ฟ้อง'ยิ่งลักษณ์'6แสนล้านชดเชยจำนำข้าวเจ๊ง

ฟ้อง'ยิ่งลักษณ์'6แสนล้านชดเชยจำนำข้าวเจ๊ง

ป.ป.ช.ลงนามชง"คลัง"วันนี้ ฟ้องแพ่ง"ยิ่งลักษณ์" 6 แสนล้าน เรียกชดเชยจำนำข้าวเจ๊ง "ปานเทพ"ระบุคลังเลี่ยงดำเนินการไม่ได้ เหตุมีกฎหมายมัดไว้

ด้านกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจ่อปรับหลักการใหม่ระบบเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครส.ส.สังกัดพรรค-กลุ่มการเมือง หวังสกัดนักการเมืองศรีธนญชัยหาช่องส่งนอมินีลงสมัครอิสระ ก่อนควบรวมส.ส.ในสภา ขณะ"ศาลทหาร"ให้ประกันมือแพร่แถลงการณ์ปลอมแล้ว


นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ให้ประเมินความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ในคดีอาญาของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เพื่อแจ้งให้พิจารณาความเสียหายในคดีอาญา นางสาวยิ่งลักษณ์ ตามที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดในคดีอาญาไปเรียบร้อยแล้ว ฐานละเว้นก่อให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ตามมาตรา 73/1 วรรคท้าย ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้ ป.ป.ช.ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการคลัง ที่เป็นหน่วยงานรับค้ำประกันเงินงบประมาณในโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว ดังนั้น เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น กระทรวงการคลังก็ต้องไปดำเนินการเรียกร้องความเสียหายนั้นคืนกลับมา


ส่วนฐานของความเสียหายนั้น นายปานเทพ กล่าวว่า ป.ป.ช.จะส่งสำนวนที่ชี้มูลความผิด โดยในสำนวนดังกล่าวมีการระบุถึงฐานความเสียหายของการปิดบัญชี ตั้งแต่ครั้งที่ 3 ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีการปิดบัญชีโดยกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่าสูงถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังมีตัวเลขละเอียดทั้งหมดอยู่แล้ว อาทิ ตัวเลขของการลงไปตรวจสอบข้าวเสื่อมคุณภาพ ตรงนี้จะรวมไปทั้งหมด ทั้งนี้จะได้ลงนามหนังสือในวันที่ 18 ก.พ.นี้ ก่อนจะส่งไปถึงกระทรวงการคลัง และส่งสำนวนการไต่สวนไปพร้อมกันด้วย


"เป็นการแจ้งไปตามคดีอาญา ก็คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ เพียงคนเดียว จากนั้นกระทรวงการคลังจะได้พิจารณาว่า มีบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องร่วมอีกหรือไม่ ก็จะได้พิจารณาเพิ่มเติมอีก ส่วนตัวเลขความเสียหายกระทรวงการคลังประเมิน ต้องไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท เป็นไปตามสำนวนการไต่สวนที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดไป"
นายปานเทพ กล่าวอีกว่า การเรียกร้องความเสียหายกรณีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวนั้น มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งตัวเลขในกรณีนี้ยึดในการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวครั้งที่ 3 เป็นหลัก คือประมาณ 3.2 แสนล้านบาท แต่ในการปิดบัญชีครั้งล่าสุดนั้น ตัวเลขสูงถึง 6 แสนล้านบาท


ปปช.ชี้"คลัง"เลี่ยงฟ้องจำนำข้าวเจ๊งไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากกระทรวงการคลังไม่ประเมินความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวและฟ้องแพ่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ จะทำได้หรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องทำ เพราะกฎหมายระบุว่า ให้ ป.ป.ช.ส่งรายงานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเกิดความเสียหาย ซึ่งหมายถึงกระทรวงการคลังเอง ดังนั้น กระทรวงการคลังในฐานะผู้ค้ำประกันโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด ถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายระบุไว้


“กฎหมายไม่ได้ระบุกรอบเวลาที่จะให้กระทรวงการคลังดำเนินการประเมิน แต่ทางกระทรวงการคลังได้เตรียมเรื่องเอาไว้แล้ว คงสามารถดำเนินการได้ทันที”


แยกประเมินความเสียหายคดี"จีทูจี"
นายปานเทพ ยังกล่าวถึงกรณีการเรียกร้องค่าเสียหายในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในคดีอาญาของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก รวม 21 ราย ว่า ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาประเมินความเสียหายเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามฐานความผิดในคดีอาญา ส่วนเอกชนกว่า 100 ราย ที่ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดในกรณีนี้นั้น ไม่ได้ส่งให้กระทรวงการคลังเรียกร้องความเสียหายด้วย เพราะเป็นการทำสำนวนแยกกัน


