เอกชนเร่งแก้ปัญหา'โลจิสติกส์'ข้ามแดน

เอกชนเร่งแก้ปัญหา'โลจิสติกส์'ข้ามแดน

เอกชนเร่งแก้ปัญหา "โลจิสติกส์" ข้ามแดน หลังเปิดเออีซี เหตุลาว-เวียดนาม ต้องเปลี่ยนหัวลาก ใช้รถพวงมาลัยซ้าย

นายชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม กล่าวถึงปัญหาการขนส่งสินค้าข้ามแดนว่า ขณะนี้ยังเป็นอุปสรรคอยู่มาก เนื่องจากรถจากไทยที่จะขนส่งสินค้าข้ามแดนไปยังลาวและเวียดนามต้องไปเปลี่ยนหัวลาก เนื่องจากรถที่วิ่งในไทยเป็นรถพวงมาลัยขวา ขณะที่สองประเทศดังกล่าวใช้พวงมาลัยซ้าย ทำให้ต้องเปลี่ยนหัวลากที่ปลายสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ฝั่งเวียดนาม โดยจะมีรถเวียดนามมาขนตู้คอนเทนเนอร์เข้าไป อีกจุดที่ต้องเปลี่ยนหัวลาก คือ ด่านนาพร้าว เพื่อเข้าเวียดนาม

"เวียดนาม ทางลาว ยังใช้วิธีนี้ เพราะถือเป็นประโยชน์ของประเทศ ซึ่งจะต้องใช้รถของประเทศเขาในการขนถ่ายสินค้าจากฝั่งไทย อาจมองเป็นการกีดกันการค้าอย่างหนึ่ง แต่ถ้าลาวและเวียดนามปล่อยให้รถจากฝั่งไทยวิ่งเข้าไปอาจจะทำให้ระบบโลจิสติกส์ของประเทศเขามีปัญหา"

นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าข้ามแดน ยังต้องใช้บริการผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทางฝั่งเวียดนาม เพราะชำนาญพื้นที่ และสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ดีกว่าคนไทย


แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการขนส่งสินค้าข้ามแดน กล่าวว่า หากอาเซียน 10 ประเทศรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปีนี้ คาดว่าจะประสบปัญหาในการขนส่งแน่นอน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการสื่อสาร หากคนขับรถพูดภาษาต่างประเทศ อีกปัญหาคือ การรีดไถรถต่างประเทศของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ต้องแก้ไขอย่างเข้มงวด แต่อาจจะทำให้เสียเวลาในการขนส่งสินค้า

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทย เห็นว่า การขนส่งสินค้าในปัจจุบันคล้ายกับการทำตลาดในอาเซียนอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเตรียมความพร้อมอะไรมาก เพียงแต่หลายอย่างต้องใช้เงินเป็นใบเบิกทาง ไม่ว่าจะเปิดเออีซีหรือไม่ก็ต้องเป็นแบบนี้

"ปัญหาหลัก คือเรื่องการเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ ส่วนตัวมองว่า ถ้าหากไม่มีเงินเป็นใบเบิกทาง ก็ทำให้การขนส่งสินค้าช้าลง" แหล่งข่าว กล่าวและว่า การเจรจากับเจ้าหน้าที่ บางครั้งช่วยได้แค่เบื้องต้น แต่การปฏิบัติก็อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือปัญหาคอร์รัปชันที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญ

ส่วนความพร้อมของ จ.นครพนม ซึ่งรัฐกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 1 ใน 10 จังหวัด ได้เตรียมความพร้อมของพื้นที่ไว้หลายจุด เช่น บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 มีพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ที่จะเป็นศูนย์บริการครบวงจร (One stop service) เกี่ยวกับการส่งออกสินค้า พิธีการผ่านแดนต่างๆ ทั้งด่านศุลกากร ด่านกักกัน และเป็นจุดกระจายสินค้า คลังสินค้าที่รถขนส่งสินค้าสามารถมาเปลี่ยนหัวลากหรือพักสินค้าบริเวณดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในพิธีสาร 7 เรื่องระบบศุลกากรผ่านแดนและภาคผนวกทางเทคนิค : กฎเกณฑ์และพิธีการว่าด้วยศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียน ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการผูกพัน ตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้เออีซี โดยไทยถือเป็นประเทศสุดท้ายของสมาชิกอาเซียนที่ลงนามดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาการเมืองในประเทศ

ขอบคุณภาพจาก http://nkpcc.org