สรรพากรเล็งต่ออายุ‘แอลทีเอฟ’

สรรพากรเล็งต่ออายุ‘แอลทีเอฟ’

กรมสรรพากร ลุยตั้งบอร์ดศึกษาสิทธิภาษี “แอลทีเอฟ” หลังจ่อหมดอายุปีหน้า เชื่อเป็นประโยชน์ต่อการออม-ลงทุนของประเทศ

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการพิจารณาปรับปรุงรายการลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาว่า กรมฯได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว โดยได้ดำเนินการศึกษาวิจัยมาแล้วกว่า 2 เดือน คาดว่า จะสามารถประกาศรายละเอียดได้ภายในปีงบประมาณนี้คณะทำงาน จะต้องลงไปศึกษาวิจัยโดยละเอียดว่า ค่าลดหย่อนที่กรมสรรพกร ให้กับผู้เสียภาษี เพื่อบรรเทาภาระภาษีที่รวมกันกว่า 20 รายการ คิดเป็นค่าลดหย่อนรวมประมาณ 1.5-1.6 ล้านบาทต่อคนต่อปีนั้น เป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดมากที่สุด และ จะพิจารณาปรับปรุงให้เพื่อให้ประโยชน์แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้มากที่สุดอย่างไร นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อรายได้ของกรมสรรพากรด้วย

“กรมฯจำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้เสียภาษีหลายกลุ่ม โดยรายการลดหย่อนในปัจจุบันที่มีมากกว่า 20 รายการนั้น จะพิจารณาปรับปรุงให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้รับประโยชน์สูงสุด”เขากล่าวและว่า กรมฯยังจะดำเนินการปรับปรุง แบบรายการยื่นภาษี เพื่อให้ง่ายต่อผู้เสียภาษีอีกด้วย

สำหรับรายการลดหย่อนทางภาษี รายการสำคัญๆที่ต้องมีการทบทวน เช่น การนำรายจ่ายลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ที่สามารถนำรายการลงทุนมาหักลดหย่อนภาษี ได้รายการละเท่ากับ 15% ของเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท รวมเป็นวงเงินลดหย่อนสูงถึง 1 ล้านบาท โดยเฉพาะ LTF ที่ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนได้จนถึงปี 2559 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายประสงค์กล่าวว่า โดยความเห็นส่วนตัว มองว่า LTF ยังเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการออมและการลงทุนในประเทศ เพียงแต่จำเป็นต้องปรับปรุงเงื่อนไขให้เป็นการลงทุนในระยะยาวจริงๆ เนื่องจาก ในปัจจุบัน ใช้ระบบนับเวลาตามปีปฏิทิน การลงทุนใน LTF ไม่ว่าช่วงใดของปี ให้นับเป็นหนึ่งปี ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่ให้คนที่ต้องการใช้เครื่องมือ LTF เพียงเพื่อลดหย่อนภาษี สามารถลงทุนได้สั้นที่สุดเพียง 3 ปี กับอีก 2 วันเท่านั้น

ส่วนการหักค่าใช้จ่ายส่วนตัว ที่ตามกฎหมายกำหนดให้สามารถหักรายจ่าย ได้คนละ 40% ของรายได้ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 6 หมื่นบาทต่อคนต่อปี นั้น กรมสรรพากร ก็จะนำมาพิจารณาว่า การกำหนดรายจ่ายขนาดนี้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

สำหรับการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2558 ที่เริ่มจากเดือนตุลาคมของทุกปี ไปสิ้นสุดในเดือนก.ย.ของปีถัดไปนั้น กรมสรรพากร ได้ปรับเป้าหมายการจัดเก็บภาษี ที่ 1.965 ล้านล้านบาท ซึ่งต่อมาภายหลังกรมสรรพากรได้รับอนุมัติ จากกระทรวงการคลัง ให้ปรับลดเป้าหมายลงมาอยู่ที่ 1.805 ล้านล้านบาท หรือลดลงไป 1.6 แสนล้านบาท อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดย 4 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ กรมฯจัดเก็บรายได้ ได้รวม 4.75 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.6 หมื่นล้านบาท