Mini MBA ฉบับชาวบ้าน

 Mini MBA ฉบับชาวบ้าน

คนเขาว่าอาชีพเกษตรกรเป็นมรดกตกทอดของความจน ทว่าวันนี้ความเชื่อเก่าๆ กำลังจะถูกปฏิวัติกับหลักสูตรการจัดการชีวิตผ่านตำรา Mini MBA ฉบับ เกษตรกร

“การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) เป็นความฝันปลายทางที่ทุกภาคส่วนต่างคาดหวัง ทว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งนั้นได้ทั้งสังคม จุดสำคัญของการเริ่มต้นต้องมาจากการเปลี่ยนกระบวนความคิด (Mindset) นี่คือพันธกิจสำคัญของ “โครงการพลังปัญญา” ความร่วมมือของ เอสซีจี มูลนิธิมั่นพัฒนา กองทัพบก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ หอการค้าไทย

นี่คือบันไดขั้นแรกที่จะปลุกให้เกษตรกรไทยได้พลิกชีวิตใหม่ พร้อมสลัดความเชื่อมายาคติ ที่ว่า “ความจนเป็นมรดกตกทอด” มาสู่วิธีคิดใหม่และแนวปฏิบัติใหม่ๆ โดยเริ่มจาก ฝึกให้เกษตรกรวางแผนจากความคิด ใช้ “สมอง” แก้ไขปัญหามากกว่า ใช้หัวใจและความขยันเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นไม่ใช่คำตอบของความสำเร็จ แต่ต้องปลุกคนทำเกษตรให้กล้าก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน หันมาสร้างสรรค์อาชีพ หามูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับตนเอง และครอบครัว ก่อนขยายผลไปสู่บ้านใกล้เรือนเคียง สังคม จนประเทศชาติ ในที่สุด

โครงการพลังปัญญา เริ่มหลักสูตรอบรมพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและผู้นำชุมชนใน 2 ภาค ที่ติดอันดับความยากจนของประเทศ คือ ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี 3 โจทย์หลัก คือ พึ่งพาตัวเองได้ ต่อยอดไปสู่สังคม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชาติได้

พวกเขาจึงเริ่มจากใช้ 5 โมดูล มาส่งมอบความรู้ให้กับชุมชน ได้แก่ 1.ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ความคิด ให้หลุดจากกรอบเดิมเพื่อสร้างคุณค่าและทางเลือกใหม่ 2.ศึกษาดูงานจากกระบวนความคิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเอง 3.สร้างความคิดเป็นเหตุและผล 4.พัฒนาเกษตรนักธุรกิจ (Mini MBA) ปิดท้ายกับ 5.ปรับสมดุลชีวิต รู้จักวิเคราะห์ตัวเอง ทั้งด้านเหตุผล ความพอเพียง และความรับผิดชอบ

“รศ.ดร.เฉลิมพล เกิดมณี” นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการสรีรวิทยา ชีวเคมีด้านพืชหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในครูต้นแบบนักวิทยาศาสตร์ที่มาถ่ายทอดการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดของชาวบ้าน โดนจากดำเนินชีวิตบนความเชื่อ และค่านิยมเก่าๆ การตั้งคำถามแต่ในกรอบเดิมๆ ให้มาสู่ทางออกใหม่ๆ ที่จะทำให้เกษตรกร สามารถสร้างรายได้แนวใหม่ที่ให้ทั้ง “คุณค่าและมูลค่า” ทั้งสามารถต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่าง “ไร้คู่แข่ง”

“วัฒนธรรมความเชื่อบางอย่างทำให้เค้า ‘จน’ เพราะไม่กล้าคิดอะไรใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม เขาต้องเปลี่ยนมาออกแบบการทำงานด้วยสมอง รู้จักวางแผนพิมพ์เขียว(Blueprint) มากกว่า ความเชื่อ และหันไปพัฒนาอาชีพอื่นๆ เช่น แปรรูปอาหาร อย่าง กล้วยเบรกแตก ที่ทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ถึง 3 เท่า”

หลังอบรมผ่านไป 3 หลักสูตร จนกระทั่งถึง หลักสูตรการทำธุรกิจ ที่พึ่งพาตัวเองเพื่อแข่งขันกับตลาด ทางโครงการ เลยได้เติมความรู้ทางด้านธุรกิจเข้ามาร่วมด้วย ที่มาของ “Mini MBA” ฉบับเกษตรกร หัวใจสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับคนเกษตร พัฒนาเศรษฐกิจในครัวเรือน ก่อนขยายพลังพัฒนา ให้กับผู้คนรอบข้างและสังคม

“เริ่มจากเกษตรกร ก็มีพลังที่จะสร้างสรรค์ สิ่งดีงามคืนสู่สังคม และประเทศชาติ” เขาบอก

