'สศค.'มั่นใจรัฐงบเหลือพอกระตุ้นศก.

'สศค.'มั่นใจรัฐงบเหลือพอกระตุ้นศก.

(รายงาน) "สศค." มั่นใจรัฐงบเหลือพอกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้

เศรษฐกิจไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงขณะนี้ ต้องยอมรับว่า ประเทศไทย เผชิญปัจจัยเสี่ยงถาโถม 2 ด้านหลักๆ ได้แก่ 1.ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากประเทศขนาดใหญ่ ซึ่งกระทบต่อส่งออกของไทย และ 2.ปัญหาการเมืองในประเทศ ทั้งสองปัจจัยกระทบต่อดีมานด์ที่ลดลงทั้งภายนอกและภายใน ขณะที่ปัญหาระยะยาว เรื่องการสร้างขีดแข่งขันในอนาคต และการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สะสมมานาน ก็เป็นโจทก์สำคัญที่ท้าทายการบริหารงานรัฐบาล

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ และในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามายังเจอโจทก์นี้ เครื่องมือจากนโยบายการคลังที่รองรับโจทก์นี้ ได้ถูกแบ่งออกเป็นระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้น เน้นไปที่การประคองเศรษฐกิจ ผ่านการปลดล็อกกติกาต่างๆ ที่รัฐบาลรักษาการทำไม่ได้ หลักๆ ผ่านรายจ่ายที่เบิกค้างไว้ปีที่แล้วเป็นเงินรวม 3.4 แสนล้านบาท และอนุมัติการจัดทำงบประมาณปี 2558 จำนวน 2.575 ล้านล้านบาท

“ปีที่แล้ว ผลเบิกจ่ายต่ำแค่ 89% เพราะที่ผ่านมาไม่เคยต่ำกว่า 90% ซึ่งเป็นเหตุมาจากปัญหาการเมือง จากนั้นก็มาปลดล็อกงบ 58 ให้เบิกจ่ายได้ เมื่อรวมงบ 2 ตัว เท่ากับปีนี้จะมีเงินงบเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 2.9 ล้านล้านบาท เพื่อตอบปัญหาระยะสั้น คือ รัฐบาลต้องใช้เงินให้มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งเป็นจุดแรกที่รัฐบาลได้ทำ”

เมื่อรัฐบาลปลดล็อก ผลคือ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ ผลการเบิกจ่ายงบประจำดีมาก หรือ 40% ของวงเงินงบ ส่วนงบลงทุน ตามโครงสร้างจะช้า เพราะเป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนกระบวนการตรวจสอบโปร่งใส ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า แต่รัฐบาลได้เร่งรัดให้ทำสัญญา ขณะนี้มียอดวงเงินที่ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 1.2 แสนล้านบาท จากงบลงทุนกว่า 4 แสนล้านบาท จากนี้ไปเม็ดเงินจะเริ่มทยอยออกสู่ระบบเศรษฐกิจ

ส่วนที่สองรัฐบาลนี้ เข้ามาทำ คือ มาตรกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรก สิ่งที่กระทรวงการคลังทำ คือ ไปดูว่า มีงบตรงไหนในอดีตที่เหลือค้าง ไปขุดงบไทยเข้มแข็ง 1.5 หมื่นล้านบาท งบกลางที่อนุมัติแล้วยังไม่จ่าย เพราะโครงการไม่ได้เดินอีก 2.3 หมื่นล้านบาท เอามาทำใหม่เป็นโครงการลงทุนแบบเร็ว เช่น ซ่อมสร้างโรงพยาบาล ถนน และโรงเรียน เพื่อให้เบิกจ่ายได้เร็ว แต่เบิกจ่ายก็เจอปัญหาเม็ดเงินจะทยอยออก

รัฐบาลยังใช้นโยบายการคลังผ่านแบงก์รัฐ ต้องยอมรับว่า อีกปัจจัยที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจ คือ ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลงมาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยจ่ายเงินแก่ชาวนาและชาวสวนยางพารา เพื่อลดต้นทุนการผลิตและพยุงกำลังซื้อระดับล่าง ทั้งสองส่วนใช้เงิน 4.8 หมื่นล้านบาท

“ช่วงแรกเกิดปัญหาทางปฏิบัติ เพราะรัฐบาลเน้นโปร่งใส ตรวจสอบเกษตรกรตัวจริง กว่าเงินจะออกเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว เราเห็นภาพใหญ่ว่า อยากเบิกเงินเร็ว อยากโปร่งใสด้วย ก็เกิดปัญหาไม่ทันใจ แต่เงินก็ได้ออกไปเกือบหมดแล้ว”
เขากล่าว บอกว่า เงินดูแลเศรษฐกิจยังมีอีกมาก เพราะงบรวม 2.9 ล้านล้านบาทในปีงบ 2558 ตอนนี้เบิกจ่ายได้แค่ 1 ล้านล้านบาท ความท้าทาย คือ จะเอาเงินลงไปให้ได้เร็วได้อย่างไร ถ้าเราทำอะไรใหม่ และเบิกจ่ายไม่ออก โจทก์ไม่ได้รับการแก้ไข

สำหรับการดูแลเศรษฐกิจระยะปานกลางถึงระยะยาว เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญมาก เพราะรัฐบาลมีเวลาจำกัด และการดูแลเศรษฐกิจระยะดังกล่าว ต้องผ่านการปฏิรูป 3 โจทก์หลัก ได้แก่ 1.เพิ่มขีดแข่งขันของประเทศ 2.ลดปัญหาเหลื่อมล้ำในสังคม และ 3.สร้างความยั่งยืนทางการคลัง

โจทก์แรก คือ เพิ่มขีดแข่งขันของประเทศ ต้องมองด้านการผลิต โครงสร้างผลิตที่ทำให้ยังแข่งขันได้ทุกวันนี้ เพราะยังกินบุญเก่า ซึ่งกำลังจะหมด เพราะโครงสร้างผลิตยุคหลังๆ ใช้อุตสาหกรรมเป็นตัวนำ 40%ของจีดีพี แต่ไม่ได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน แนวทางที่รัฐบาลดำเนินการผ่านนโยบายการคลัง คือ 1.ต้องประคองขีดแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม ผ่านนโยบายภาษี โดยเฉพาะภาษีศุลกากร จึงปรับลดอากรขาเข้าสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำลง

2.ทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจแข่งขันได้มากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นที่มาของการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 3.เชื่อมต่อเศรษฐกิจกับประเทศไทยกับเพื่อนบ้าน 4.ใช้นโยบายการคลังผ่านการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในไทย เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นเทรดดิ้งเซ็นเตอร์ของภูมิภาค

โจทก์ที่สอง คือ การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งดำเนินการผ่านนโยบายการคลัง คือ การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยหรือ นาโนไฟแนนซ์ เป็นเรื่องที่สำคัญ ขณะนี้ปัญหาหนี้นอกระบบมีจำนวนมาก การให้บริการนาโนไฟแนนซ์ จะทำให้หนี้เข้ามาอยู่ในระบบได้มากขึ้น ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำแก่ประชาชน และภาคธุรกิจรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน

นอกจากนี้ การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยังทำผ่าน พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ และที่จะทำต่อคือ เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดย สศค. เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำด้านที่ดินทำกิน เพราะระบบภาษีของไทยค่อนข้างบิดเบือน ไม่ได้เก็บบนฐานมูลค่า หรือ เก็บต่ำมาก และปัญหาคือ ทำให้คนซื้อที่ดิน เพื่อเก็งกำไร

กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอให้รัฐบาลอนุมัติเดินหน้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพราะแม้กอช.จะเป็นกฎหมายแล้ว แต่ทางปฏิบัติต้องออกกฎกระทรวงเพื่อตั้งสำนักงานและระเบียบการจ่ายผลประโยชน์ ซึ่งจะช่วยแก้ความบิดเบือนในมาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคม เพื่อโอนสมาชิกเข้ามาอยู่ในระบบกอช.

นายเอกนิติ กล่าวว่า เรื่องความยั่งยืนการคลังระยะยาว เป็นประเด็นสำคัญ และ สศค.กำลังผลักดันให้เกิดกฎหมายการเงินการคลัง เพื่อเป็นกติกากำหนดกรอบวินัยการเงินการคลัง แม้ปัจจุบันมีกรอบกติกาที่ดีอยู่แล้ว แต่การใช้เงินนอกงบประมาณมีช่องทางเกิดได้มากขึ้น จึงต้องกำหนดเป็นกฎหมายให้มีความรอบคอบมากขึ้น

“ประเด็นที่ สศค. ยกร่างกฎหมาย คือ ไปดูว่า มีช่องทางไหนจะเงินรั่วไหล ทำอย่างไรไม่ห้การคลังดูแค่ปัจจุบัน ถ้ารัฐบาลจะใช้อะไรจะกระทบหนี้อย่างไร เราจะมีแผนการคลัง ที่ทำให้รัฐบาลคำนึงถึงทิศทางการคลังระยะยาว เราก็กำลังระดมความเห็นกันอยู่”

อีกประเด็น คือ มีแนวทางที่จะแยกบทบาทการตรวจสอบและการกำกับแบงก์รัฐให้ไปอยู่ที่แบงก์ชาติ เพื่อให้มีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น