รัฐแบกสต็อก18ล้านตัน ราคาข้าวต่ำต่อเนื่อง3ปี

รัฐแบกสต็อก18ล้านตัน ราคาข้าวต่ำต่อเนื่อง3ปี

วงการข้าวคาดราคาข้าวอยู่ในระดับต่ำ 2-3 ปี เหตุรัฐแบกสต็อก 18 ล้านตัน แนะรัฐเร่งระบาย-ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง

สต็อกข้าวปริมาณมหาศาลที่ตกค้างมาจากนโยบายรับจำนำข้าว กำลังสร้างแรงกดดันต่อราคาในประเทศและค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ขณะการระบายข้าวก็ไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วนัก เนื่องจากขั้นตอนการระบายและข้าวไทยมีคู่แข่งในตลาดโลก

ล่าสุด ผลตรวจสต็อกข้าวของอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ที่รายงานต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ระบุว่ามีข้าวคงเหลือในคลังกลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวม 17.963 ล้านตัน แยกเป็น ข้าวผ่านมาตรฐาน​​​​ 2.197 ล้านตัน ​(12.23%) ข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน​​ ​14.405 ล้านตัน​(80.19%) ข้าวเสีย​​​​ 0.694 ล้านตัน​(3.86%) ข้าวผิดชนิด​​​​ 0.068 ล้านตัน ​(0.38%) ข้าวกองล้ม/ข้าวที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ​ 0.599 ล้านตัน​(3.34%)

ข้อมูลจากเอกสารการประชุม คณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว ภายใต้ คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2556 ระบุว่า ข้าวสารที่รัฐบาลไทยมีอยู่ มาจากโครงการรับจำนำตั้งแต่ปี 2554/55 ปริมาณ 1.43 ล้านตัน นาปรัง 2555 ปริมาณ 4.37 ล้านตัน ปี 2555/56 ปริมาณ 8.34 ล้านตัน และปี 2556/57 ปริมาณ 6 ล้านตัน

แม้จะมีการทยอยขายไปบ้างก่อนหน้านี้ สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ก็เป็นปริมาณที่น้อยมาก และบางส่วนที่เป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)ก็ยังถกเถียงว่าเป็นของจริงหรือไม่ ส่วนจีทูจีกับประเทศจีน ปริมาณ 1 ล้านตัน ล่าสุดก็ส่งมอบไปเพียง 3 แสนตัน กว่าจะหมดสัญญาคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพราะเงื่อนไขการรับมอบของจีนยังเป็นอุปสรรคสำคัญ

นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุว่า หากไม่อยากให้ราคาข้าวในตลาดตกต่ำไปมากกว่านี้ ทุกฝ่ายควรหยุดพูดเรื่องสต็อกข้าว เพื่อลดแรงกดดันทางด้านราคา และรัฐบาลต้องเร่งระบายข้าวออกไปให้เร็ว โดยรัฐควรจะตั้งราคาขายข้าวตามคุณภาพ และประกาศให้เอกชนรับรู้ หากเป็นราคาที่ยอมรับได้เอกชนก็จะเข้ามาช่วยซื้อ ซึ่งจะเป็นอีกทางที่สามารถระบายข้าวออกไปได้เร็ว

สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกในประเทศไทยมีทิศทางอย่างไรและเกี่ยวข้องกับสต็อกข้าว 17.9 ล้านตันอย่างไร ทำไม ผู้รับซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนาอย่างสมาคมโรงสีข้าวต้องแสดงความเป็นห่วงและย้ำว่าสต็อกข้าวของรัฐคือแรงกดดันราคาข้าวเปลือกในตลาด

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สรุปราคาข้าวเปลือกเปรียบเทียบปัจจุบันกับช่วงปีก่อน พบว่า ทิศทางราคามีแนวโน้มลดลง (เปรียบเทียบ ณ ความชื้น 15% )ข้าวที่มีปริมาณมากที่สุดคือ ข้าวขาว25% ปัจจุบันตันละ 7,600-8,000 บาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ตันละ 7,800-8,500 บาท และลดลงจากปีก่อน ตันละ 8,000-9,000 บาท

ราคาข้าวลดต่ำลงจากสัดส่วนราคาที่ถูกดันให้สูงขึ้น ผ่านโครงการรับจำนำข้าว ที่ดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2554-ต้นปี 2556 ด้วยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท และข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 15,000 บาท แต่เมื่อไม่มีโครงการรับจำนำแล้ว ราคาข้าวก็ควรกลับเข้าสู่สมดุลแห่งกลไกตลาด แต่ในสภาพตลาดจริงปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การผลิตและการค้าข้าวของไทย ปี 2557/58 คาดว่า สต็อกต้นปี 24.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14.9% จาก ปีการผลิต 2556/57 ที่ 21.5 ล้านตัน ผลผลิต 23.4 ล้านตัน ลดลง 4.5% จาก 24.5 ล้านตัน บริโภค 10.9 ล้านตันไม่เปลี่ยนแปลง ส่งออก 10 ล้านตัน ลดลง 4.8% จาก 10.5 ล้านตัน สต็อกปลายปี 27.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10.1% จาก24.7 ล้านตัน

