วสท. ร่วม 18 องค์กรกระทุ้งรัฐ สางปมอีไอเอถ่วงอสังหาฯ

วสท. ร่วม 18 องค์กรกระทุ้งรัฐ สางปมอีไอเอถ่วงอสังหาฯ

(รายงาน) วสท. ร่วม 18 องค์กรกระทุ้งรัฐ สางปมอีไอเอถ่วงอสังหาฯ

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ 18 องค์กร อาทิ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, สมาคมอาคารชุดไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร, สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (สผ.), การรถไฟแห่งประเทศไทย, กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท, กรมชลประทาน, กรมที่ดิน,กรมโรงงาน,กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดเสวนา เรื่อง “ใบอนุญาต EIA...การปฏิรูปสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” เพื่อสรุปข้อเสนอแนะแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการแก้ปัญหาใบอนุญาตรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย


นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ปัจจุบันระยะเวลาในการพิจารณาใบอนุญาตอีไอเอยาวนานเกินไป ตั้งแต่ 1 ปี ยาวนานที่สุด 5-7 ปี ส่งผลกระทบต่อต้นทุนก่อสร้างที่วางแผนไว้ อาจไม่สอดคล้องกับภาวะความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจ


ดังนั้นหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) ควรชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ โดยอาศัยดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาให้น้อยที่สุด


“บางครั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานอีไอเอ อาจใช้เป็นความเห็นส่วนบุคคลประกอบการพิจารณา การแก้ไขปัญหานี้ควรมีหน่วยงานดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เห็นด้วยกับการทำอีไอเอ แต่ปัญหาคือการขาดความชัดเจนถึงเกณฑ์การพิจารณาที่เป็นวิทยาศาสตร์ ยังมีการใช้ดุลยพินิจอยู่มาก"


นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การพัฒนาอีไอเอโครงการคอนโดมิเนียม ที่ดินทั้งหมดจะต้องโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประกอบการก่อนที่ จะเสนอสผ.เพื่อขออีไอเอ จึงนับเป็นความเสี่ยงของผู้ประกอบการหากการพิจารณาอีไอเอล่าช้า หรือหากโครงการไม่ผ่านการอีไอเอ


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สมาคมอาคารชุดไทย ได้ร่วมกับ 3 สมาคมที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สมาคมบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ยื่นข้อเสนอร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหากระบวนการทำงานให้อำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจ ไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเห็นว่า สผ.ควรกระจายอำนาจการพิจารณาใบอนุญาตอีไอเอสู่ท้องถิ่น เพื่อให้การพิจารณารวดเร็วขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มที่สผ.จะกระจายอำนาจไปสู่กทม. และ 7 จังหวัดท้องถิ่น นำร่อง เช่นกัน


นอกจากนี้ ควรวางกฎระเบียบ และวิธีปฏิบัติในการยื่นขออีไอเอที่ชัดเจน ตั้งแต่ ระยะเวลา วิธีการอนุมัติ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเภทของที่ยื่นขออนุมัติ (Code of Conduct) รวมถึงยกเว้นการขออนุญาตกับโครงการขนาดเล็ก พื้นที่ไม่เกิน 10,000 ตร.ม. และความสูงไม่เกิน 8 ชั้น ที่ไม่เข้าข่ายสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควรเน้นเฉพาะตึกสูงขนาดใหญ่


ด้าน นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การที่คชก.อนุมัติอีไอเอล่าช้า เกิดจากความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย โดยความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้หลายโครงการอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภคต้องแบกภาระดอกเบี้ยและต้นทุนที่สูงขึ้น


โดยในปีนี้มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 5-6 แสนล้านบาท หากโครงการพัฒนาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะการพิจารณาอีไอเอล่าช้าทำให้ไม่สามารถขึ้นตึกสูงได้ ทำให้ผู้ประกอบการหันไปทุบโรงแรมเก่า ตึกเก่า ราคาขายริมถนน 3 แสนบาทต่อตร.ม. ตามแนวรถไฟฟ้า ขึ้นโครงการแทน


