จี้คลังเก็บภาษีนำเข้า'โตโยต้าพริอุส'หมื่นล.

จี้คลังเก็บภาษีนำเข้า'โตโยต้าพริอุส'หมื่นล.

จี้คลังเก็บภาษีนำเข้า "โตโยต้าพริอุส" หมื่นล. ระบุ 5 ปีรัฐฯสูญรายได้กว่า 6 แสนล้านบาท

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ กรรมการและเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ หรือ ภตช. เปิดเผยว่า วานนี้(5มี.ค.)ตนและคณะกรรมการภตช.ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อขอให้ตรวจสอบและเร่งรัดจัดเก็บภาษี กรณีนำเข้ารถยนต์โตโยต้า รุ่นพริอุส ให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้นำชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้า รุ่น พริอุส เข้ามาตั้งแต่ปี 2553-2555 มากกว่า 245 ครั้ง จำนวนกว่า 2 หมื่นคัน และมีการจดทะเบียน 1 หมื่นคัน โดยถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งโตโยต้าได้ยื่นอุทธรณ์และชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2556 และ 31 ก.ค. 57 โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมศุลกากร

ทั้งนี้ การนำเข้าชิ้นส่วนของรถยนต์โตโยต้า รุ่นพริอุส ในครั้งนี้ ทางโตโยต้าได้ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงกับส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) ซึ่งในกรณีนี้หากนำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูป ที่สามารถนำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบเป็นรถยนต์ได้ทั้งคันนั้น หากขออนุญาตจากกรมศุลกากรก่อนนำเข้า จะต้องเสียภาษีในอัตราเพียง 30% เท่านั้น ขณะที่ โตโยต้านำเข้ารถยนต์โตโยต้า พริอุส โดยไม่ได้ขออนุญาต ทำให้ต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 80% ซึ่งคิดเป็นวงเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท

นายมงคลกิตติ์กล่าวว่า สำหรับกรณีดังกล่าว ได้รับการเปิดเผยจาก นายจำเริญ โพธิ์ยอด ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบอากร กรมศุลกากร ตำแหน่งขณะนั้น ยืนยันว่า กรณีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้า รุ่นพริอุส เข้าข่ายนำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูป เพราะมีชิ้นส่วนสามารถประกอบเป็นรถยนต์ได้ทั้งคัน ในชิปเมนท์เดียวกัน ขาดเพียง พรมปูพื้น ล้อแมกซ์ ยาง และอุปกรณ์บางส่วนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากการน้ำเข้ารถยนต์โตโยต้า รุ่นพริอุส เป็นชิ้นส่วน โตโยต้าจะต้องมีไลน์การผลิตรถยนต์รุ่นนี้ในประเทศไทย แต่จากข้อมูลจะพบว่า บริษัทโตโยต้าไม่ได้มีไลน์การผลิตดังกล่าวแต่อย่างใดและจากการสอบถามโชว์รูมขายรถยนต์โตโยต้าแล้วกว่า 20 แห่ง แจ้งว่า หากมีการจองรุ่นนี้บางสีต้องรอนานไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน ถึงจะได้รับรถ

“ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริต ได้ขอให้รมว.คลัง เร่งรัดให้อธิบดีกรมศุลกากรเข้าไปตรวจสอบไลน์การผลิตของโตโยต้า พริอุสให้แน่ชัดว่าการนำเข้าดังกล่าวนั้น เป็นการนำเข้าทั้งคันรถ หรือแยกชิ้นส่วนมาประกอบ โดยขอเวลารมว.คลัง 15 วันในการดำเนินการดังกล่าว หากตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นการนำเข้าทั้งคันรถจะต้องเสียภาษีนำเข้ารวมกับภาษีอื่นๆเช่น ภาษีมหาดไทย และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมในอัตรา 187.75%”เขากล่าว

เมื่อกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะปฏิรูปโครงสร้างภาษี 2 ด้าน ประกอบด้วย 1.การขยายฐานภาษีและอุดรูรั่วไหล และ 2 ลดการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บภาษี ซึ่งกรณีการนำเข้ารถยนต์ดังกล่าว ก็เป็นหนึ่งในกรณีที่ต้องเร่งรัดการตรวจสอบและจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง

ในส่วนการลดการทุจริตนั้น ขอให้กำชับอธิบดีกรมศุลกากรลดการทุจริตภายในกรมศุลกากรให้เหลือน้อยที่สุด เพราะเรื่องการอุดรูรั่วไหลของภาษี และการลดการทุจริตนั้นมีมานานแล้ว แต่ไม่มีใครลงมือทำ เพราะขาดเอกสารหลักฐาน เป็นการสมยอมทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เสียภาษี ทำให้การจัดเก็บภาษีของประเทศรั่วไหล และหากเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของทุกหน่วยจัดเก็บจะทำให้รัฐมีรายได้รวมกว่า 4.8 ล้านล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันเก็บภาษีได้เพียง 1.7-1.8 ล้านล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปีย้อนหลัง พบว่า การสูญเสียรายได้ภาษีจากกรณีรถเกรย์มาร์เก็ตหรือการนำเข้ารถหรูหนีภาษีไปว่า 6 แสนล้านบาทและส่วนใหญ่พบผู้ประกอบการรถยนต์รายใหญ่ ใช้ข้อตกลงกับส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) สำแดงภาษีอัตราต่ำกว่าที่ความเป็นจริง ขณะที่ ปัจจุบันกรมศุลกากรเก็บภาษีส่วนนี้ได้เพียง 1 แสนล้านบาท