“Open Data” ‘เปิด’ ข้อมูล ‘เปลี่ยน’ สังคม

“Open Data” ‘เปิด’ ข้อมูล ‘เปลี่ยน’ สังคม

จะดีแค่ไหนถ้าจากนี้ไปเราทุกคนจะเข้าถึง “ข้อมูล”สำคัญของหน่วยงานต่างๆได้ เมื่อความลับที่เคยซ่อนเร้นกำลังจะถูกเปิดเผยเป็นสาธารณะด้วย Open Data

“Open Data เป็นหนทางเดียวที่จะต่อสู้กับคอร์รัปชันได้ ข้อมูลที่เปิดเผยคมยิ่งกว่าดาบ และทำลายคนได้ชัดเจนมาก”

ประโยคคมบาด จาก “ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ” ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่กล่าวไว้ใน “วันเปิดเผยข้อมูลสาธารณะสากล” (International Open Data Day) ซึ่งประเทศไทยจัดขึ้นพร้อมกับ 150 ประเทศทั่วโลก เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

Open Data Day เป็นวันที่กลุ่มคนซึ่งสนใจเรื่องระบบข้อมูลแบบเปิด (Open Data) จากทั่วโลก ร่วมกันจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของการเปิดข้อมูลสู่สาธารณะ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดนโยบาย “เปิดเผยข้อมูล” ทั้งในภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม บนพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน

ทำไมประเทศไทยถึงต้องคุยกันเรื่อง Open Data ทั้งที่ดูก็รู้ว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายนักสำหรับสังคมไทย ดร.วรากรณ์ ชูความสำคัญใน 4 ด้าน ของการมี Open Data ตั้งแต่ สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐได้ สามารถตรวจสอบคอร์รัปชันได้ ช่วยให้ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจดีขึ้น ใกล้ตัวที่สุดก็..ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้

“อย่างที่อังกฤษเขาไปไกลมาก การใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ประชาชนรับรู้หมด ขณะนี้คนอังกฤษสนุกสนานมากในการเข้าไปดูและวิเคราะห์ข้อมูลว่า รัฐบาลมีประสิทธิภาพไหม เร็วๆ นี้ มีรัฐมนตรีลาออกไปคน ผู้ช่วยรัฐมนตรีลาออกไปหลายคน ขณะที่ญี่ปุ่นรัฐมนตรีหญิงต้องลาออก เพราะไปพบว่า มีคนที่อยู่ในทีมเอาเงินบริจาคของประชาชนไปซื้อเครื่องสำอาง ถามว่า เขารู้ได้อย่างไร ก็ด้วย Open Data”

เขาบอกพลังของการเปิดเผยข้อมูล ที่ส่งผลมากๆ ในต่างประเทศ ขณะที่ประเทศไทยเอง ก็เชื่อว่า เครื่องมือตัวเดียวกันนี้ จะช่วยจัดการ “มะเร็งร้าย” ที่เล่นงานบ้านเรามาหลายปี อย่างการ “คอร์รัปชัน”

“คนขี้โกง กลัวความโปร่งใส เหมือนกลัวใบหนาด แต่ใบหนาดมักจะไม่มีหนาม เพราะโดนธนบัตรรูดไปหมดแล้ว จะทำอย่างไรให้ใบหนาดยังทำให้คนกลัวได้อยู่ วิธีการก็คือ การเปิดเผยข้อมูล ซึ่ง Open Data จะเป็นดาบที่คมมากๆ”

จินตนาการง่ายๆ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าจากนี้ไปข้าราชการทุกคน จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของตัวเองและครอบครัว ให้สาธารณชนรับรู้ ในรูปของข้อมูลที่สะดวกต่อการเรียกใช้ อย่าง เป็นซอฟท์ไฟล์ เข้าไปเรียกดูได้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก! ใครที่ส่อ “ร่ำรวยผิดปกติ” สมัยก่อนอาจต้องหลบซ่อนความรวย ด้วยการไป ซื้อพระ ซื้อเหรียญ หรือ ซื้อล็อตเตตอรี่ที่ถูกแล้ว! แต่ไม่ว่าจะมีนวัตกรรมสูงล้ำแค่ไหน ในวันที่มีการเปิดเผยข้อมูล “ทุกขั้นตอน” โอกาสที่คนจะโกง..ลำบากขึ้นแน่นอน

เมื่อการตรวจสอบจะไม่ได้มาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือพลังของประชาชนทั้งประเทศ เหมือนที่เขาพูดติดตลกว่า “ป.ป.ช.” ก็ไม่มีทางสู้ “ประชาชน” ได้

“ผมเชื่อว่า ระบบที่ดี ดีกว่าหวังให้คนที่ดีเข้ามาอยู่ในระบบ การมีระบบที่ดี คนเลวก็ต้องเป็นคนดี เพราะโอกาสโกงไม่มี แต่ว่าถ้าระบบไม่ดี อย่าหวังเลยว่า จะมีคนดีเข้ามา ถึงมีเข้ามา แต่พอเห็นช่องทาง ก็อาจเป็นคนไม่ดีก็ได้” เขาบอกฃ

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ โดยเฉพาะเหล่าข้าราชการ ที่อาจยังกลัวว่า การเปิดเผยข้อมูล จะทำให้ตัวเอง “ดูไม่ดี” และทำให้เห็นความบกพร่อง ทั้งที่อาจไม่มีเจตนาทำไม่โปร่งใสก็ได้ แต่เขาก็ยังยืนยันว่า ถ้าเราไม่ยอมทำอะไรสักอย่างในวันนี้ วันข้างหน้าก็จะไม่เหลืออะไรให้ทำ เพราะประเทศชาติ “ถูกโกง” ไปหมดแล้ว

ขณะที่เขาย้ำว่า Open Data เพียงอย่างเดียวไม่สามารถปราบปรามคอรัปชั่นได้เต็มที่ ถ้าไม่มีการ “วิเคราะห์ข้อมูล” รวมถึงต้องมี “กฎหมาย” และมี “บทลงโทษ” ด้วย

“เรามีความคิดว่า ผู้ใหญ่ในประเทศเรา ติดคุกไม่ได้ เพราะเขาทำความดีมา ต่างๆ นานา แต่ถ้าหันไปดูรอบโลก ประธานาธิบดีเกาหลีไต้ ติดคุกไปสองคนแล้ว ฆ่าตัวตายไปหนึ่ง ประธานาธิบดีไต้หวัน อยู่ในคุกพร้อมภรรยา ประธานาธิบดีเปรู ก็ติดคุก ฉะนั้นเราต้องข้ามความคิดนี้ไปให้ได้ว่า..ใครทำผิด ก็ต้องติดคุก”

ขณะเดียวกัน Open Data ไม่ใช่แค่ดาบแหลมคมที่จะช่วยจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้เท่านั้น ดูตัวอย่าง ที่ “โอม ศิวะดิตถ์” จาก ไมโครซอฟท์ประเทศไทย บอกเล่าให้ฟัง เขายกเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1854 ที่ย่านโซโห กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เกิดโรคระบาดอหิวาตกโรค มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 600 คน ตัวละครสองคนที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในตอนนั้น คือ คุณหมอ John Snow และบาทหลวง Henry Whitehead โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตในพื้นที่ต่างๆ จนพบสาเหตุของโรคระบาดว่า มาจากน้ำ ทำให้เทศบาลหยุดการจ่ายน้ำ และช่วยชีวิตผู้คนได้อีกหลายพันคน

“ทั้งสองท่านใช้เวลา 10 วัน ในการสร้างแผนที่ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จนได้ข้อสรุป และสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้หลายพันคน นี่เป็นตัวอย่างของ Open Data ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีคนใช้มากว่า 160 ปีแล้ว จนสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้จำนวนมาก และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเราดีขึ้นได้”

นอกจากในมุมของคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พลังของ Open Data ยังช่วยให้เราเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น โดยใช้ “ข้อมูล” เป็นเครื่องมือ ซึ่งผลที่ได้ตามมา ก็คือ ก่อเกิด “ธุรกิจใหม่”

“เมื่อคนมีไอเดียสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ คือ จะมี New Startup เกิดขึ้นมากมาย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น” เขาบอก

“นารีรัตน์ แซ่เตียว” ผู้ร่วมก่อตั้ง DOM (ดอม) Start Up น้องใหม่ คือ หนึ่งตัวอย่างในเรื่องนี้ หลังพัฒนา DOM ที่นำข้อมูล “เปิด” จากโซเชียลเน็ตเวิร์ค มาวิเคราะห์ความคิดเห็นในเชิงต่างๆ แล้วนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ขณะที่ แอพพลิเคชั่น “Ask DOM” ก็พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์เชิงสังคม

“สมมติไปโรงพยาบาล แล้วรอคิวนาน คนก็เปิดโซเชียลขึ้นมาบ่น หรือจะแชร์ผ่านแอพพลิเคชัน Ask DOM ก็ได้ ซึ่งความคิดเห็นเหล่านี้ จะถูกรวบรวมแล้วก็ประมวนผลออกมา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับคนอื่นที่กำลังจะเดินทางไปโรงพยาบาลนั้น ขณะที่ผู้บริหารโรงพยาบาล ก็จะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับปรุงแก้ไขบริการของตัวเองด้วย”

มองในมุมของนักพัฒนา เธอว่า จะดีมากถ้าได้นำ คอนเซ็ปต์ Open Data มาใช้ร่วมด้วย อย่างเช่น การดึงข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือแม้แต่หน่วยงานสาธารณะมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น เช่น ทำเป็นแอพพลิเคชันเพื่อการท่องเที่ยวแบบครบวงจร เป็นต้น

“ถ้าคอนเซ็ปต์ Open Data ประยุกต์ใช้กับวงการอื่นได้ ก็จะเกิดผลกระทบต่อสังคมในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านสุขภาพ อย่าง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณะสุขที่เปิดเผยออกมา แล้วองค์กรที่มีหน้าป้องกัน บรรเทา และสร้างเสริมสุขภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือข้อมูลเรื่องระดับน้ำ ถ้ามีการเปิดเผยว่า ปีนี้ระดับน้ำจะเป็นอย่างไร เกษตรกร ก็จะสามารถไปวางแผนการเพาะปลูกได้”

แม้กระทั่งในวงการการศึกษา ที่เธอบอกว่า ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องของตลาดแรงงาน ก็จะสามารถนำมาพัฒนาและสร้างบุคลากรในด้านต่างๆ ให้มารองรับและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานได้

“ในฐานะนักพัฒนาคนหนึ่ง ก็อยากจะเห็นการประยุกต์เอาคอนเซ็ปต์ของ Open Data ไปใช้อย่างจริงจัง เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป”

เธอกล่าวทิ้งท้ายความสำคัญของ “Open Data” เมื่อวันที่ “ข้อมูลเปิด” ก็พร้อม "เปลี่ยน" สังคมของเราให้ดีขึ้น