'เทียนฉาย'ชี้ยังไม่ถึงเวลาพูดทำประชามติ

'เทียนฉาย'ชี้ยังไม่ถึงเวลาพูดทำประชามติ

"เทียนฉาย" ชี้ยังไม่ถึงเวลาพูดทำประชามติ "วันชัย" หนุนสุดลิ่ม ด้าน."เอนก" ระบุหากจะทำต้องมีกม.รองรับ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าว เพราะการทำประชามติอยู่ในช่วงปลายของการร่างรัฐธรรมนูญที่เมื่อดำเนินการร่างเสร็จแล้วก็ต้องมาพูดคุยกัน ขณะนี้จึงยังไม่ได้พูดคุยกันเรื่องนี้ อีกทั้งเรื่องที่ต้องดำเนินเฉพาะหน้านี้ก็มีจำนวนมาก โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น การปฏิรูปจะทำอย่างไร อย่างไรก็ตามควรทำประชามติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง และเมื่อใกล้เวลาแล้วก็จะรู้ ซึ่งหากทุกคนเห็นสอดคล้องกันในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและก็จะได้ข้อสรุปภายในตัวรัฐธรรมนูญ

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.)? กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการหารือกันในวิป สปช. ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวคิดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กมธ.ยกร่างฯ) ที่พูดก่อนนี้ว่าถ้าทำประชามติต้องใช้เวลาต่ออีก 3 เดือน ส่วนตัวเห็นว่าจะมีการประชามติหรือไม่ต้องดูที่กระแสต่อไป และถ้าไม่มีเหตุสุดวิสัยหรืออุปสรรคอะไรเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำยอมรับของประชาชน ทำให้รัฐธรรมนูญมีภูมิคุ้มกันได้อย่างดี และหากมีใครคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกก็จะเห็นว่าประชาชนมีมติเอารัฐธรรมนูญนี้แล้ว จึงทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวปี2557 ก็ไม่ได้ปิดกั้นเอาไว้ว่าห้ามหรือผูกมัดเรื่องทำประชามติ จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และหากมีการให้ทำประชามติคงต้องดูช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.2558 หากไม่มีสถานการณ์อะไรก็คงขอประชามติได้ อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวไม่คิดว่าเป็นการยืดเวลาของคสช. เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ต้องเตรียมกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องยืดเวลาอออกไป

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิก สปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กมธ.ยังไม่ได้คุยกันในเรื่องนี้ แต่กมธ.หลายคน โดยเฉพาะนายบวรศักดิ์ อยากให้ทำประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญชั่วคราาวปี2557 ที่เขียนไว้ให้สปช.ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ และการทำประชามติก็ไม่มีในรัฐธรรมนูญ กระบวนการให้เห็นชอบเป็นของสปช. ไม่ใช่ของประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่หากมีการเรียกร้องให้ทำประชามติ ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว เพราะถ้าไม่แก้ไขก็ต้องดูว่าเมื่อทำประชามติแล้ววจะมีผลอย่างไร ซึ่งการทำประชามติต้องมีกฎหมายรองรับ เนื่องจากต้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ดำเนินการ ต้องมีการใช้งบประมาณ แต่หากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลการทำประชามติก็จะไม่มีผลบังคับใช้

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช. ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เรื่องการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นความเห็นของกมธ.ยกร่างฯ จำนวนหนึ่ง ที่มองว่าถ้าทำประชามติจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนจะยอมรับรัฐธรรมนูญมากขึ้น และหากทำประชามติก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 โดยมาตรา46 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุว่า กรณีจำเป็นและสมควร คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสสงบแห่งชาติ(คสช.) จะมีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตามหากมีการทำประชามตินั้น ระยะเวลาของร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเพิ่มขึ้นอีก 3-4 เดือน