวลาเข้าไปในวัดนี่เข้าไปถ่ายรูป ไปเข้าห้องน้ำแล้วก็ออก แต่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีน เขาก็เหมือนเรา เขาไปซื้อดอกไม้ธูปเทียน ชาวบ้านก็ได้เงิน ไปสวดมนต์ทำบุญ เงินเข้าวัด ก่อนกลับนี่เช่าพระทีนึงสิบยี่สิบองค์เป็นของฝากนะครับ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ใช้เขาก็ใช้ผ้าคล้ายๆ  เรา ฝรั่งไม่ใช้ ตลาดสดอาหารการกิน คนจีนกินเหมือนเรากิน จิ้งกุ่งยังกินเลย

-มันเป็นเรื่องทัศนคติของคนไทยที่มีต่อนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกกับชาวจีนต่างกัน?

          ฝรั่งนี่เชิดชูหมดเลย ซึ่งบางอย่างมันไม่ใช่ไง อย่างสูบกัญชายังกลายเป็นดีไปซะ ศิลปิน อาร์ตต้องใช้

          คือถ้าเราดูถูกคนเอเชียด้วยกันเอง ถามว่าเราจะไปหาความศิวิไลซ์ได้ไง หาอีกร้อยชาติก็ไม่เจอ ศิวิไลซ์ก็ต้องเป็นของคนอื่นแล้ว จริงๆ แล้วความศิวิไลซ์ไม่ใช่เรื่องของวัตถุครับเป็นเรื่องของจิตใจ เรื่องของความภาคภูมิใจ เรื่องของความมีอัตลักษณ์ ถ้าคุณจะเอาความศิวิไลซ์เป็นเรื่องของวัตถุนะ มันก็อยู่เฉพาะกลุ่มคนเล็กๆ ไม่กี่กลุ่ม

-แล้วอย่างเรื่องการใช้ห้องน้ำ หรือการเข้าไปในพื้นที่ส่วนบุคคล มองปัญหานี้อย่างไร

          ผมยกตัวอย่างในญี่ปุ่น ถ้าอยู่ในลิฟท์อยู่ในรถไฟใต้ดิน พูดดังไมได้นะ มีคนไทยสักกี่คนที่รู้ ถึง 3% มั้ยที่รู้ เช่นเดียวกันคนญี่ปุ่นมองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทย ในลิฟท์คุณเสียงดังโช้งเช้งๆ ถ่ายรูป check in กันตรงนั้นตรงนี้ แล้วเรามองตัวเราเองไหม เราต้องยอมรับในเมื่อมันเป็นโลกาภิวัตน์ ในเมื่อเราเป็นเมืองท่องเที่ยวเราต้องรู้ว่าสิ่งนั้นเหมาะหรือไม่เหมาะ เพราะเหตุผลอะไร และเราทำความเข้าใจเพียงพอหรือยัง เราเปิดใจรับหรือยัง เรามีไบแอสกับนักท่องเที่ยวเฉพาะสีผมมั้ย

          เพราะฉะนั้นสิ่งที่สมาคมฯทำ ก็คือเราทำเรื่องพฤติกรรม Do Don't ไง ให้เขารู้ว่าความเป็นล้านนานี่ หนึ่งนะเรามีพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุดที่ต้องเคารพนะ ซึ่งคนจีนส่วนใหญ่เขารักอยู่แล้ว สองคือเรามีศาสนานะ เพราะฉะนั้นนุ่งน้อยห่มน้อย ห้ามนะครับ สามผู้หญิงเป็นเพศที่เราให้ความเคารพนะครับ ไปแตะเนื้อต้องตัวไม่ได้ สี่เรื่องของการตะเบงเสียงข้ามหัวคน ที่ประเทศเขามันเป็นเรื่องปกติ มันเป็นพฤติกรรมที่สะสมจนคนมองว่าเป็นวัฒนธรรม นี่คือความแตกต่างที่เราต้องยอมรับ ซึ่งสมาคมเราก็ทำภาพการ์ตูนบอกเขาว่านี่เป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำนะ

          การเข้าคิว คุณลองมองย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คนไทยเข้าคิวไหม โอโห..ชุลมุน ร้านแม็คโดนัลด์มาเปิดนี่มุงกันเลย ใครเอื้อมถึงก่อนได้ก่อน แล้วเราไม่ว่าตัวเราในอดีตเหรอ เราไปว่าคนจีนในปัจจุบัน เราก็บอกเขาสินี่บ้านเรานะ...ต้องเข้าคิว เรื่องการดูแลความสะอาด ห้องน้ำต้องปิดนะ อันนี้เราก็ทำเป็นการ์ตูนขึ้นมา เพราะคนจีนส่วน ใหญ่ที่บ้านเขา ห้องน้ำไม่ต้องปิดประตู เมื่อเขาทราบเขาดูเขาก็ทำ ไม่เชื่อลองไปดูที่วัดสิ คนจีนเนี่ยเป็นคนที่เคารพกฎมาก เพราะชีวิตเขาอยู่กับกฎ ถ้าเขารู้ว่าสิ่งไหนไม่ควร เขาจะไม่ทำเลย ไปสังเกตที่วัดก็ได้ เขาจะดูป้ายแล้วดูตัวเอง อะไรที่ไม่ให้ทำเขาก็ไม่ทำ เพียงแต่หลายสิ่งเขาก็ไม่รู้

-หลายๆ กรณีที่เป็นข่าวคุณมองว่าเป็นเรื่องของอคติและความไม่เข้าใจมากกว่า?

