'จรัมพร'ลดใช้จ่ายทีจี'หมื่นล.'หยุดขาดทุน

'จรัมพร'ลดใช้จ่ายทีจี'หมื่นล.'หยุดขาดทุน

"จรัมพร" ลดใช้จ่ายทีจี "หมื่นล." หยุดขาดทุน แจงอาจลดพนง.ไม่ถึง 5 พัน หากลดค่าใช่จ่ายอื่นได้ตามเป้า

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในรายการ "คมชัดลึก" ทางเนชั่น ทีวี เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ดำเนินการโดยจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ถึงรายละเอียดของแผนปฏิรูปการบินไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ ลดการขาดทุน สร้างความเข้มแข็ง และสร้างการเติบโตอย่างมีกำไร ว่า ตามเป้าหมายหยุดการขาดทุนให้ได้ในปี 2558 และสร้างการเติบโตก้าวกระโดดอย่างยั่งยืนให้ได้ในปี 2560 หรือในอีก 2 ปีจากนี้

ประเด็นสำคัญคือการ "ลดต้นทุน แต่ยังคงคุณภาพบริการ" ซึ่งการบินไทยตั้งเป้าที่จะลดค่าใช้จ่ายลงให้ได้ "1 หมื่นล้านบาท"

"แผนการปรับลดค่าใช้จ่าย ในอดีตการบินไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท ผมคิดว่าตัวเลขในระดับดังกล่าว น่าจะได้เห็น เราน่าจะทำได้ไม่แพ้รอบที่แล้ว"

เขายังระบุว่า เป้าหมายการดำเนินการใน 2 ปีถือว่าไม่เร็วเกินไป แม้จะยอมรับว่า เป็นโจทย์ที่ยาก และใหญ่

"แล้วจะรออะไร ทำยิ่งเร็วยิ่งดี ลูกค้าต้องการให้เร็ว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งจะต้องขันนอตไปเรื่อยๆ แต่ย้ำว่าผลลัพธ์ของการดำเนินการลูกค้าจะได้ไม่น้อยกว่าที่เคยได้ ไม่ใช่ทำแล้วบริการลดลง แต่ต้องเป็นเส้นทางบินของเรา"

อาจลดพนง.ไม่ถึง5พันคน

โดยแผนการลดค่าใช้จ่าย ด้วยการปรับลดจำนวนพนักงานการบินไทยลง 5,000 คน จากปัจจุบันที่มีพนักงานอยู่กว่า 25,000 คนนั้น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย กล่าวว่า สัดส่วนดังกล่าวถือเป็นเพดานสูงสุดที่ตั้งไว้ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ต้องการให้การบินไทยลดค่าใช้จ่ายลงอีก 20 - 30% แต่หากสามารถลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลดได้ ก็อาจไม่จำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานมากถึง 5,000 คน

"ตอนนี้ยังไม่มีใครพูดถึงการลดจำนวนพนักงานลง 5,000 คนที่เป็นแผนชัดเจน เพราะกระบวนการพิจารณาต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน"

นายจรัมพร ยังระบุว่า การปรับลดจำนวนพนักงาน จะให้พนักงานร่วมโครงการ "ด้วยความสมัครใจ" โดยจะกำหนดแพ็คเกจให้สมน้ำสมเนื้อ ส่วนพนักงานที่เหลืออยู่ ก็ต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เพิ่มประสิทธิภาพ-ล้างระบบอุปถัมภ์

โดยเขายอมรับว่า "ประสิทธิภาพการทำงาน" ของพนักงานบางส่วน เป็นเรื่องที่ต้องเร่งเข้าไปแก้ไข พร้อมไปกับการปรับสวัสดิการและการทำงานล่วงเวลา

"บอร์ดรุ่นนี้ ผลประโยชน์ที่บอร์ดรุ่นเก่าเคยได้ไม่มีแล้ว ยอมรับว่าค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการโดยรวมทุกฝ่ายค่อนข้างสูง แต่เทียบกับคนอื่นแล้วไม่ได้สูงกว่าคนอื่น การบินไทยฐานเงินเดือนอาจจะต่ำ แต่การทำงานล่วงเวลาสูง จำนวนพนักงานเยอะ อาจจะเป็นเรื่องของ ประสิทธิภาพ การทำงาน เบิกโอทีเยอะ ก็มีบ้าง"

ส่วนเรื่องผลประโยชน์ในการบินไทย ทำอย่างไรให้การบินไทยปลอดจากการเมือง นายจรัมพร เชื่อว่า หากการบินไทยเป็นบริษัทจดทะเบียนทั่วไป ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ สิ่งเหล่านี้น่าจะหมดไป

"ตอนนี้ผมยังไม่เจอตอ ยังไม่มีใครขออะไรเท่าไหร่ แต่ถ้ามาหาผม ผมจะขอก่อน เพราะตอนนี้การบินไทยไม่มีอะไรจะให้ เหมือนรีดเลือดจากปู"

เช่นเดียวกับระบบอุปถัมภ์ที่ควรจะต้องหมดไป "ถ้ายังอยู่เหนื่อยแน่นอน เพราะเราจะต้องแข่งกันคู่แข่งขันที่มีประสิทธิภาพสูง เราไม่สามารถจะปล่อยให้องค์กรมีไขมันอีกต่อไป"

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจ รับการแข่งขันธุรกิจสายการบินที่ดุเดือด เขาระบุว่า ประกอบด้วยการ "ลดจำนวนเครื่องบิน" กับการ "ลดเส้นทางบิน"บางเส้นทางบิน และเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางที่มีกำไร โดยกลางปีนี้จะเพิ่มเครื่องบินแอร์บัส 380 อีก 1 เส้นทาง เป็นต้น พร้อมไปกับการขายเครื่องบิน 22 ลำ และปลดระวางเครื่องบิน 10 ลำในปีนี้

เพิ่มเที่ยวบินจีน-ญี่ปุ่น

นายจรัมพร ยังกล่าวว่า การบินไทยได้ยกเลิกเส้นทางบิน ระหว่าง กรุงเทพ - มาดริด กรุงเทพ-โจฮันเนสเบิร์ก และกรุงเทพ - มอสโก และเพิ่มเส้นทางบินในจีน และญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะเพิ่มจากวันละ 2 เที่ยวบินเป็น 3- 4 เที่ยวบิน เนื่องจากมีการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากจีน และญี่ปุ่น

ในขณะที่เส้นทาง กรุงเทพ - ลอสแองเจลิส การยกเลิกเส้นทางไม่ได้อยู่ในซัมเมอร์นี้ แต่จะอยู่ในช่วงไฮซีซันหรือไม่นั้นก็ต้องให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง ก่อนก็คงจะทราบในไตรมาส 2 ของปี 2558 พร้อมกับการสรุปเส้นทางบินอื่นๆ ในได้เดือนตุลาคม นี้ และยังจะเพิ่มรายได้ เช่น การเปิดรับซ่อมเครื่องบิน หนึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะหยุดขาดทุน นอกจากนี้ยังมีแผนปรับปรุงการให้บริการ "บิสซิเนส คลาส" เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการใช้บริการ

"ขณะนี้ตลาดการบิน การแข่งขันสูง โดยในอีก 10 ปีจากนี้ ในย่านนี้ โลว์คอร์ต แอร์ไลน์ส จะมีเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้น 1,200 ลำ ส่วนสายการบินขนาดใหญ่ จะมีเครื่องบินเพิ่มขึ้น 1,000 ลำ เราต้องปรับตัวหนีคู่แข่ง"

เขายังกล่าวว่า ปัญหาของการบินไทย จะต้องมุ่งแก้ปัญหาโดยยึดตำรา มากกว่าเดินตามอำเภอใจ

"ที่ผ่านมา สุสานการบิน มีมากมาย ทั้งเจแปนแอร์ไลน์ การูด้า เราไม่ต้องการเดินไปถึงจุดนั้น ต้องช่วยตอนที่ธุรกิจยังหายใจอยู่ ใกล้จะไอซียู ไม่ต้องไปถึงสุสานเหมือนสายการบินอื่น พนักงานต้องปรับเปลี่ยน ทำสิ่งเดิมๆ ไม่ได้แล้ว"