การอบรมปราชญ์ชาวบ้าน ใช้เวลาอบรมหัวข้อละ 2 วัน รวม 12 ครั้ง ซึ่งเน้นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ร่วมคิด แก้โจทย์ ไขปัญหา ขณะที่หลักสูตร Mini MBA ฉบับชาวบ้าน จะช่วยยกระดับเกษตรกรชนชั้นรากหญ้า ให้มาอยู่ในวิถีเดียวกับ นักลงทุน นักธุรกิจ ด้วยพลังของ ความรู้ ความคิด และการแสวงหาโอกาสให้กับตัวเอง

ด้าน “พีระพงษ์ กลิ่นลออ” รองประธานคณะกรรมการจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคม หอการค้าไทย อดีตผู้บริหารเจ้าของสโลแกน “ทิ้งเงินเดือนเรือนแสน เพื่อพัฒนาสังคม” หนึ่งในอาจารย์ผู้สร้างแรงบันดาลใจปลูกพลังปัญญา เล่าให้ฟังว่า หลักสูตร Mini MBA ที่ใช้อบรมในโครงการนี้ คือ รูปแบบของเศรษฐศาสตร์ทางเลือก ที่นำเอาวิถีพุทธเข้ามาเสริมกับความรู้ทางธุรกิจ เพื่อทำให้ชาวบ้านได้เข้าใจตัวเอง และสังคม ได้เรียนรู้จิตวิทยาของมนุษย์ และเข้าใจความต้องการของตลาด

คำตอบของการพัฒนาจึงเป็นการผสมผสาน การเข้าใจตัวเอง และลูกค้าด้วยหลักจิตวิทยา และเข้าใจธรรมชาติของตลาดด้วยวิถีพุทธ

นอกจากนี้ เขายังออกแบบตำรา “การขายด้วยใจ” ซึ่งเป็นแนวคิด การขายที่ยั่งยืน ด้วยการ “รู้ใจ” ผู้บริโภค เข้าใจผลประโยชน์ร่วมกันในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ ผู้ผลิต ผู้ขายและลูกค้า ตลอดจนการตั้งราคา การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงรู้จักแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน สร้างเครือข่ายเพื่อทำให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบถูกลง จนไปสู่การขยายตลาดได้มากขึ้นด้วยพลังของความร่วมมือ

ขณะ “วีนัส อัศวสิทธิถาวร” ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร SCG ผู้สอนหลักสูตรสมดุลชีวิต โมดูลตัวสุดท้ายอธิบายว่า โครงการนี้หวังที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาระดับประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำให้ลดลงได้ เพราะเชื่อว่า แม้แต่วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้น ก็ต้องยอมรับว่า เกิดจากประชาชนที่ขาดโอกาสและความรู้ ขาดการวิเคราะห์ และรู้เท่าทัน

“เราต้องสอนพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้กับเขา เพื่อให้เขาอยู่ดีกินดี ท้องอิ่ม และมีความรู้ จะได้ไม่ต้องหวังพึ่งพาแต่นักการเมืองอย่างเดียว”

เป้าหมายของโครงการดีๆ ที่จะปรับกระบวนความคิดเกษตรกรไทย หวังที่จะอบรมให้ได้ 600 ราย ภายใน 1 ปี เพื่อให้คนกลุ่มนี้ เป็นตัวแทนที่จะขยายผลพลังเครือข่ายไปอีกคนละ 6 หมู่บ้าน ซึ่งนั่นหมายถึง 3,600 หมู่บ้าน คิดง่ายๆ แค่หมู่บ้านละร้อยหลัง ก็เท่ากับว่า จะขยายผลได้หลายแสนครัวเรือนแล้ว

ขณะที่เฟส 2 ของโครงการพลังปัญญา จะเพิ่มความเข้มข้น และท้าทายขึ้น ด้วยการไปสู่การค้าขายบนโลกออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดและโลกยุคดิจิทัล ที่เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตผู้คนยุคนี้อย่างยิ่ง เพื่อยกระดับธุรกิจของเกษตรกรไทย ให้เท่าทันตลาดและโลกยุคหน้า

ปิดท้ายเรื่องราวดีๆ กับ “สังเวียน สองสีขวา” ประธานเครือข่ายป่าชุมชน จังหวัดน่าน ปราชญ์ชาวบ้าน ที่เคยเข้าร่วมคณะปฏิรูปประเทศของ นายอนันต์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้เข้าใจดีถึงกับดักความจนและปัญหาระดับชาติ ที่ฝังลึกในประเทศไทยมานานนี้ โดยเขาได้เข้าร่วมอบรมทุกครั้งที่มีการจัดถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกร จนตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า “พลังปัญญา” นี่แหล่ะ ที่จะไขปัญหาให้เกษตรกรไทย เพื่อที่จะกลับมาประกอบอาชีพด้วย ความคิด และสติ มากกว่าวิ่งปลูกพืชเศรษฐกิจตามใบสั่งของนายทุน ที่จูงใจด้วยราคารับซื้อและการใช้ปุ๋ยเคมี..เท่านั้น

ที่สำคัญวิชา MBA ฉบับชาวบ้านตำรับนี้ ก็คือกุญแจดอกสำคัญ ที่จะทำให้เกษตรกรไทย ได้เข้าใจกลไกตลาด และอยู่ในอาชีพนี้ได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้นในอนาคต