พ.ต.อ.บัณฑิต ประดับสุข สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การพิจารณาใบอนุญาตอีไอเอ และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีเกณฑ์และมาตรฐานที่แน่นอน ทั้งๆที่การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเห็นว่า คชก. มีอำนาจมากเกินไปในการพิจารณา โดยคาดว่าปีนี้จะมีโครงการที่รอการอนุมัติอีไอเอราว 72 โครงการ มูลค่าราว 3.5 แสนล้านบาท โดยมาจากโครงการพัฒนาอสังหาฯเป็นอันดับต้นๆ


นายไกร ตั้งสง่า ประธานคณะกรรมการสวัสดิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การพิจารณาอีไอเอมักไม่ต่อเนื่อง กรรมการบางคนขาดความเข้าใจในสาระเนื้องานและไม่ให้โอกาสผู้ประกอบการชี้แจง โดยเห็นว่าสำหรับโครงการสาธารณูปโภคควรมีกรรมการเฉพาะกิจที่มีความเชี่ยวชาญ ควรมีการจัดทำมาตรฐาน หรือ check list เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
นอกจากนี้ วสท.ยังสรุปถึงปัญหาและข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาใบอนุญาตอีไอเอต่อรัฐบาล ดังนี้


1.แก้ปัญหาความล่าช้า ปกติการพิจารณาใบอนุญาตอีไอเอ ใช้เวลา 6 เดือน ความล่าช้าทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงการพัฒนาอสังหาฯจากต้นทุนและราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น หรือภาวะตลาดของผู้ซื้อเปลี่ยนไปแล้ว บางโครงการสาธารณูปโภค เช่น รถไฟสายบางซื่อ-มักกะสัน ใช้เวลาพิจารณาถึง 2 -3 ปี บางโครงการยาวไปถึง 5 ปี ดังนั้นระยะเวลาการพิจารณาควรอยู่ที่ 6-8 เดือน


2. แก้ปัญหาคุณภาพของบุคลากร และมาตรฐานการพิจารณาอนุมัติ เนื่องจากขั้นตอนการพิจารณา หรือบางครั้งบุคลากรขาดความรู้ในโครงการและขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในการพิจารณาโครงการที่มีลักษณะแตกต่างกัน ควรแยกกลุ่มบุคลากรที่พิจารณาอีไอเออาคารชุด ออกจากโครงการสาธารณูปโภค


3. เร่งทบทวนการทำงานของหน่วยงานที่พิจารณาอนุมัติอีไอเอ ให้ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่เลือกปฏิบัติ


4. แก้ไขระเบียบ-กฎหมาย เพื่อการทำอีไอเอให้สมบูรณ์ เช่น บริษัทหรือองค์กร ผู้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องเป็นกลางเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย


5. ภาครัฐต้องทบทวนทำความเข้าใจต่อหลักสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน


นายธงชัย พรรณสวัสดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย เป็นการจัดการบริหารรูปแบบแนวดิ่งคือส่วนราชการจะมีสิทธิขาดในการตัดสินใจ การส่งเสริมองค์ความรู้และธรรมาภิบาลในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และพิจารณาอีไอเอ ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนยังน้อย ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความขัดแย้ง เกิดปัญหาความแตกแยกในสังคมชุมชน และผลกระทบต่างๆ มากมายตามมา ต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ทางสังคม วัฒนธรรม เช่น การอพยพเข้ามาของคนต่างถิ่น ปัญหาอาชญากรรม ก่อให้เกิดปัญหาการดำรงชีพจากผลกระทบที่มีต่อฐานทรัพยากร และที่สำคัญคือทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่


ส่วนในภาคธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมก่อสร้างนั้น ปัญหาอุปสรรคของใบอนุญาตอีไอเอ และรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาจากคุณภาพของบุคลากร ขั้นตอนประสิทธิภาพในการพิจารณา ความโปร่งใสและการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลเสียต่อการบรรยากาศการลงทุน และขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในประเทศ และประชาคมอาเซียน สำหรับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสมีประสิทธิภาพในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจะลงทุน เช่น ระบบขนส่งทางราง รถไฟฟ้า 11 สาย ระบบบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีการออกแบบ พัฒนาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เกิดประสิทธิผลต่อโครงการและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมมากที่สุด