ผู้สื่อข่าวถามว่าตัวเลขคดีระบายข้าวจีทูจี ประเมินจากส่วนไหน นายปานเทพ กล่าวว่า ประเมินจากคดีระบายข้าวอย่างเดียว ซึ่งเป็นความเสียหายกรณีซื้อแพงขายถูก ก็ให้กระทรวงการคลังดำเนินการคิดค่าเสียหาย เป็นคนละส่วนกับของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ดูภาพรวมทั้งหมด


ทนายย้ำ"ยิ่งลักษณ์"สู้คดีไม่หนี
ขณะที่นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ให้รับผิดชอบคดีรับจำนำข้าว กล่าวถึงกรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องไปรายงานต่ออัยการสูงสุด เพื่อนำตัวไปส่งฟ้องคดีรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 19 ก.พ.หรือไม่ว่า ตามหลักกฎหมายแล้ว นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปศาลฎีกาฯ ในวันดังกล่าว เนื่องจากเป็นเพียงวันนำตัวไปส่งฟ้อง กฎหมายไม่ได้ระบุว่า ต้องเดินทางไปรายงานตัว


"หาก นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่เดินทางไปรายงานตัวในวันที่ 19 ก.พ.ก็ไม่มีผลเสียต่อรูปคดี เพราะข้อกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ว่า ต้องไป แต่หากหลังจากศาลฎีกาฯ รับฟ้อง และนัดให้ไปขึ้นศาลนัดแรก ก็จำเป็นต้องเดินทางไป ถ้าไม่ไปก็อาจมีผลเสียได้ ยืนยันว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ พร้อมจะต่อสู้คดีแน่นอน ไม่คิดหลบหนี หรือขอลี้ภัยแต่อย่างใด"


อนุกมธ.กลับลำ-ให้ผู้สมัครส.ส.สังกัดพรรค
ด้านความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายสุจิต บุญบงการ รองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่สาม (ระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี, รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี) กล่าวว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเมืองยอมรับว่ามีการปรับเนื้อหาใหม่ เช่น กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง จากเดิมที่กำหนดให้ลงสมัครได้โดยอิสระ ทั้งนี้มีเหตุผลสำคัญเพื่อตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับผลการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวนส.ส.ในสภา นอกจากนั้นเมื่อกำหนดให้มีส.ส.บัญชีรายชื่อแบบรายภาค จำนวน 6 ภาค หากไม่ได้กำหนดให้สังกัดพรรคอาจมีความลักลั่นต่อการได้มาซึ่งส.ส.ได้


ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า เหตุผลที่ปรับให้ผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง และไม่ให้ส.ส.แบบพรรคการเมืองควบรวมกับส.ส.แบบกลุ่มการเมืองนั้น เพื่อป้องกันนักการเมืองจำพวกที่เรียกว่าศรีธนญชัย หาช่องให้ได้ส.ส.โดยไม่เป็นไปตามหลักการ ทั้งนี้ยอมรับว่าเป็นไปตามข้อสังเกตของคณะกมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช. เป็นประธาน ที่ระบุว่ามีช่องทางที่ทำให้บางพรรคการเมืองมีแนวทางส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นนอมินีพรรคการเมืองลงสมัครแบบอิสระในเขตเลือกตั้ง และส่งนักการเมืองสังกัดพรรคลงแบบเขต จากนั้นหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จจะนำส.ส.ที่ได้มารวมกัน จึงถือเป็นการอุดช่องว่างดังกล่าว


ส่วนนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าสำหรับข้อทักท้วงของตัวแทนพรรคการเมืองนั้น กมธ.จะนำมาพิจารณาและปรับปรุง เช่น การบล็อกโหวตบุคคลที่ทำหน้าที่ประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ และการถอดถอนเป็นต้น ส่วนประเด็นการสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมืองนั้น ยอมรับว่าจะมีกลไกอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายดังกล่าว
"ประยุทธ์"ลั่นไม่ปรองดอง-ไม่เป็นศัตรูใคร


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมพูดคุยเพื่อหาทางออก ตามข้อเสนอของนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า “ทำไมผมต้องไปปรองดองกับใคร ผมไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ผมเข้ามาทำหน้าที่ของผม ผมเข้ามาควบคุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน มาแก้ปัญหาที่บกพร่องอยู่โดยใช้กลไกของกฎหมายกระบวนการยุติธรรม แล้วทำไมผมต้องปรองดองกับใคร การปรองดองเป็นเรื่องของทุกคน ทุกกลุ่มอยู่แล้ว"


ศาลให้ประกันมือแพร่แถลงการณ์ปลอม
ที่ศาลทหารกรุงเทพ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เปิดเผยว่า มาที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว นายกฤษณ์ บุดดีจีน ผู้ต้องหาเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวัง ฉบับที่ 13 ปลอม โดยนำหลักทรัพย์เป็นเงินสด 4 แสนบาท พร้อมยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพมหานคร


นายวิญญัติ กล่าวว่า ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว เมื่อพนักงานสอบสวนไม่คัดค้าน และหลักประกันที่ผู้ขอประกันยื่นต่อศาลน่าเชื่อถือ จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ตีราคาหลักประกัน 4 แสนบาท