“เพื่อสังคม” ดีเอ็นเอ ตระกูล “ตั้งสิน”

“เพื่อสังคม” ดีเอ็นเอ ตระกูล “ตั้งสิน”

พวกเขาเชื่อในการทำดี มีวิถีปฏิบัติคือการให้กับสังคม โดยไม่ต้องรอให้ธุรกิจยิงใหญ่ หรือมีกำไรล้นกระเป๋านี่คือ “ดีเอ็นเอ” ตระกูลตั้งสิน

พวกเขารับอุปการะและให้การศึกษาเด็กด้อยโอกาสไปแล้วกว่า 400 คน หลายคนพลิกชีวิตมามีหน้าที่การงานที่ดี ขณะที่บางคนก็มีดีกรีเป็นถึง "ดร."

โรงแรมและชุมชนร่วมทำบุญด้วยกันทุกปี ขณะเทศกาลสำคัญ คือ ประเพณีทิ้งกระจาด บริจาคข้าวสารอาหารแห้ง และยารักษาโรค ให้กับผู้คนรอบข้าง นับ 1,500 ชุด

เป็นโรงแรม 5 ดาว ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ คือ ชาวต่างชาติ แต่วันเด็กของทุกๆ ปี เด็กน้อยด้อยโอกาสจะได้รับเกียรติเป็นแขก “วีไอพี" ของที่นี่

นี่คือตัวอย่างวิถีปฏิบัติเพื่อสังคมของ “ตระกูลตั้งสิน” ผู้ให้กำเนิด “โรงแรมแม่น้ำ” โรงแรมสำหรับคนไทยแห่งแรกที่มีลิฟท์ให้บริการ เมื่อ 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมา (ปัจจุบัน คือ โรงแรมรามาดา พลาซ่า แม่น้ำ ริเวอร์ไซด์)

วันนี้ธุรกิจอยู่ในมือของคนรุ่น 2 ขณะที่ทายาทรุ่น 3 ก็เริ่มเข้ามาเรียนรู้ธุรกิจบ้าง ทว่า “วิถีปฏิบัติ” ซึ่งยึดมั่นมาตั้งแต่คนรุ่นหนึ่ง ก็ไม่ได้หล่นหายไปในการเข้ามาเชื่อมต่อของทายาท

“เจนหนึ่ง ก็สไตล์คนจีนทั่วๆ ไป คือ ชอบทำบุญ ชอบอุปการะเด็ก ชอบช่วยเหลือคนยากคนจน ก็ทำอยู่เรื่อยๆ นะ จนมาเจนสอง เราก็ทำออกมาให้เป็นระบบมากขึ้น คือ ทำเป็นรูปมูลนิธิชัดเจน ใช้ชื่อ ตั้งสินอุปถัมภ์”

“เดชา ตั้งสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม่น้ำ เรสซิเดนท์ จำกัด ทายาทรุ่น 2 ของตระกูลตั้งสิน ผู้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดตั้ง “มูลนิธิตั้งสินอุปถัมภ์” ของครอบครัว เมื่อหลายปีก่อน บอกเล่าที่มา ก่อนอธิบายพันธกิจสำคัญของมูลนิธิฯ ให้ฟังว่า รับอุปการะเด็กด้อยโอกาส จากสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าและยากจน วัดสระแก้ว จังหวัดอ่างทอง เพื่อให้ได้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือจนจบมัธยมปลายไปจนถึงมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องใช้ทุนคืน และไม่มีเงื่อนไขผูกมัด

“ที่มุ่งไปที่กลุ่มเด็ก เนื่องจากคุณพ่อ (อาจิน ตั้งสิน) ท่านมีความคิดว่า การสร้างคน แล้วให้คนช่วยเหลือตัวเองนั้น จะเป็นห่วงโซ่ที่ถาวร ต่างกับการให้เพียงอย่างเดียว แล้วปีหน้าก็ต้องให้ใหม่ไปเรื่อยๆ แบบนั้น..ไม่ยั่งยืน ท่านยังเชื่อว่า การให้ที่ดี คือ ให้ความรู้ ให้การศึกษา และวิธีการดำเนินชีวิตกับเขา”

ขณะที่หนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างคนในแบบมูลนิธิตั้งสินฯ คือ มุ่งสอนเรื่อง “คุณธรรม” เพื่อไม่ให้เด็กๆ แค่เรียนจบ มีการศึกษา ทว่าต้องมี คุณธรรม ติดตัวพวกเขาไปด้วย ที่มาของการ อบรม สั่งสอน อย่างเป็นระบบ โดยมีอาจารย์ผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด

“การเลี้ยงเด็ก ต้องเลี้ยงด้วยใจนะ ทำบุญใช้เงินไม่ยาก แต่นี่ต้องใช้แรงใจ ใช้ความคิด และเวลา” เขาบอก

ไม่เพียงแค่การตั้งมูลนิธิอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นปณิธานว่า พวกเขาจะรับอุปการะเด็กสืบเนื่องต่อไปไม่ว่าจะผ่านมากี่รุ่น และมูลนิธิจะยังยั่งยืนได้ จึงจัดทำโมเดลในการหาเงินเข้ามูลนิธิที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่การรับบริจาคจากภายนอก แต่เป็นการตัดส่วนหนึ่งจากรายได้ของธุรกิจมาใส่ในมูลนิธิฯ ตามอัตราส่วนของผู้ถือหุ้น โดยไม่ต้องรอว่า กำไรมากก่อนแล้วค่อยทำให้สังคม แต่สามารถดำเนินทั้งสองเป้าประสงค์ “ธุรกิจ-สังคม” ไปพร้อมกันได้

เวลาเดียวกับการสร้างสุขให้สังคม หนึ่งความสุขที่จะลืมไม่ได้ ก็คือเหล่า “พนักงาน” ของพวกเขา เดชา บอกเราว่า ธุรกิจโรงแรมอยู่ได้ด้วยการบริการ และการบริการก็เกิดได้เพราะคน ฉะนั้นพนักงานทุกคนต้อง “มีความสุข” ในการทำงาน เพราะถ้าไม่สุขแล้ว ก็คงไม่สามารถไปบริการให้ลูกค้ามีความสุขได้

“ตลอด 30 ปี ในการดำเนินธุรกิจ เราเจอวิกฤติมาแล้วทุกรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติรูปแบบไหน ที่นี่ก็ไม่เคยให้ใครออก ไม่เคยเลิกจ้าง เพราะถือว่ามีอะไรก็ต้องช่วยเหลือกัน ขณะที่ผลประโยชน์ที่ให้พนักงานก็ต้องเป็นธรรม มีความสัมพันธ์ทางใจต่อกัน สิ่งเหล่านี้ ทำให้เราสามารถรักษาคนไว้ได้ และหลายคนที่อยู่กับเราจนเกษียณเลยก็มี”

‘ทำงานระบบฝรั่ง ใช้ความสัมพันธ์แบบครอบครัว’ คือแนวคิดในการบริหารคนแบบตั้งสิน ขณะที่หนึ่งบรรยากาศคุ้นชินของที่นี่ คือ การที่ผู้บริหารระดับสูงและเหล่ากรรมการ ไปทานอาหารในห้องอาหารของพนักงานทุกวัน เขาบอกว่า ไม่ใช่กุศโลบายที่ทำเพื่อให้พนักงานรู้สึกว่า “เข้าถึงได้” แต่เป็นวิถีปฏิบัติของครอบครัว ที่ค่อนข้างสมถะ และเรียบง่าย

“บางคนบอกว่า อุปการะเด็กขนาดนี้ ทำบุญขนาดนี้ ถ้าไปซื้อรถเบนซ์คงจอดเรียงกันได้ไม่รู้กี่สิบคันแล้ว ไปซื้อรถเบนซ์ไม่ดีกว่าหรือ ผมกลับคิดว่า ไม่จำเป็น เราก็อยู่กันแบบตามสมควร มีความสบาย ใจสงบ เท่านี้พอแล้ว ที่เหลือก็ให้สังคม นี่เป็นความคิดที่จะดำรงชีวิตในอีกมุมหนึ่ง” เขาบอก

สิ่งที่ปลูกฝังในคนรุ่นหนึ่ง ถูกส่งทอดไปยังคนรุ่นสองเหมือนพิมพ์เขียว ขณะที่คนรุ่นสามก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง จากครอบครัวของพวกเขา เช่นกัน

โดยเจนสองของครอบครัวตั้งสินมี 7 ชีวิต ขณะที่เจนสามมีประมาณ 13 คน ซึ่งเริ่มเข้ามาดูแลธุรกิจแล้ว 4-5 คน

สองคนในนั้นคือ “เดชโรจน์” และ “โชติกา” ลูกชายและลูกสาวของเดชา วัย 28 ปี และ 26 ปี ตามลำดับ

เดชโรจน์ มีดีกรี วิศวะจุฬาฯ คณะเดียวกับผู้เป็นพ่อ เคยทำธุรกิจด้วยทุนของตัวเองตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลว่า “อยากซื้อประสบการณ์” ขณะที่ โชติกา เรียนปริญญาตรี บัญชี จุฬาฯ ก่อนไปคว้าปริญญาโทด้านการตลาดจากประเทศ อังกฤษ

เด็กรุ่นใหม่ วัยไม่ถึง 30 เกิดมาในตระกูลที่มั่งมี แต่มาดูวิธีคิดไม่ธรรมดาของพวกเขา

“ถึงแม้ว่า จะมีเงินเท่าไร แต่คุณพ่อท่านก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ยังนั่งรถไปกลับที่ทำงาน กินข้าว ติดดินเหมือนเดิม แล้วจะให้พวกเรา มีรถสปอร์ตหรูๆ หรือใช้ทุกอย่างที่มากกว่าท่าน ก็คงไม่ใช่”

โชติกา บอกที่มาของการใช้ชีวิตเรียบง่ายที่กลายเป็นหนึ่งในดีเอ็นเอของตระกูลตั้งสิน เช่นเดียวกับพี่ชาย ที่บอกเราว่า ไม่ได้ซื้อของแพงๆ หรือติดแบรนด์เนม แม้แต่นาฬิกาเท่ๆ สักเรือน เขาก็ยังไม่พก เพราะสิ่งหนึ่งที่ได้รับการสั่งสอนมาโดยตลอด คือ ต้องไม่ไปตามความอยากของตัวเอง

แม้วันนี้ธุรกิจของครอบครัว มีเหล่า “มืออาชีพ” คอยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงขับเคลื่อนองค์กรอยู่แล้ว แต่ในสถานะของทายาท พวกเขาก็พร้อมสืบสานธุรกิจและอุดมการณ์ของครอบครัวให้สืบเนื่องต่อไปในอนาคต ซึ่งไม่เพียงแค่ความสำเร็จในการดำรงอยู่ของธุรกิจเท่านั้น ทว่ายังรวมถึง วิถีปฏิบัติเพื่อสังคมแบบตระกูลตั้งสินด้วย

“ถ้าเราทำธุรกิจ มีกำไร แล้วต้องรอให้เราใช้ให้เต็มที่ก่อน ถึงจะแบ่งให้คนอื่น ก็เหมือนกับว่า เราต้องรอให้เหลือก่อนแล้วถึงจะให้ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถทำธุรกิจไปด้วยขณะเดียวกันก็แบ่งกำไรให้คนอื่นที่เขาไม่มีไปด้วยได้ ซึ่งพวกเรามองว่า อย่างหลังดีกว่า ก็ตั้งใจจะให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ”

โชติกา สะท้อนความคิด ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่มีต่อธุรกิจของครอบครัว

ขณะที่ เดชโรจน์ ก็แบ่งปันแนวคิดที่ซึมซับมาจากคนรุ่นพ่อ

“เมื่อพูดถึงการบริจาคจะมีอยู่สองอย่าง คือ ให้เงินกับให้แรง ถ้าจะเอาง่ายเข้าว่า ก็แค่บริจาคแล้วจบไป แต่ที่ผมสังเกตเห็นมาตลอดคือ ที่บ้านเราไม่ได้ให้แค่เงิน หรืออะไร แต่ทุกคนต่าง ‘ลงแรง’ ซึ่งผมเห็นด้วยนะ คือ แทนที่เราจะใส่ให้แค่เงิน ก็ให้ใช้แรงของเรา ไปช่วยสังคมด้วย มองว่า แบบนี้จะยั่งยืนและได้ผลมากกว่า”

เสียงสะท้อนจากลูกไม้ใต้ต้น ที่แบ่งปันให้ฟัง แทนคำยืนยันว่า วิธีคิดแบบนี้จะไม่หล่นหายไปในยุคของพวกเขา

ขณะที่เดชา ปิดท้ายบทสนทนา ด้วยนิยามแห่งความสำเร็จของตัวเขา และครอบครัว ตามปรัชญาของคนจีน ที่สืบทอดมาตั้งแต่คนรุ่นหนึ่ง

“คนส่วนใหญ่ชอบวัดความสำเร็จด้วยตัวเลข แต่จริงๆ แล้ว ความสำเร็จของผมอยู่แค่ว่า คนๆ นั้น มีชีวิตสุขสงบได้เท่าไร นี่เป็นการคิดแบบคนจีน คือ เขาจะบอกว่า ไม่ใช่ต้องรวยที่สุด หรือมีอำนาจสูงสุด แต่ต้องมีความสุขที่สุด และเป็นความสุขที่ต้องให้คนอื่นด้วย คือ ต้องให้คนรอบข้างมีความสุข ให้สังคมมีความสุขในระดับที่เราพอจะทำได้”

และนั่นคือนิยามแห่งความสุข ของสายเลือดตระกูลตั้งสิน ที่มีการทำดีและการให้ ซึมลึกในดีเอ็นเอ