ดัชนีหุ้นไทยเสี่ยงผันผวนหนัก

ดัชนีหุ้นไทยเสี่ยงผันผวนหนัก

โบรกเกอร์ เผย ไตรมาส 2 ตลาดหุ้นไทย เตรียมเผชิญหน้ากับความผันผวน ชี้หลากปัจจัยลบรุมเร้าทั้งภายใน-ภายนอกประเทศ

สำหรับการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยวานนี้ (5 มี.ค.) พบว่า ตลาดหุ้นมีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากบริษัทจดทะเบียนเริ่มประกาศผลการดำเนินงานในปี 2557 ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ดัชนีปิดทำการซื้อขายมาอยู่ที่ 1,553.33 จุด ปรับตัวลดลง 9.51 จุด หรือ 0.61% โดยมูลค่าการซื้อขาย 67,024 ล้านบาท

ทั้งนี้เป็นแรงขายของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์2,691.76 ล้านบาท ส่วนอีกสามกลุ่มเป็นการซื้อสุทธิ โดยต่างชาติซื้อ 1,018.12 ล้านบาท สถาบันซื้อ 854.31 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปซื้อ 819.33 ล้านบาท

ด้านนายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยกำลังผ่านจุดที่ดีที่สุดของปีนี้ไปแล้ว เพราะเป็นช่วงที่ไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบตลาดหุ้น แต่หลังจากนี้ โดยตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป จะเริ่มมีหลายปัจจัย ที่เข้ามามีอิทธิพล โดยปัจจัยภายนอกยังเป็นความกังวล โดยเฉพาะการปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ และปัจจัยภายเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐบาลที่ล่าช้า

“หุ้นไทยกำลังจะผ่านช่วงที่ดีที่สุดของปีนี้ไปแล้ว เพราะไตรมาส 1 ถือว่าเป็นช่วงฮันนีมูล ไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบ ดัชนีปรับตัวขึ้นได้ค่อนข้างดี อาจปรับตัวลดลงในระยะใกล้จากกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2557 ลดลงแรงในหลายบริษัท ทำให้เกิดแรงขายหุ้นออกมา”

นายสุกิจ กล่าวว่า ส่วนไตรมาส 2 ตลาดหุ้นไทยจะเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง ทั้งปัจจัยภายนอก การชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทั้งเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าเติบโตน้อยกว่าที่คาด และเศรษฐกิจสหรัฐ เริ่มเจอภาวะการชะลอตัวอีกครั้ง และมีปัจจัยความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐปีนี้ ที่อาจเร็วกว่าที่คาด

รวมถึงความเสี่ยงของการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่ยังล่าช้าโดย 5 เดือนงบประมาณที่ผ่านมาการเบิกจ่าย ไม่ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งปัจจัยด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ ถือว่ามีความสำคัญมากกับเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

เขากล่าวว่า หากการเบิกจ่ายยังล่าช้าเช่นนี้ จะส่งผลต่อการลงทุนโดยรวมของภาคเอกชน ชะลอตัวไปด้วย เพราะไม่มีปัจจัยเข้ามาผลักดันให้กำไรบริษัทจดทะเบียนปรับตัวขึ้นได้ จะกระทบต่อการเติบโตเติบของบริษัทจดทะเบียนในอนาคตให้เติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น

“ส่วนการเข้ามาของเงินทุนต่างชาติในปีนี้ เป็นสิ่งที่ไม่น่าคาดหวัง เพราะภาพรวมของตลาดหุ้นไทย ยังไม่ถือว่าน่าสนใจ ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่ถูกนัก โดยมีราคาปิดกำไรต่อหุ้นคาดการณ์ล่วงหน้าที่ระดับ 15 เท่า แต่ต้องเข้าใจว่าตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่อยู่ในช่วงการฟื้นตัว ทำให้ระดับพี/อี สูงกว่าค่าเฉลี่ย”

ส่วนการปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาระดับ 1,550 จุด ถือว่าเป็นจุดที่น่าสนใจลงทุน การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังสามารถทำได้ หากระดับดัชนีตลาดหุ้นไม่ได้ปรับตัวสูงเกิน 1,650 จุด โดยกลุ่มที่น่าลงทุนในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มสื่อสาร

นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนมี.ค.ที่จัดทำโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ 118.64 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 2.64% เมื่อพิจารณารายกลุ่มนักลงทุน พบว่า กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมากที่สุด มาอยู่ที่ 120 จุด ลดลงจากเดือนก่อน 16.67%

รองลงมากลุ่มสถาบันต่างประเทศ อยู่ที่ 112.50 จุด ลดลง 3.57% และกลุ่มสถาบันในประเทศ 107.69 จุด ลดลง 0.59% ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนรายบุคคลเป็นกลุ่มเดียวที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 119.33 จุด หรือเพิ่มขึ้น 4.80% ปัจจัยที่มีอทธิพลต่อการลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้านั้น นักลงทุนรายบุคคล สถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ให้ความกังวลกับสถานการณ์ต่างประเทศมากที่สุด

ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจในประเทศมากที่สุด ทั้งนี้หมวดอุตสาหกรรมที่น่าลงทุน นักลงทุนรายบุคคลให้น้ำหนักกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 32.8% กลุ่มสือสาร 18.1% กลุ่มการเงิน 16.8% นักลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ ให้น้ำหนักกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 70% กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง 10% กลุ่มการเงิน 10% นักลงทุน สถาบันในประเทศให้น้ำหนักกลุ่มสื่อสาร 53.9% กลุ่มการเงิน 15.4% กลุ่มอุตสาหกรรม 15.4% กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศให้น้ำหนักกลุ่มอสังหารมิทรัพย์ 37.5% กลุ่มอุตสาหกรรม 25% กลุ่มรับเหมาะก่อสร้าง 12.5%

ส่วนกลุ่มที่ไม่น่าลงทุนมากที่สุดนั้น นักลงทุนรายบุคคลมองว่า กลุ่มอาหารไม่น่าลงทุนมากที่สุด 30.3% กลุ่มอุตสาหกรรม 21.4% กลุ่มบริการ 12.2% ขณะที่บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ให้น้ำหนักกลุ่มอุตสาหกรรม 60% กลุ่มอาหาร 10% กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 10%

ด้านสถาบันในประเทศ ให้น้ำหนักกลุ่มอาหาร 30.8% กลุ่มอุตสาหกรรม 23.1% กลุ่มอุปโภคบริโภค 15.4% ขณะที่กลุ่มสถาบันในประเทศให้หลีกเลี่ยงกลุ่มอหาร 50% กลุ่มอุปโภคบริโภค 12.5% กลุ่มการเงิน 12.5%