เล็งเจรจาเลื่อนส่งไฟฟ้าเข้าระบบชี้สำรองล้น

เล็งเจรจาเลื่อนส่งไฟฟ้าเข้าระบบชี้สำรองล้น

กกพ.เตรียมเจรจาเลื่อนโรงไฟฟ้ากฟผ. ไอพีพี เอสพีพีโคเจน หลังปริมาณสำรองไฟฟ้าช่วงปี 2566-2568 สูงถึง 40%

ระบุไม่เจรจาชะลอส่งไฟฟ้าเข้าระบบ ส่งผลกระทบค่าไฟฟ้าพุ่งถึง 5.66 บาทต่อหน่วย

นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) เปิดเผยว่า การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Forecast) เพื่อจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือพีดีพี 2015 ที่จะใช้ตั้งแต่ปี 2558-2579 พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับลดลงจากแผนพีดีพีเดิมอย่างมาก

ปัจจัยสำคัญมาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้และการนำแผนอนุรักษ์และประหยัดพลังงานมาคิดรวมอยู่ในแผนพีดีพี ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าปรับสูงขึ้นเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ประมาณ 15% โดยปี 2558 คาดว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับ 25% ของปริมาณการผลิตติดตั้งทั้งระบบ และจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จนมาขึ้นสูงสุดในระดับ 40-42 % ในช่วงปี 2566-2568 หลังจากนั้นจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 20% ในปี 2569

ทั้งนี้จะต้องมีการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าไอพีพีและเอสพีพีโคเจน เพื่อขอให้เลื่อนระยะที่จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ออกไปตามความสมัครใจ โดยไม่ต้องมีการเสียค่าปรับ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณสำรองไฟฟ้าลงและไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้ามากจนเกินไป หากภาครัฐไม่ดำเนินการใดใดเพื่อปรับลดปริมาณสำรองไฟฟ้าลง อัตราค่าไฟฟ้าจะปรับขึ้นจาก 3.86 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน เป็นอัตรา 5.66 บาทต่อหน่วยเมื่อสิ้นแผนพีดีพี 2015 ในปี 2579

สำหรับโรงไฟฟ้าที่จะมีการเจรจาเพื่อให้เลื่อนโครงการออกไป จะเจรจาในส่วนของโรงไฟฟ้ากฟผ.ก่อน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครใต้,โรงไฟฟ้าบางปะกง,โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา 1 ,โรงไฟฟ้าไอพีพีถ่านหิน ของบริษัทเนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลาย หรือ เอ็นพีเอสและโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ และโรงไฟฟ้าในกลุ่มเอสพีพีโคเจน 540 เมกะวัตต์ด้วย

"ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง ความต้องการใช้เติบโตลดลง ทำให้ไม่จำเป็นต้องเปิดประมูลไอพีพีรอบใหม่จนถึงปี 2568 โดยโรงไฟฟ้าใหม่ที่ยังไม่ได้มีการทำข้อตกลงทั้งในส่วนของกฟผ. การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศหรือไอพีพี จะมีความจำเป็นในช่วงท้ายๆ ของแผนพีดีพี 2015"

นายวีระพล จิระประดิษฐ์กุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. กล่าวยอมรับว่า การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าและการจัดทำแผนพีดีพีเดิม ถือว่ามีความคลาดเคลื่อน จึงจำเป็นต้องหาทางปรับลดปริมาณสำรองไฟฟ้าเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า

โดยในการเจรจากับกลุ่มผู้ประกอบการเอสพีพีโคเจน ที่จะหมดอายุในปี 2560 จำนวน 25 รายกำลังการผลิตรวมเกือบ 2,000 เมกะวัตต์ ในหลักการจะมีการรับซื้อไฟฟ้าสัญญาใหม่จากทุกราย เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจ แต่ในส่วนที่ไฟฟ้าที่จะขายให้กับกฟผ. จากเดิมโรงละไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ นั้น จะมีการรับซื้อในปริมาณที่น้อยที่สุด เพราะปริมาณสำรองยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งราคาจะต้องปรับลดลงด้วย คาดว่าภายในเดือนมี.ค.นี้น่าจะมีความชัดเจน