'ประจิน'คาดสรุปรูปแบบลงทุนรถไฟไทย-จีน11มี.ค.

'ประจิน'คาดสรุปรูปแบบลงทุนรถไฟไทย-จีน11มี.ค.

"พล.อ.อ.ประจิน" รมว.คมนาคม คาดสรุปรูปแบบลงทุนรถไฟไทย-จีน 11 มี.ค.นี้ ชี้ไทยได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟไทยจีนครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 10-11 มี.ค.ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ คาดว่าจะได้ข้อสรุปรูปแบบการลงทุน ซึ่งเชื่อว่าไทยจะได้ประโยชน์จาก การลงทุนในโครงการนี้

"จะชัดเจนในวันที่ 11 มีนาคม สำหรับจะเป็นรูปแบบไฟแนนซ์ในลักษณะใด ก็จะมีการเจรจาในการประชุมครั้งนี้ และจะได้ความชัดเจนของรูปแบบการลงทุนแน่นอน" พล.อ.อ.ประจิน กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ในเบื้องต้นเป็นความร่วมมือเป็นแบบ EPC (Engineering Procurement and Construction แยกเป็น Construction,operation และ maintenance ซึ่งไทยจะดูแลในโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไทยก็มีข้อด้อยเรื่องการ สร้างรางและล้อของตัวเครื่องจักร แต่อื่นๆเราสามารถทำได้ทุกด้าน

"เท่าที่วิเคราะห์ ทางไทยได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก เพราะเราจะดูแลในเรื่อง โครงสร้างพื้นฐาน แต่ส่วนงานของระบบราง เราอาจมีข้อด้อยในเรื่องของการสร้าง รางและล้อของตัวรถจักร แต่อื่นๆ เราทำได้เกือบทุกด้าน ก็ดูแล้วคงไม่เสียเปรียบอะไรมาก" รมว.คมนาคม กล่าว

คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟครั้งที่ 3 จะมีการจัดประชุมใน วันที่ 10 มี.ค.ที่กรุงเทพฯ และวันที่ 11 มี.ค.ที่จังหวัดหนองคาย

ที่ผ่านมาสองฝ่ายได้หารือกันไปแล้วสองครั้ง ซึ่ง รมว.คมนาคมระบุก่อนหน้านี้ ว่า โครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย และแก่งคอย- มาบตาพุด จะสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ และเริ่มก่อสร้างในเดือน
ต.ค.58 โดยจะให้แล้วเสร็จภายในเวลา 30 เดือน หรือในเดือนเม.ย.61

ขณะที่ เส้นทางแก่งคอย-นครราชสีมา และ นครราชสีมา-หนองคาย จะสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 58 และเริ่มก่อสร้างในเดือน ม.ค.59 โดยจะให้แล้วเสร็จภายในเวลา 36 เดือน หรือในเดือน ม.ค.62

แต่ในส่วนเรื่องเงินกู้ยืนนั้น ขณะที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งธนาคารเพื่อการ ส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน จะให้เงินกู้เงื่อนไขพิเศษ ด้วยอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน โดยจีนเสนออัตราดอกเบี้ยมาที่ 2% แต่ฝ่ายไทยขอศึกษารายละเอียดก่อน

เมื่อปลายเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ไทยและจีนลงนามในบันทึกความเข้าใจว่า ด้วยความร่วมมือด้านรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา -แก่งคอย-มาบตาพุด และ แก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง รวม 873 กิโลเมตร ซึ่งมีความเร็วระหว่าง 160-180 กิโลเมตร/ชั่วโมง

การลงนามของทั้งไทยกับจีนดังกล่าว อยู่ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของไทยปี 58-65 ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 4 แสนล้านบาท