ลดสถานะยาบ้า ทางแก้'นักโทษล้นคุก'?

ลดสถานะยาบ้า ทางแก้'นักโทษล้นคุก'?

(รายงาน) "กลไกราคาของยาบ้า แม้จะมีการกวาดล้างผู้ค้ารายใหญ่ได้ แต่ราคาต้นทุนกับราคาที่แตกต่างกันมาก จูงใจให้เกิดอุปทานขึ้นมาทดแทนได้อยู่เสมอ"

ปัญหาผู้ต้องขังคดียาเสพติดมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนส่งผลให้เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ต้องขังหญิง


ด้วยเหตุนี้ สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ที่ได้ดำเนินการหาแนวทางแก้ปัญหาผู้หญิงในเรือนจำ ตามโครงการกำลังใจ จึงจัดเสวนาในหัวข้อ "จากวาทกรรมยาเสพติดซ้ำ... สื่อมวลชนกับทางออกปัญหาคนล้นคุก" เพื่อสร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชนต่อปัญหาผู้ต้องขังหญิงล้นคุก

โดยมีบุคคลที่มีบทบาทในกระบวนการยุติธรรม วงการแพทย์และสาธารณสุข มาสะท้อนมุมมองและข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง อันนำไปสู่การแก้ปัญหาผู้ต้องขังหญิงล้นเรือนจำอย่างยั่งยืน


นายจรัล ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นถึงสภาพของปัญหาผู้ต้องขังหญิงที่ไม่เคยลดลงแม้จะมีการใช้มาตรการ "กำปั้นเหล็ก" ทุบกระแทกที่ตัวปัญหาก็ตาม


เขาบอกว่า ในปี 2557 มีจำนวนผู้ติดยาเสพติดประมาณ 1.8 ล้านคน ในปี 2558 คาดว่าผู้ติดยาเสพติดจะมีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ถือเป็นกำลังซื้อที่มหึมา และเป็นตลาดที่บังคับให้ผู้ซื้อต้องซื้อ ส่วนจำนวนคดียาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนศาลนั้น ในปี 2557 มี 3.6 แสนคดี ส่วนในปี 2558 คาดว่าไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนคดี ทั้ง 2 หัวข้อของการสำรวจนี้ ยังไม่นับรวมผู้เสพยา และคดีความที่ไม่เข้าสู่ศาล


นายจรัล บอกว่า ประเทศไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่า กระทรวงยุติธรรมได้รับงบประมาณเฉลี่ยปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 6.1% ของงบประมาณทั้งประเทศ ไม่แตกต่างจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับงบ 10.2% บ่งชี้ถึงความสิ้นเปลืองในการดูแลกระบวนการยุติธรรม


นายพิทยา จินาวัฒน์ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เห็นว่า เครือข่ายยาเสพติดมีบุคคลระดับล่างเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปลาซิวปลาสร้อยที่มักถูกจับกุมได้ง่ายดายกว่าบุคคลระดับบนของเครือข่าย และต่อให้ถูกจับกุมได้ก็สามารถหลุดพ้นได้


ฉะนั้นงบประมาณจึงถูกเบี่ยงเบนมาในการบังคับใช้กฎหมายกับพวกปลาซิวปลายสร้อย แทนที่จะนำไปพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม แล้วสุดท้ายสังคมต้องทนการถูกละเมิดสิทธิจากนโยบายการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรง
นายพิทยา บอกอีกว่า จำนวนผู้ต้องขังหญิงทั้งหมด 44,569 คน คิดเป็น 82.65% ต้องโทษคดียาเสพติด และส่วนใหญ่ผู้ต้องหาที่เป็นกลุ่มชายขอบ ขาดความรู้ โอกาสทางสังคม และมีแนวโน้มกระทำผิด ซึ่งการถูกคุมขังของผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอีกมากมาย


ด้าน นายสังศิต พิริยะรังสรรรค์ หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่องวาทกรรมยาเสพติด พูดถึงช่วงปี 2546 -2557 ที่มีการประกาศสงครามยาเสพติดว่า ก็เข้าใจว่า ปัญหายาเสพติดก่อนหน้านี้ยังไม่เป็นปัญหาที่รุนแรง แต่ว่าการประกาศสงครามนั่นคือต้องการกวาดล้างผู้ผลิต ผู้ค้ารายใหญ่ แต่ผลการจับกุมผู้ต้องหาหญิงในคดียาเสพติด ในปี 2548-2557 กลับพบว่าเป็นผู้จำหน่ายเพียง 16.6% หรือ 21,400 คน เป็นผู้ผลิตเพียง 1,902 คน เป็นผู้ผลิตอายุตั้งแต่ 15 - 19 ปี จำนวน 99 คน และเป็นผู้ผลิตอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 99 คน


ข้อมูลดังกล่าวแสดงว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เด็กอายุต่ำกว่า 15 หรืออายุ 19 ปี จะเฉลียวฉลาดมากพอที่จะเป็นผู้ผลิตยาบ้า นั่นแสดงว่าเรากำลังมีปัญหาการตีความคำว่า "การค้า" จากจำนวนผู้ต้องหาที่จับกุมได้ ส่วนใหญ่เป็นการขายเพื่อให้ตัวเองมีโอกาสซื้อมาเสพเท่านั้น