ราคาไม่ขยับเพราะตลาดรับรู้สต็อก

หากประเมินจากปริมาณผลผลิตและปริมาณความต้องการบริโภคแล้ว ทิศทางราคาข้าวในปี 2558 น่าจะมีทิศทางที่ดี เพราะผลผลิตลดลงไปเกือบ 5% ขณะที่ความต้องการบริโภคยังเท่าเดิม แต่ก็มีตัวเลขที่ถือเป็นความกดดันอย่างต่อเนื่องที่จะมีผลต่อราคาข้าวในอนาคตคือ ตัวเลขสต็อกปลายปี ปริมาณ 27.2 ล้านตันเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งตัวเลขสต็อกข้าวนี้มากกว่าครึ่งเป็นสต็อกสะสมจากโครงการรับจำนำที่อยู่ในโกดังของรัฐบาลไทยทั่วประเทศ

“เมื่อตลาดรับรู้ว่ามีข้าวอยู่ในสต็อกของไทย ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งซื้อของ ทำให้กลไกราคาไม่เคลื่อนไหวเท่าที่ควร และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศไม่เคลื่อนไหวเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดหรือไม่ก็ตาม และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเราต้องเร่งจัดการสต็อกข้าวที่มีอยู่นี้ ” นายมานัส กล่าว

กลไกตลาดเล่นงานจำนำข้าว

กรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงสถิติ ราคาส่งออกข้าวของไทยย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน จะพบว่ามีทิศทางเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกในประเทศโดยปี 2553 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะมีโครงการรับจำนำฯ ราคาข้าวขาว 25% ตันละ 463 ดอลลาร์ จากนั้น ปี 2554 ราคาเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2552 ที่เฉลี่ยตันละ 382 ดอลลาร์ ชี้ให้เห็นถึงการตอบรับของตลาดหลังจากที่ไทยใช้นโยบายผลักดันราคาข้าวเปลือกในประเทศให้สูงขึ้น

แต่ปี 2555 ทิศทางราคากลับลดลง เฉลี่ยที่ ตันละ 407 ดอลลาร์ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดียเร่งระบายสต็อก และอีกเหตุผลหนึ่งมาจากปริมาณข้าวในสต็อกรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น อย่างสูงมากกว่า 10 ล้านตัน กลายเป็นแรงกดดันถึงปี 2556 ที่แม้จะมีการใช้นโยบายรับจำนำข้าวอยู่ แต่ราคาข้าวในตลาดโลกกลับไม่ตอบสนอง โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 368 ดอลลาร์เท่านั้น

สต็อกข้าวกดดันราคาข้าวไทยอีก3ปี

ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวไทยมีแนวโน้มทรงตัวในระดับไม่สูงมากอย่างนี้ไปอีก 2-3 ปี จนกว่าไทยจะระบายข้าวในสต็อกให้หมด หรือเหลือน้อยที่สุด เมื่อถึงเวลานั้นกลไกตลาดจะกระตุ้นราคาให้ปรับตัวสู่ระดับที่เหมาะสมเอง

“สต็อกข้าว 17.9 ล้านตันที่มีอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นโจทย์หนักที่สุดของรัฐบาล เพราะปัญหาราคาตกต่ำไม่ใช่ปัญหาปัจจุบัน แต่ข้าว 17.9 ล้านตัน เป็นตัวถ่วงที่ต้องรีบเข้าไปจัดการ” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว

แนวทางในการบริหารจัดการข้าวในช่วงนี้ ควรทำทั้งการเร่งระบายสต็อก และการลดปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด ควบคู่กันไป หากทำได้ก็เชื่อว่าข้าวไทยจะกลับสู่ภาวะสมดุลทั้งราคาและกลไกตลาด ได้ภายใน 2 ปี

ต้องลดผลิตข้าวนาปรัง

แนวทางลดผลผลิตออกสู่ตลาด ให้เน้นการจ้างชาวนาไม่ให้ปลูกข้าวนาปรัง ที่ผลผลิตปกติจะเฉลี่ยปีละ 8-10 ล้านตัน ซึ่งรัฐต้องลดผลผลิตนาปรังให้ได้ เหลือเพียง 5-6 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ ไม่เกิน 2-3 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตรวมของประเทศ ลดลงและมีช่องให้นำข้าวในสต็อกรัฐบาลระบายออกมา

“จะทำอย่างไรให้ชาวนาไม่ปลูกข้าว แต่การเปลี่ยนอาชีพ เป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ต้องทำ คือคำนวณว่า ชาวนามีต้นทุนเฉลี่ยที่ตันละ 5,000-6,000 บาท ราคาข้าวในตลาดเฉลี่ยตันละ 8,000 บาท กำไรประมาณ 3,000-5,000 บาท จ่ายส่วนต่างตรงนี้ให้ชาวนาไปเลย ไม่ต้องปลูกข้าว เมื่อไม่มีของใหม่มาเพิ่มในตลาดก็จะมีช่วงให้ได้จัดการกับสต็อกที่มีอยู่ เพื่อทำให้สถานการณ์กลไกตลาดรีบกลับสู่สมดุล” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว

การส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นในแง่ปริมาณ แต่กลับไม่ทำให้ราคาข้าวในประเทศปรับเพิ่มขึ้นเพราะปริมาณการค้าข้าวของโลกอยู่ที่ 41.9 ล้านตัน ซึ่งตลาดมีความต้องการเท่าเดิม อีกทั้งข้าวไทยมีคู่แข่งอยู่แล้ว การจะเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดต้องใช้แต้มต่อด้านราคาเป็นหลัก ส่วนปัจจัยคุณภาพ การส่งมอบ เป็นเรื่องรองซึ่งมีตัวอย่างพิสูจน์ให้เห็นแล้วจากยอดการส่งออกข้าวช่วงปี 2555-2556 ที่ผ่านมา ดังนั้น การใช้สถานะผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นตัวกำหนดราคาตลาดเองตามใจชอบเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

“ราคาข้าวขาวของไทยปัจจุบันมีส่วนต่างสูงกว่าเวียดนามเฉลี่ย ตันละ 10 ดอลลาร์ ถือว่ายังแข่งขันได้ และไม่น่าแปลกใจที่เวียดนามจะเร่งลดราคาขายเพื่อดึงตลาดคืน เพราะไทยมีข้าวในสต็อกที่พร้อมส่งออกอีกมาก หากไม่เร่งปรับสมดุลกลไกตลาดข้าวด้วยการเคลียร์สต็อกที่มีอยู่ ก็น่าเป็นห่วงว่าตลาดจะเข้าสู่ภาวะการแข่งขันตัดราคา ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทุกฝ่าย”ร.ต.ท.เจริญ กล่าว

พาณิชย์เร่งระบายสต็อก

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยจะกลับมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลก และยอดส่งออกข้าทะลุ 10 ล้านตันอีกครั้ง โดยการทำงานที่สำคัญของกระทรวงคือการเร่งฟื้นตลาดข้าวที่ไทยเสียไปอย่างหนัก เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ จึงได้ตั้งคณะกรรมการทำตลาดร่วมเป็นรายตลาด

ส่วนราคาข้าวทั้งภายในและภายนอกเริ่มเข้าสู่เสถียรภาพ ส่วนข้าวเปลือกเจ้าราคาใกล้ตันละ 8.5 พันบาท สาเหตุที่ราคาข้าวทั้งภายในและภายนอกเริ่มเข้าสู่เสถียรภาพ เนื่องจากมีการเข้าไปบริหารจัดการ และสร้างความมั่นใจแก่ตลาดทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกไม่ตกแบบไม่มีจุดต่ำสุด (bottom)

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า การระบายสต็อกของรัฐ จะเร่งทยอยระบายข้าวในสต็อกของรัฐ โดยเป็นการเปิดประมูลขายข้าวเป็นการทั่วไป ทั้งรูปแบบการขายแบบประมูลเป็นการทั่วไป ที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้ว 3 ครั้ง รวม 3.48 แสนตัน และยังมีบางส่วนขายแบบให้เอกชนที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพื่อส่งออกอีกรวมทั้งหมด 4 แสนตัน และตามติ นบข. ได้อนุมัติวิธีการระบายแบบยกคลัง คาดว่าต้นปี 2558 จะดำเนินการได้ ซึ่งจะทำให้ปริมาณการระบายเพิ่มมากขึ้น รวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การระบายข้าวต้องทำอย่างระมัดระวังและโปร่งใส การระบายข้าวเก่าโดยไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาของข้าวใหม่ และให้ข้อมูลหากมีการขายออก และแจ้งปริมาณที่ชัดเจนเพื่อขจัดข่าวลือ ที่จะกระทบต่อราคา

”การระบายข้าวถ้าทำไม่ดีก็ติดคุกได้ ผมต้องทำให้โปร่งใส อธิบายได้ ส่วนราคาข้าวเปลือกในตลาด ไม่ใช่การปล่อยไปเฉย แต่รัฐได้เข้าไปดูแลเรื่องพัฒนากลไกการรักษาเสถียรภาพราคา ผ่านการให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี หรือสต็อกยุ้งฉางซึ่งเป็นเครื่องมือรักษาระดับราคาในตลาด ด้วยการดูดซับอุปทานส่วนเกินออก “ พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ผลกระทบจากสต็อกข้าว 17.9 มีมากและถ้าจัดการไม่ดีก็ส่อเค้าว่าจะใช้ยาวนานกว่ากลไกการค้าข้าวจะกลับสู่สมดุล สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการคือ การมองไปข้างหน้าและร่วมกันบริหารจัดการเพื่อคืนความเป็นจริงสู่ชาวนาและวงการค้าข้าวซึ่งถูกกลไกเส้นทางการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมแบบสุดโต่งมาสร้างภาพลวงตาให้กลับสู่โลกแห่งความจริง