'มิลล์คอน'หวังรุกโรงไฟฟ้าพม่า

'มิลล์คอน'หวังรุกโรงไฟฟ้าพม่า

"มิลล์คอน" จ่อขายวัสดุก่อสร้างพม่าต้นปี 2559 นำร่องสู่ธุรกิจอื่น “ผู้บริหาร” หวังรุกธุรกิจโรงไฟฟ้า-โลจิสติกส์ เผยอยู่ระหว่างศึกษา

นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ มิลล์คอน เปิดเผยว่า เดือนก.พ. ที่ผ่านมา บริษัทได้รับสิทธิประโยชน์ด้านลงทุนจากหน่วยงานของพม่าแล้ว กรณีที่บริษัทจะเข้าไปตั้งโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท เป็นการร่วมมือกับบริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GEL และบริษัทท้องถิ่น โดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 45% ในพื้นที่ของนิคมทิลาวา โดยจะเริ่มก่อสร้างเดือนมี.ค. และเริ่มดำเนินการช่วงต้นปี 2559

หลังจากการเข้าไปลงทุนในพม่าครั้งนี้ ทำให้บริษัทเห็นว่าโอกาสการเติบโตของพม่า โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทำให้บริษัทคาดหวังสามารถขยายการลงทุน ไปยังธุรกิจเหล่านี้ได้ในอนาคต ปัจจุบันบริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ และเรียนรู้เพื่อให้เกิดความชำนาญในธุรกิจมากยิ่งขึ้น แต่บริษัทยังไม่ได้กำหนดแน่ชัดว่า ต้องสรุปเมื่อใด เพราะต้องการให้ธุรกิจชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้างเป็นไปตามเป้า โดยตั้งเป้าไว้ 3 ปี จะผลิตได้เต็มกำลังการผลิต ช่วยสร้างรายได้ 1,200 ล้านบาทต่อปี

“ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าในพม่า ยังขาดแคลนอยู่มาก เพราะเป็นประเทศที่เริ่มพัฒนา ซึ่งในอนาคตบริษัทหวังว่าจะขยายการลงทุนไปในธุรกิจนี้ได้ ส่วนธุกิจโลจิสติกส์ เป็นสิ่งที่ยังขาดแคลน และขาดประสิทธิภาพ ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งค่อนข้างสูง หากเทียบกับไทย แต่ในอนาคตยังมีช่องว่างในการพัฒนา และแข่งขันทางธุรกิจในด้านนี้อยู่” นายสิทธิชัย กล่าว

ภาพรวมบริษัทปีนี้ จะสามารถพลิกกลับมาเป็นกำไร หลังจากขาดทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ตามทิศทางราคาเหล็กที่ลดลง และความต้องการใช้เหล็กที่น้อยลงอย่างมาก แต่ปีนี้มองว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากจากภาครัฐ หากบริษัทพลิกมีกำไร คาดจะล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 750 ล้านบาท โดยนำกำไรจากการดำเนินงานมาล้างขาดทุนสะสม

“ปีนี้มั่นใจจะพลิกกลับมามีกำไร หลังจากขาดทุนมา 2 ปีซ้อน ตามทิศทางอุตสาหกรรมเหล็กที่ปรับตัวลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่ผลิตเหล็กและขายเพียงอย่างเดียว โดยบริษัทจะนำกำไรที่ทำได้มาล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ และน่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นโดยทันที เพราะเชื่อว่าผู้ถือหุ้นทุกคนก็น่าจะหวังเงินปันผลจากการลงทุนเป็นธรรมดา” นายสิทธิชัย กล่าว
ในอนาคต 3-4 ปีข้างหน้า บริษัทมีแผนที่ปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยเน้นการทำธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามากยิ่งขึ้น และมีราคาที่ผันผวนตามตลาดโลกน้อยกว่าธุรกิจต้นน้ำ โดยบริษัทตั้งเป้าลดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเหล็กเส้น ซึ่งเป็นธุรกิจหลักสัดส่วนกว่า 80% จะลดลงเหลือ 30%

บริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย จำกัด หรือ TSSI ซึ่งบริษัทเข้าซื้อมาจากกรมบังคับคดีแล้ว จะเป็นอีกส่วนหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างบริษัท เพราะบริษัท อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย ผลิตสินค้าที่ต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ อาทิ ยานยนต์ เครื่องจักร โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มีอัตรากำไรดีกว่าผลิตภัณฑ์เหล็กทั่วๆ ไป