          เวลามีคลิปโน่นคลิปนี่ออกมา ผมถามว่าทำไมเราไม่เดินไปบอกเขาล่ะว่าทำอย่างนี้ไม่ได้นะ ด้วยความปรารถนาดีในฐานะเจ้าบ้าน แต่ถ้าเขามีอาการดื้อดึง ไม่ว่าใครก็ตาม คนไทยหรือนักท่องเที่ยวชาติไหนก็ตามก็แจ้งความดำเนินคดีไปเลย คุณรักประเทศคุณไม่ใช่เหรอ คุณหวงกันเหลือเกินนี่ เป็นเจ้าของประเทศก็ต้องช่วยกันแจ้งความสิ จะได้รู้ว่าเป็นชนชาติอะไรที่ทำ นี่ยังไม่ทันรู้เลย คลิปออกมาปุ๊บก็สรุปเป็นคนจีนหมด จริงๆ เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เองมีองค์กรคนไทยเชื้อสายจีน 43 องค์กรนะครับ เราใกล้ชิดกับคนจีนอยู่แล้ว

-เมื่อสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ธุรกิจท่องเที่ยวในเชียงใหม่ต้องปรับตัวอย่างไรบ้างคะ

          ในอดีตสัก 10 ปีที่แล้ว การประชาสัมพันธ์เชียงใหม่เราจะทำอยู่สองอย่าง หนึ่งคือเรื่องเทศกาล ลอยกระทง สงกรานต์ ปีใหม่ สองคือแม่คะนิ้ง ฤดูหนาว สืบเนื่องจากตลาดหลักเราคือตลาดคนไทย เทศกาลเป็นช่วงวันหยุด หน้าหนาวคนไทยชอบ แต่ปัจจุบันการตลาดเปลี่ยนไปแล้ว มีการเชื่อมต่อถึงกันไป 30 เมืองทั่วประเทศและทั่วเอเชีย  ตลาดเปลี่ยนไป พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีโลว์ซีซั่นแล้ว แล้วเราจะขายอะไร ขายสินค้าหัตถกรรมทั้งปี ขายแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติทั้งปี เช่น จุดแข็งที่ เคยมี ศาสนา เรื่องการทำบุญทำได้ทั้งปี เทศกาลงานประเพณีทำอยู่แล้ว แต่วัฒนธรรมยังไม่ค่อยได้ทำ เช่นวัฒนธรรมชนเผ่า วัฒนธรรมอะไรต่างๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ทั้งปี  เรื่องของภูมิปัญญา ศิลปหัตถกรรมมีการประยุกต์ไปทำตลาดในเออีซี ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม พวกซิบไลน์เดี๋ยวนี้เที่ยวได้ทั้งปี ล่องแก่งล่องแพขี่ช้างขี่วัวขี่ควาย เข้าค่าย ปลูกข้าวปลูกผัก การแข่งกีฬา แข่งมาราธอน แข่งกอล์ฟ จักรยาน พวกนี้เราทำทั้งปี

          ในส่วนของสมาคมภารกิจหลักอีกอย่างหนึ่งคือการจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นมาตรฐานสากล เช่นเรื่องความสะดวกปลอดภัย เรื่องการเชื่อมต่อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ต้องมีการปรับปรุง เรามีการประสานกับกระทรวงการคลังให้มีการจัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ใช้งบในการพัฒนาในการยกระดับมาตรฐานของธุรกิจให้มีความเป็นสากล เพราะถ้าหากเราไม่ทำเช่นนั้น นักท่องเที่ยวเข้ามาก็ไม่ประทับใจ มีโอกาสที่ภาพต่างๆ มันหลุดออกไปแล้วส่งผลในเชิงลบ อีกประการหนึ่งถ้าเราไม่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หลายแห่งที่เป็นของชาวต่างชาติก็จะเข้ามาเทค เข้ามารับประโยชน์ สุดท้ายถ้าผู้ประกอบการท้องถิ่นอยู่ไม่ได้ แล้วไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนต่างถิ่นต่างชาติหมด มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ก็จะหายไป แล้วเชียงใหม่ก็จะไม่มีอนาคตที่ยั่งยืน

-ถ้าถอดหมวกนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวออก มองเชียงใหม่อย่างไรคะ

          ผมเกิดกรุงเทพก็จริง แต่ผมไม่มีบ้านที่กรุงเทพ เชียงใหม่เป็นบ้านผม สุสานพ่อแม่ผมอยู่ที่นี่ ทรัพย์สินผมทั้งหมดอยู่ที่นี่ ครอบครัวผมอยู่ที่นี่ คือถ้าเราจะมุ่งทำธุรกิจให้ร่ำรวยกว่านี้ทำได้นะ แต่โดยหลักการแล้วถ้าเรามองว่าความสุขอยู่ที่นี่ แล้วมุ่งแต่ให้ตัวเองมีความสุข คนอื่นลำบาก มลพิษเต็มไปหมด เราจะอยู่อย่างมีความสุขได้อย่างไร ออกไปข้างนอกก็ต้องมีบอร์ดี้การ์ดตามสามคนสี่คน เพราะว่าถ้าเรารวยคนเดียว คนรอบข้างจนหมด เขาไม่มีกินเขาก็ต้องมาปล้นเราแน่นอน หลักคิดมันง่ายๆ

        ผมว่าในเมื่อเรารู้ว่าความสุขอยู่ที่นี่ เราจะทำอย่างไรให้ที่นี่มีความสุข ให้ทุกคนได้มีความสุข เพราะเมื่อทุกคนมีความสุข มันจะเป็นความสุขที่แท้จริง