"ผู้ต้องหารายหนึ่ง ซื้อยาบ้า 2 เม็ดเพื่อนำมาเสพเพียงครึ่งเม็ด หลังจากข้ามพรมแดน จากนั้นพนักงานได้เข้าจับกุม พร้อมของกลางยาบ้า 1.5 เม็ด ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหานำเข้า"


ขณะที่ นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอแนวคิดการตัดกลไกด้านราคาของการผลิตยาบ้า เพราะแม้ว่าจะมีการกวาดล้างผู้ค้ารายใหญ่ได้ แต่ราคาต้นทุนกับราคาที่แตกต่างกันมาก จูงใจให้เกิดอุปทานขึ้นมาทดแทนได้อยู่เสมอ


"องค์การเภสัชกรรม มีความสามารถที่จะผลิตยาบ้าโดยใช้สารเมทแอมเฟตามีน ด้วยต้นทุนการผลิตตัวยา เฉลี่ยเม็ดละ 50 สตางค์ แต่สามารถนำไปขายต่อได้ในราคาเม็ด 200- 350 บาท ซึ่งราคาที่แตกต่างกันนี้เป็นแรงจูงใจ ที่ทำให้เกิดผู้ผลิตรายใหม่ก้าวเข้ามาผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาด"


ด้านผลกระทบของเมทแอมเฟตามีนต่อร่างกายนั้น นพ.อภิชัย ได้ยกการค้นคว้าศึกษาเรื่อง เมทแอมเฟตามีน : ความจริง กับ นวนิยายและบทเรียนของโรคประสาทผวาจากโคเคนรูปผลึก ของ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มาอ้างถึงว่า หลังการให้เมทแอมเฟตามีนกับผู้เข้าร่วมการทดลองนั้นมีการรายงานผลการศึกษาว่า ทำให้กลุ่มตัวอย่างรู้สึกเคลิ้มมากขึ้น และการทำงานของกระบวนความคิด การรับรู้ดีขึ้น ผลเหล่านี้คงอยู่เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ยายังส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิต แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการออกกำลังกายอย่างเข้มงวด


ส่วนผลการศึกษาเกี่ยวกับการนอน โดยรวมแสดงให้เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนในปริมาณมากทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เดาได้ ยาไม่ได้ทำให้คนตื่นตัวหลายวันติดกัน


"เมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองได้ยาหลอกไป ผู้เข้าร่วมจะนอนประมาณ 8 ชั่วโมง แต่เมื่อได้รับยา 50 มิลลิกรัม จะนอนเพียง 6 ชั่วโมง" นี่เป็นส่วนหนึ่งของรายงานวิจัยดังกล่าวที่ศึกษาพบ


ในการศึกษาดังกล่าวยังพบว่า หนึ่งในความเชื่อที่เกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนคือ เป็นสารเสพติดที่ติดได้ง่ายมากกว่าสารเสพติดประเภทอื่น หรือไม่ ผู้ทดลองได้ตั้งเงื่อนไขการทดลองข้อหนึ่ง กล่าวคือ


บุคคลที่ต้องพึ่งพาเมทแอมเฟตามีนจะได้รับตัวเลือกระหว่างการใช้เมทแอมเฟตามีน จะได้รับตัวเลือกระหว่างการใช้ยาระหว่าง 50 มิลลิกรัมหรือเงินสด 5 ดอลลาร์ ผลการวิจัยพบว่าเมื่อเพิ่มจำนวนเงินเป็น 20 ดอลลาร์ แทบจะไม่มีใครเลือกเมทแอมเฟตามีน จึงสรุปได้ว่า โอกาสติดเมทแอมเฟตามีนนั้นไม่แย่อย่างที่ทุกคนกล่าวอ้าง


งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า การติดยาประเภทนี้ไม่ได้แปลกแตกต่างไปจากสารเสพติดประเภทอื่น แม้ผลกระทบร้ายแรงทันทีจากการใช้เมทแอมเฟตามีน อาจถูกทำให้เกินจริง แต่ก็มีผลกระทบด้านลบอย่างแท้จริงที่เกี่ยวข้องกับยาชนิดนี้ ได้แก่ โรคจิตเภทที่มีอาการหวาดระแวง และอาการความดันโลหิตที่ทำให้เส้นโลหิตในสมองแตก แต่ก็เป็นกรณีร้ายแรงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก


กระนั้นก็ตามในช่วงท้ายของการประชุมรับฟังความคิดเห็น ที่ประชุมได้พูดถึงบทบาทของแต่ละฝ่ายในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะบทบาทของตำรวจ ซึ่งเป็นต้นธารกระบวนการยุติธรรมที่ถือเป็นกลไกสำคัญ ในการช่วยเลือกใช้มาตรการอื่นที่มิใช่กระบวนการทางกฎหมายอาญา


รวมไปถึงความเข้าใจถึงความเป็นไปของ "เมทแอมเฟตามีน" ที่มีบริบทต่อสังคมไทยอย่างไร นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นร่วมกันว่าจะเตรียมผลักดันให้มีการคืนสถานะของสารเสพติดชนิดนี้ให้กลับไปเป็น "วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2" เพื่อช่วยผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป