เปิดข้อมูลมลพิษ'ขยะ-อากาศ-น้ำ'ปี57

เปิดข้อมูลมลพิษ'ขยะ-อากาศ-น้ำ'ปี57

(รายงาน) มลพิษ"ขยะ-อากาศ-น้ำ"ปี57 "ปากน้ำ-อยุธยา-ท่าจีน"วิกฤติ

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยผลสำรวจปัญหามลพิษจากขยะ น้ำ และอากาศ ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ในการแถลงข่าวสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2557 เมื่อเร็วๆ นี้

หากยังจำกันได้เมื่อปี 2556-2557 ปัญหาขยะของประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ ขยะสะสมถูกกองทิ้งสูงเป็นภูเขา รวมทั้งมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนตามมา

มิหนำซ้ำระบบการจำกัดที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน และขาดประสิทธิภาพ จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหามลพิษให้รุนแรงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากผลกระทบที่เกิดจากเพลิงไหม้บ่อขยะหลายแห่ง น้ำมันรั่วลงทะเล ไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

จากปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะขยะ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยมีโรดแมพจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ผ่านไปหนึ่งปีกับการดำเนินการตามแผนระยะสั้น ผลการจัดการแก้ปัญหามลพิษแต่ละชนิดในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศเป็นอย่างไร "กรุงเทพธุรกิจ" ได้ประมวลข้อมูลการสำรวจมลพิษแต่ละชนิดมานำเสนอ

"ขยะ" แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ขยะเก่า ขยะใหม่ และของเสียอันตราย

โดยขยะเก่าที่สะสมตกค้างเมื่อปี 2556 มีจำนวน 28 ล้านตัน เทียบเท่าตึกใบหยก2 จำนวน 144 ตึก แต่มาถึงปี 2557 ขยะตกค้างมี 14.8 ล้านตัน เทียบเท่าตึกใบหยก2 จำนวน 77 ตึก ลดลงจากปี 2556 ถึง 13.2 ล้านตัน หรือลดลง 47 เปอร์เซ็นต์

จังหวัดที่มีขยะตกค้างเข้าขั้นวิกฤติ 5 อันดับแรก เมื่อปี 2556 คือ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และเพชรบุรี ตามลำดับ ต่อมาปี 2557 อันดับเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสงขลา จากที่เคยเป็นอันดับหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 30

ส่วนอันดับหนึ่งที่ขึ้นมาแทนที่ จ.สงขลา คือ สมุทรปราการ รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา และขอนแก่น ตามลำดับ

สำหรับพื้นที่สมุทรปราการนั้น หากพิจารณาตัวเลขขยะสะสมแล้วพบว่าแทบไม่ได้จัดการ โดยเมื่อปี 2556 มีขยะสะสมประมาณ 2.06 ล้านตัน ผ่านไปหนึ่งปีขยะสะสมอยู่ที่ 2 ล้านตัน

"ขยะใหม่" จากเดิมในปี 2556 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นใหม่ 26.8 ล้านตัน เทียบเท่าตึกใบหยก 2 จำนวน 137 ตึก แต่เมื่อปี 2557 มีขยะใหม่ 26.2 ล้านตัน เทียบเท่าตึกใบหยก2 จำนวน 134 ตึก จะเห็นว่าขยะใหม่ลดลง 0.6 ล้านตัน หรือลดลง 2 เปอร์เซ็นต์

ด้านการจำกัดขยะพบว่ามีการกำจัดอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้น 0.48 ล้านตัน หรือคิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ในเรื่องการนำไปใช้ประโยชน์กลับลดลง 0.4 ล้านตัน หรือคิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบอัตราการผลิตขยะต่อคนต่อวันระหว่างปี 2556 และ 2557 พบว่า อัตราการผลิตขยะลดลงไปประมาณ 0.04 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน

สำหรับสถานที่กำจัดขยะทั่วประเทศ ในปี 2556 มี 2,490 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานที่กำจัดขยะแบบถูกต้องเพียง 466 แห่ง มาถึงปี 2557 ปิดไป 40 แห่ง เหลือ 2,450 แห่ง แต่สถานที่กำจัดแบบถูกต้องเพิ่มเป็น 480 แห่ง

ทั้งนี้ มีสถานที่กำจัดขยะที่ก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เนื่องจากถูกต่อต้านและมีปัญหาการเมืองท้องถิ่นมากถึง 18 แห่ง

ในจำนวนนี้ก่อสร้างเสร็จแล้วแต่เปิดดำเนินการไม่ได้ 16 แห่งอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ชัยนาท สมุทรสาคร ปทุมธานี นครนายก กาญจนบุรี สมุทรสงคราม อุดรธานี อุบลราชธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และนครศรีธรรมราช ส่วนอีก 2 แห่งอยู่ที่ จ.ตาก และบุรีรัมย์ ยังก่อสร้างไม่เสร็จ

ส่วนการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานนั้นมีพื้นที่ที่มีศักยภาพ จำนวน 32 แห่ง ขณะนี้เปิดดำเนินแล้วใน 2 พื้นที่ คือ ภูเก็ต และสงขลา ส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมี 3 แห่ง คือ กรุงเทพฯ พัทลุง และขอนแก่น

"ของเสียอันตราย" ในปี 2557 ทั่วประเทศมีขยะมูลฝอยชนิดของเสียอันตรายประมาณ 2.69 ล้านตัน แบ่งเป็นของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม 2.06 ล้านตัน หรือคิดเป็น 77 เปอร์เซ็นต์ เป็นของเสียอันตรายชุมชน 0.58 ล้านตัน หรือคิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 0.05 ล้านตัน หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ เป็นมูลฝอยติดเชื้อ

ภาพรวมของเสียอันตรายเกือบครึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ

สำหรับ "ของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม" พบว่าลดลงจากปี 2556 จำนวน 0.6 ล้านตัน อาจเป็นเพราะมาตรการส่งเสริมการลดของเสียจากระบวนการผลิต แต่ก็ยังพบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม 6 ครั้ง โดยเฉพาะใน จ.ระยอง และชลบุรี

ส่วน "ของเสียอันตราจากชุมชน" พบว่า ในปี 2557 ปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 2.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 65 เป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยอันดับหนึ่งได้แก่ โทรทัศน์ รองลงมาคือ เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ตามลำดับ

ส่วนของเสียอันตรายชุมชนที่นอกเหนือจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเป็นแบตเตอรี่ชนิดตะกั่วมากถึง 65 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ แบตเตอรี่แห้ง หลอดไฟ และภาชนะบรรจุสารเคมี ตามลำดับ

สำหรับของเสียอันตรายประเภท "มูลฝอยติดเชื้อ" ปี 2557 มี 52,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 15,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ส่วนการกำจัดทำถูกต้องประมาณ 33,055 ตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 64 โดยผ่านเตาเผาของเอกชน และโรงพยาบาลเอกชน

ส่วนที่เหลือถูกทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยชุมชนหรือนำไปกำจัดในสถานที่กำจัดขยะชุมชนหรือลักลอบทิ้ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องเข้มงวดกวดขันให้มากขึ้น

สถานการณ์มลพิษต่อมา คือ มลพิษทางอากาศ ซึ่ง กรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วประเทศ พบปัญหาหลักใน ฝุ่น ก๊าซโอโซน และสารอินทรีย์ระเหยง่าย

โดย ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ภาพรวมทั้งประเทศไม่แตกต่างจากปี 2556 แต่จากจุดตรวจวัด 29 จังหวัดพบฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐาน 23 จังหวัด ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกันไป เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่ๆ เกิดจากยานพาหนะ ภาคเหนือตอนบนเกิดจากการเผาในที่โล่งและไฟป่า ส่วน จ.สระบุรี เกิดจากกิจกรรมโรงโม่ เหมืองหิน และปูนซีเมนต์

เมื่อนำภาพรวมของ "ฝุ่น-ก๊าซโอโซน" เกินมาตรฐานมารวมกันพบว่าจังหวัดที่มีมลพิษอากาศดังกล่าว 5 อันดับแรก ได้แก่ สมุทรปราการ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ และปทุมธานี-นนทบุรี ตามลำดับ

ส่วน สารอินทรีย์ระเหยง่าย พบในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ยังคงเกินค่ามาตรฐานและมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2556 เล็กน้อย

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น พบสารเบนซิน เกินค่ามาตรฐาน แต่แนวโน้มลดลงจากปี 2556 ซึ่งเป็นผลดีจากการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อต้นปี 2557

สรุปวิกฤติคุณภาพอากาศ ปี 2557 ในภาพรวมของกรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า ในพื้นที่ทั่วไปพบปัญหาเบนซีน ก๊าซโอโซน และฝุ่นใน จ.ปทุมธานี และเขตธนบุรี ส่วนบริเวณริมถนนพบปัญหาบริเวณดินแดง และพระราม 4

สุดท้ายคือ สถานการณ์คุณภาพน้ำ มีการสำรวจคุณภาพน้ำ 2 แหล่ง คือ น้ำผิวดิน และน้ำทะเลชายฝั่ง

ผลการสำรวจคุณภาพ "น้ำผิวดิน" คือ แม่น้ำ และแหล่งน้ำ พบว่า อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 12 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 46 เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 37 และเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 5

ทว่ามีแหล่งน้ำคุณภาพน้ำเป็นไปตามมาตรฐานเพียง 5 แม่น้ำจากทั้งหมด 59 แม่น้ำ ได้แก่ แม่น้ำวัง แม่น้ำเลย แม่น้ำตราด แม่น้ำตรนัง และแม่น้ำระยองตอนล่าง โดยรวมลดลงจากปี 2556 ที่มี 7 แม่น้ำ

สำหรับแหล่งน้ำคุณภาพดีและพอใจ 10 อันดับ ได้แก่ 1.ตาปีตอนบน จ.สุราษฎร์ธานี 2.กก จ.เชียงราย 3.แควน้อย จ.กาญจนบุรี 4.ลำชี จ.สุรินทร์ 5.วัง จ.ลำปางและตาก 6.เวฬุ จ.ตราด 7.จันทบุรี 8.ตราด 9.ตรัง และ10.หนองหาร จ.สกลนคร

ส่วนแหล่งน้ำคุณภาพเสื่อมโทรมและเสื่อมโทรมมาก 10 อันดับ ได้แก่ 1.เจ้าพระยาตอนล่าง จ.สมุทรปราการ กรุงเทพฯ และนนทบุรี 2.ลำตะคองตอนล่าง จ.นครราชสีมา 3.ท่าจีนตอนล่าง จ.สมุทรสาคร และนครปฐม 4.สะแกกรัง จ.อุทัยธานี 5.ระยองตอนบน 6.ท่าจีนตอนกลาง จ.นครปฐม และสุพรรณบุรี 7.พังราดตอนบน จ.จันทบุรี 8.ทะเลน้อย จ.พัทลุง 9.ระยองตอนล่าง และ10.ท่าจีนตอนบน จ.สุพรรณบุรี และชัยนาท

สาเหตุหลักที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำส่วนใหญ่เกิดจาก "น้ำทิ้งชุมชน"

ขณะที่ น้ำทะเลชายฝั่ง ภาพรวมดีขึ้นชนิด "ก้าวกระโดด" ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศมีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 11 เกณฑ์ดี ร้อยละ 52 พอใช้ ร้อยละ 23 เสื่อมโทรม ร้อยละ 13 และเมื่อเสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 1 โดยแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2555-2556 ซึ่งไม่พบคุณภาพน้ำทะเลในเกณฑ์ดีมาก ส่วนที่เคยอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมก็ลดลง

บริเวณที่คุณภาพน้ำทะเลดีมาก ได้แก่ จ.ระยอง บริเวณปากน้ำระยอง อ่าวไผ่ เกาะเสม็ด แหลมแม่พิมพ์ จ.ชลบุรี บริเวณเกาะสีชัง และช่องแสมสาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณหาดบ้านกรูด

จ.สุราษฎร์ธานี บริเวณท่าเรือหน้าอำเภอ อ่าวเฉวงน้อย อ่าวเฉลงกลาง หาดละไม อ.เกาะสมุย อ่าวหาดริ้น อ.เกาะพงัน

จ.นครศรีธรรมราช บริเวณหาดหินงาม อ.สิชล จ.สงขลา บริเวณปากทะเลสาบสงขลา หาดมหาราช ประตูระบายน้ำปากระวะ จ.ระนอง บริเวณหาดบางเบน จ.พังงา บริเวณคลองปากบาง เขาหลัก และจ.ภูเก็ต บริเวณหาดไม้ขาว หาดสุรินทร์

ส่วนบริเวณคุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรม ได้แก่ อ่าวไทยตอนใน ช่วงเขตบางขุนเทียน จ.สมุทรสาคร บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน จ.จันทบุรี บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน ปากแม่น้ำเวฬุ จ.ระยอง บริเวณท่าเรือหน้าด่าน เกาะเสม็ด จ.ชลบุรี บริเวณท่าเรือสัตหีบ จ.เพชรบุรี บริเวณปากคลองบ้านแหลมด้านใต้ บ้านบ่อนอก

จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณสะพานปลาหัวหิน เขาตะเกียบ ปากแม่น้ำปราณบุรี จ.ชุมพร บริเวณบ้านหน้าทับ บ้านสะพลี อ่าวสะพลี ปากแม่น้ำชุมพร หาดทรายรีตอนกลาง

จ.สุราษฎร์ธานี บริเวณบ้านหัวถนน (อ่าวบางน้ำจืด) สะพานปลา (เกาะพงัน) จ.นครศรีธรรมราช บริเวณโรงไฟฟ้าขนอม จ.ภูเก็ต บริเวณหาดราไวย์ตอนกลาง อ่าวมะขามหน้าจุดประมงทะเลภูเก็ต จ.กระบี่ บริเวณหาดนพรัตน์ธารา และจ.ตรัง บริเวณหาดปากเมง

ส่วนบริเวณน้ำทะเลเสื่อมโทรมมาก ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณปากแม่น้ำปราณบุรี (เขากะโหลก) โดยตรวจพบโลหะหนัก คาดว่าเป็นผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมในละแวกนั้น