เมื่อเจ้าตูบเป็นโรคมะเร็ง

เมื่อเจ้าตูบเป็นโรคมะเร็ง

วิธีรักษาและข้อแนะนำให้สุนัขของคุณห่างไกลโรคมะเร็ง

วิธีรักษาและข้อแนะนำให้สุนัขของคุณห่างไกลโรคมะเร็ง

สุนัขหรือสัตว์เลี้ยงที่เป็นเพื่อนแท้ของเราเป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ โอกาสที่จะ เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆได้เช่นเดียวกัน มีหลายคนสงสัยว่าสุนัขเป็นมะเร็งได้หรือ ตำตอบก็คือ ได้ เนื่องจากกิจวัตรประจำวัน ความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันหรือเป็นสมาชิกของบ้านเดียวกัน บางครั้งอาหารการกินยังเหมือนกันอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่าโรคภัยไข้เจ็บและโรคมะเร็งจึงคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ยังพบในสัตว์อื่นๆ เช่น นก ปลา หนูแฮมสเตอร์ ความสำคัญมุ่งไปยังพันธุกรรม เช่น พบว่าในสุนัขพันธุ์แท้บางพันธุ์เป็นสาเหตุโน้มนำที่จะเป็นโรคมะเร็งได้ง่ายกว่าพันธุ์ผสม รวมทั้งอายุมีส่วนเกี่ยวข้องสุนัขแก่มักจะพบโรคมะเร็ง มากกว่าสุนัขอายุน้อย

รศ. สัตวแพทย์หญิง ดร.อัจฉริยา ไศละสูตหน่วยปฏิบัติการวิจัยโรคมะเร็งในสัตว์เลี้ยง ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาอุบัติการณ์โรคเนื้องอกในสุนัข ของหน่วย พยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน พบจำนวนของชิ้นเนื้องอกที่ส่งมารับบริการชันสูตร ประมาณ 3000 ราย พบอุบัติการณ์เนื้องอกที่ติดอันดับสูงสุด คือ ผิวหนัง และเนื้อเยื่ออ่อน สูงถึง ร้อยละ 70 และเนื้องอกของเต้านม ร้อยละ 30 ในจำนวนเนื้องอกผิวหนังที่ติด 5 อันดับแรก คือ เนื้องอกของผิวหนังชนิดมาสต์เซลล์ , เนื้องอกของผิวหนัง , เนื้องอกของต่อมข้างรูก้น, มะเร็งของเม็ดสีเมลานิน และ เนื้องอกของผิวหนังชนิดอื่นๆ ซึ่งพบว่าคล้ายคลึงกับรายงานโรคเนื้องอกในประเทศต่างๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่าประเทศเราเมืองร้อนกับประเทศอากาศหนาว สุนัขเป็นมะเร็ง ประเภทเดียวกัน

ส่วนใหญ่เจ้าของรู้สึกกังวล หมดหวัง และถอดใจ เมื่อทราบว่าสุนัขเป็นโรคมะเร็ง เจ้าของสุนัขหลายท่าน เชื่อว่าเมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นโรคมะเร็ง มีทางรอดชีวิตน้อยมาก อายุไม่ยืน ไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งปัจจุบันเราพบว่าหากได้รับการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งควรสังเกตุความผิดปกติในสัตว์เลี้ยงของท่าน และพาไปพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าโรคมะเร็งบางชนิดเป็นชนิดร้ายแรงมีทางรอดน้อยมาก หากเจ้าของได้รับทราบการดูแลสุนัขมีความเจ็บปวดทรมานน้อยที่สุด จะเป็นการบำบัดเหมาะสมที่สุด คงจะทำให้เจ้าของเข้าใจและสบายใจขึ้น การสื่อสารและการทำความเข้าใจของเจ้าของและสัตวแพทย์มีความสำคัญมาก


การวินิจฉัยโรคมีขั้นตอนการวินิจฉัยที่แม่นยำ การตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อทางกล้องจุลทรรศน์ การตรวจทางรังสีวินิจฉัย แนวทางการรักษาด้วยวิธีต่างๆ เช่นทางศัลยกรรม ทางอายุรกรรม เคมีบำบัด การรักษาตาม อาการ และฟื้นฟูสภาพ และการพยากรณ์โรคเช่นเดียวกับทางการแพทย์ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา การรักษาสุนัขป่วยโรคมะเร็งเป็นการรักษาเฉพาะราย เป็นมะเร็งชนิดเดียวกันการรักษา อาจแตกต่างกัน มีความก้าวหน้าในงานวิจัยวิจัยเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง เช่น ในมะเร็งผิวหนังชนิดมาสต์เซลล์ ในสุนัข เป็นมะเร็งที่พบบ่อย มีความรุนแรงสูงมาก ภายนอกอาจเป็นก้อนขนาดเล็กแต่มีความรุนแรง จนทำให้สัตว์เสียชีวิตได้

โดยคณะผู้วิจัยของหน่วยปฏิบัติการวิจัยโรคมะเร็งในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ศึกษาการวินิจฉัย และวางแผนการรักษามะเร็งผิวหนังชนิดนี้ โดยวิจัยในระดับอณูชีววิทยา ไขปริศนาจากเซลล์มะเร็งมาสต์เซลล์ โดยนำเซลล์มะเร็งมาศึกษาการแสดงออกของยีนของตัวรับบนเยื่อหุ้มเซลล์มะเร็งนั้นๆ ซึ่งในสุนัขป่วยแต่ละรายเซลล์มะเร็งมาสต์เซลล์มีความแตกต่างกัน หากมีการ เปลี่ยนแปลงของยีนตัวรับของเซลล์มะเร็งดังกล่าว สามารถใช้ทางเลือกในการรักษาด้วยวิธีที่เรียกว่า เป้าหมายระดับอณู เป็นนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งในสัตวแพทย์แนวใหม่ โดยการตรวจการเปลี่ยนแปลง
ของตัวรับบนเยื่อหุ้มเซลล์นี้ สามารถทำได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของสุนัขที่ป่วยเป็นมะเร็งก่อนการลุกลาม จะทำให้การรักษาได้ผลดี ถึงตอนนี้คงทำให้เจ้าของรู้สึกสบายใจขึ้นบ้าง

ข้อแนะนำให้เพื่อนแท้ของเราห่างไกลโรคมะเร็งกันดีกว่า

เพราะโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีสาเหตุมากมาย ทั้งจากการติดเชื้อไวรัส และไม่ติดเชื้อ จากการสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง หรือสารพิษต่างๆ หรือจากพันธุกรรมซึ่งมีผลทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลง ยังไม่สามารถใช้วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งได้ และสัตว์อายุมากมีความเสี่ยงเหมือนกับทางการแพทย์ สิ่งที่น่าจะเป็นสัญญาณในการเตือนของการเกิดโรคมักจะพบในสัตว์ที่มีอายุ เช่นในสุนัขและแมว ตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป เจ้าของอย่าลืม 3 ข้อคือ

1. พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
2. เมื่อสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติ อ้วนขึ้นหรือผอมลงอย่างผิดสังเกตุ ซึม เบื่ออาหาร เยื่อเมือกซีด ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะผิดปกติ ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์อย่าปล่อยไว้นาน
3. ถ้าพบก้อนผิดปกติบริเวณผิวหนัง หรือตามผิวหนัง ซึ่งท่านสามารถสังเกตุเห็นได้ง่าย แม้ว่าจะเป็นก้อนขนาดเล็ก ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย อย่ารอให้ใหญ่ก่อนแล้วพาไปพบสัตวแพทย์