สรรพากรค้านนิรโทษภาษีเอสเอ็มอี หวั่นรายได้หาย2.7หมื่นล./ปี

สรรพากรค้านนิรโทษภาษีเอสเอ็มอี หวั่นรายได้หาย2.7หมื่นล./ปี

"สรรพากร"ค้านนิรโทษกรรมภาษีธุรกิจเอสเอ็มอีเผยไม่ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจ"เข้าระบบ-มีรายได้เพิ่ม" ขณะที่รัฐสูญเสียรายได้ปีละ2.5-2.7หมื่นล้าน

กรณีภาคเอกชนเสนอกรมสรรพากร ให้ปรับลดอัตราภาษีและนิรโทษกรรมภาษี สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เรื่องนี้กรมสรรพากร ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ว่า กรมสรรพากรรู้สึกกังวล และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคเอกชนเรื่องนี้ เพราะจะไม่ช่วยให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าระบบอย่างถูกต้องแล้ว ยังทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ปีละ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาท

ในอดีตกรมสรรพากร เคยนิรโทษกรรมภาษีให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี 5 ครั้ง หรือ ในระหว่างปี 2520-2534 ด้วยเหตุผลหลัก คือ ผู้ประกอบธุรกิจประสบปัญหาด้านการเงิน ขณะเดียวกัน ต้องการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยการนิรโทษกรรมภาษีดังกล่าว ทำให้ภาครัฐมีรายได้เพียง 1-4 พันล้านบาทต่อปี แต่การลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศยังไม่เห็นผล และพบว่า ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ มีพฤติกรรมเลี่ยงภาษี
สรรพากรยันเรียกเก็บอัตราปกติ

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจอ้างว่า เหตุที่เลี่ยงภาษี เพราะอัตราภาษียังอยู่ในเกณฑ์สูง ประเด็นนี้ กรมสรรพากรชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันอัตราภาษีที่จัดเก็บในผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี หากรายได้ไม่เกิน 3 แสนบาทแรก จะเสียภาษีในอัตรา 0% ส่วนที่เกิน 3 แสนบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาทจะเสียภาษีอัตรา 15% ถือว่าเป็นอัตราต่ำสุดในกลุ่มประเทศเอเชีย กรณีนิติบุคคลรายใหญ่เสียในอัตราต่ำที่ 20% เหตุที่ปรับอัตราภาษีมาอยู่ในระดับนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง ฉะนั้นที่อ้างเรื่องภาษีสูงจึงไม่ใช่เหตุผล

นายประสงค์ กล่าวด้วยว่า หากกรมสรรพากรนิรโทษกรรมภาษี ตามข้อเสนอของภาคเอกชนดังกล่าว จะถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษีรายอื่น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น มนุษย์เงินเดือนที่เสียภาษีอย่างถูกต้องทุกคน และการลดภาษีในอัตราต่ำเฉพาะผู้ประกอบการในไทย ถือเป็นการขัดต่ออนุสัญญาภาษีซ้อน

กรณีที่อ้างว่าการปรับลดภาษีเพื่อให้มีผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมากขึ้น นายประสงค์ กล่าวว่า ตามฐานข้อมูลกรมสรรพากรพบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี 4 แสนราย ใน 6 แสนราย ที่เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง โดยส่วนที่ยังไม่เข้าระบบ จัดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มที่เตรียมเป็นบริษัทร้าง 2.กลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อออกใบกำกับภาษีปลอม 3.กลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกเพียงครั้งเดียวและปิดทิ้งบริษัท และ 4.กลุ่มที่ตั้งใจจดทะเบียนไว้ แต่ไม่มีรายได้ และบางส่วนมีรายได้แต่ไม่บันทึกและยื่นงบเปล่า

ชี้ตีกรอบกลุ่มนิรโทษกรรมภาษีกินพื้นที่96%

"ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี 4 แสนรายนี้ คิดเป็นรายใหญ่กว่า 3 พันราย และหากคิดเป็นกรอบรายได้เกิน 300 ล้านบาทต่อปี จะหักไปอีก 10-15% จะเหลือกว่า 3 แสนกว่ารายที่เป็นเอสเอ็มอีจริงๆ และถ้าตีกรอบในกลุ่มที่ขอให้นิรโทษกรรมภาษี จะกินพื้นที่ถึง 96% และกลุ่มนี้ทั้งหมดได้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ใช่ประเด็นที่อ้างว่า หากลดภาษีหรือนิรโทษกรรมภาษี จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น" นายประสงค์ กล่าว
จากการศึกษาของไอเอ็มเอฟ ระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีธุรกิจที่ยังไม่เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 9% ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปมีสัดส่วนสูงถึง 28%

"ทุกวันนี้กรมสรรพากร ได้ใช้ระบบการกำกับดูแลกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี ในลักษณะที่เดินหน้าไปด้วยกัน กล่าวคือ จะไม่จัดเก็บภาษีย้อนหลัง หากพบว่า ปัจจุบันเสียภาษีอย่างถูกต้องแล้ว ลักษณะการกำกับเช่นนี้ จะไม่ต่างอะไรกับการนิรโทษกรรมภาษีทั้งประเทศ เพียงแต่กรมฯไม่ได้ออกเป็นลักษณ์อักษรเท่านั้น"นายประสงค์ กล่าว

กรณีภาคเอกชนอ้างถึงเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เรื่องนี้ปลัดกระทรวงการคลังชี้แจงว่า กระทรวงการคลังได้สนับสนุนแบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่ โดยแม้แต่เอสเอ็มอีที่ไม่มีสินทรัพย์ หรือหลักประกัน ก็สามารถเข้ามาขอกู้เงินได้โดยมีแบงก์รัฐช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ แต่การเข้ามาขอสินเชื่อยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

เชื่อเอื้อประโยชน์"เอสเอ็มอี-รัฐ"

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แสดงความเห็นต่อข้อเสนอการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ภาคเอกชนนำเสนอต่อ กรอ.ที่ผ่านมา ทั้งมาตรการลดภาษีนิติบุคคลให้เหลือ 5-15% รวมถึงมาตรการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง โดยยืนยันว่า เป็นนโยบายที่ดี "เกาถูกที่คัน" เอื้อประโยชน์ต่อทั้งเอสเอ็มอี และรัฐบาล

"เชื่อเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้ต้องการหลบเลี่ยงภาษี ทุกคนต้องการทำให้ถูกต้อง เพราะการหลบเลี่ยงภาษีมีความยุ่งยาก และเหนื่อย แต่ด้วยความที่ส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่ยากต่อการทำกำไรอยู่แล้ว ทำให้เมื่อต้องจ่ายภาษีในฐานภาษีที่สูง ธุรกิจจึงอยู่รอดยาก ส่วนหนึ่งเลยเลือกที่จะหลบเลี่ยงภาษี"

ขณะที่นโยบายลดภาษี รวมถึงการนิรโทษกรรมเอสเอ็มอีรายที่เลี่ยงภาษี เชื่อว่าจะทำให้เอสเอ็มอีที่เคยเลี่ยงภาษี กลับเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น และทำให้เอสเอ็มอีพร้อมที่จะเสียภาษีให้ถูกต้องมากขึ้น เมื่ออยู่ในระดับภาษีที่เขาพร้อมจะจ่าย รัฐบาลจะได้ฐานผู้เสียภาษีที่กว้างขึ้น

"เอสเอ็มอีเขาพร้อมกลับเข้าสู่ระบบและทำให้ถูกต้องอยู่แล้ว ถ้าไม่แบกรับภาระภาษีที่หนักเกินไป รัฐบาลเองก็จะได้ฐานภาษีที่กว้างขึ้นด้วย มองว่าวิน-วินทั้งคู่"

หนุน"ลดภาษี"ดึงเอสเอ็มอีเข้าระบบ

ส่วนประเด็นนิรโทษกรรมเอสเอ็มอีที่เลี่ยงภาษี มีข้อกังวลจากรัฐบาลว่า อาจจะผิดเงื่อนไขทางกฎหมาย เขามองว่ากฎหมายเป็นเรื่องของรัฐบาล รัฐบาลเป็นผู้ออกกฎ จึงอยากให้เป็นการพิจารณาของรัฐบาลว่า มีโอกาสแก้ไขได้ไหม หากรัฐบาลกังวลว่าจะเก็บภาษีได้ลดลง ก็อยากให้รัฐบาลไปพิจารณาโดยชั่งน้ำหนักดูว่า ฐานภาษีที่หายไป ทำให้รายได้ของรัฐลดลงนั้น หากเอสเอ็มอีที่ไม่เสียภาษีในอดีต กลับเข้าสู่ระบบและจ่ายภาษีถูกต้องมากขึ้น มีฐานภาษีที่กว้างขึ้น จะทำให้รัฐได้ประโยชน์มากกว่าหรือไม่

"ตอนนี้มีเอสเอ็มอีจ่ายภาษีในระบบ 7-8 แสนราย จากทั้งหมด 2.7 ล้านราย คำนวณง่ายๆ ว่า ถ้ามาตรการนี้ออกมา ทำให้เอสเอ็มอีนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบได้ 5 แสนราย จะเป็นรายได้กลับเข้าสู่รัฐมหาศาลแค่ไหน ถ้าคิดในเชิงยุทธศาสตร์ ผมมั่นใจว่า เอสเอ็มอีกลับเข้าระบบมากขึ้นแน่ๆ เพราะผู้ประกอบการไม่ต้องการหลบเลี่ยงภาษี สู้ทำให้ชัดเจนไปเลยเหนื่อยน้อยกว่า เชื่อว่ากรณีมาตรการนี้ จะทำให้กลุ่มที่อยู่ใต้ดิน กลับมาอยู่บนดินมากขึ้น จึงอยากให้รัฐพิจารณาในเรื่องนี้"