"มาย" ขนมเพื่อสุขภาพจาก "ใจ"

"มาย" ขนมเพื่อสุขภาพจาก "ใจ"

“มาย” ผลิตภัณฑ์เม็ดบัวอบกรอบเพื่อสุขภาพ จากวัตถุดิบออร์แกนิก สินค้า "จากใจ" ให้ความสุขกับทั้งคนทานและคนทำ

“วันนี้โลกเราโตขึ้น อุตสาหกรรมเจริญ แต่คุณธรรมเรื่องอาหารกลับด้อยลง เพราะเราไปเน้นอะไรที่ตอบโจทย์ความรวดเร็ว กินง่าย สะดวก ได้ปริมาณ ทันการณ์ ทันเวลา เลยต้องใช้พวกสารเร่ง ลืมคำนึงเรื่องความปลอดภัย โรงงานเองก็เข้ามาบุกรุกพื้นที่เพาะปลูก จนลืมคิดไปว่า นี่คือแหล่งวัตถุดิบที่เราใช้ทำอาหาร”

บทสนทนาระหว่างกรุงเทพธุรกิจ Bizweek กับ “ณิชชา เต็งประวัติ เล” ผู้ประกอบการวัย 29 ปี ผู้จัดการ บริษัท ทีแอลเทรดวินด์ จำกัด หนึ่งผู้เล่นในตลาดขนมเพื่อสุขภาพ(Healthy Snacks) กับประเด็น “คุณธรรมอาหาร” สถานการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารของบ้านเรา

เมื่อไม่เห็นด้วยกับวิถีทางแบบเก่า ก็ต้องเลือกทางเดินสายใหม่ ที่มาของ “มาย” (MAI) ผลิตภัณฑ์เม็ดบัวอบกรอบ ธัญพืชอบกรอบ และชาจากบัว ธุรกิจที่เริ่มต้นเมื่อประมาณ 2 ปี ที่ผ่านมา และเติบโตมาพร้อมกับลูกสาว ที่มาของชื่อแบรนด์ “น้องมาย” เด็กหญิง ฐิรนันทร์ มาย เล จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอตัดสินใจย้ายจากเมืองกรุงมาลงหลักปักฐานที่จังหวัดบ้านเกิดสุรินทร์

แล้วจะทำอะไรดีที่สุรินทร์ คุณแม่มือใหม่บอกเราว่า เธอเริ่มจากดูว่า แถบนี้มีวัตถุดิบอะไรบ้างที่โดดเด่น และมีปริมาณมากพอที่จะมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้ จนมาสะดุดใจกับ “บัว” ที่คนไทยคุ้นชินมาแต่เก่าก่อน ทั้งเอาไปถวายพระ ทานเป็นยา หรือแม้แต่นำมาประกอบอาหาร แต่ทานกันแบบง่ายๆ บ้านๆ

วิเคราะห์ดูถึงศักยภาพในการทำ บัวปลูกง่าย ต้นทุนในการปลูกไม่สูง ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ปลูกโดยวิถีธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี ก่อเกิดที่ไหน สิ่งแวดล้อมที่นั่นก็งดงาม ธรรมชาติก็เป็นสุข

เมื่อเห็นวัตถุดิบที่สะท้อนถึงโอกาส เลยนำมาสู่การแปรรูปบัวเป็นขนมเพื่อสุขภาพ โจทย์ก็แค่ “ของอร่อย แปลกใหม่ ทานสะดวก และเก็บรักษาได้นาน”

ที่มาของผลิตภัณฑ์ตัวแรก เม็ดบัวอบกรอบ ที่ดีต่อสุขภาพเพราะไม่ใช้การทอด ไขมันต่ำ ไม่มีน้ำตาล ไม่มีสารปรุงแต่ง และได้สรรพคุณล้นประโยชน์ กลายเป็นของกินเล่นที่เป็นประโยชน์ กับทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุ

“เรายังคงอิงในรสที่เป็นธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง เพราะคนระดับวัยทำงาน และผู้สูงอายุ จะเน้นสุขภาพมากกว่าความอร่อย เราทำอร่อยในระดับหนึ่ง แต่ต้องดีต่อสุขภาพของเขาด้วย ซึ่งสังเกตว่า ผู้สูงอายุไม่ค่อยมีขนมทานเล่นนะ ค่อนข้างจำกัดมาก ดังนั้นเม็ดบัวจะขายดีมากในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งตลาดหลักของเรา 60% เป็นผู้สูงอายุ”

มาย เลือกใช้บัวพันธุ์ “บัวหลวง” เพราะขนาดเม็ดใหญ่ มีรสชาติหวาน และเหมาะกับการอบกรอบ โดยจากเม็ดบัว ก็พัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์จากส่วนอื่นของบัวด้วย เช่น ชาดีบัว ชาใบบัวและชารากบัว โดยใบยังนำมาอบแห้ง เพื่อส่งให้กับร้านอาหารไปทำเป็นเมนูข้าวอบใบบัว มีเพียงส่วนประกอบเดียวที่ไม่ได้ใช้ คือ ดอกบัว เธอบอกว่า ในตลาดยังขายได้ เพราะคนนิยมซื้อไปถวายพระ ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเอามาแปรรูปทั้งหมด ส่วนอนาคตก็มองที่จะขยับขยายไปสู่ธัญพืชตัวอื่นด้วย เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ อบกรอบ จุดยืนเดิมก็แค่ อยู่บนผืนดินไทย ปลูกแบบออร์แกนิก แปลกใหม่ และเป็นประโยชน์

เมื่อความยั่งยืนของธุรกิจ ต้องเริ่มจากการมีวัตถุดิบที่ยั่งยืน พวกเขาเลยเลือกไปสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกบัวกันมากขึ้น เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่ายและใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน โดยที่ต้นทุนในการปลูกก็ไม่ได้สูงมากมาย เพื่อสนับสนุนชุมชนให้เกิดการพัฒนาที่ยังยืน ขณะที่ยังทำโครงการร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ในชนบท โดยการไปชักชวนเด็กๆ ให้ปลูกบัว พืชที่ให้ทั้งความสวยงาม และสร้างระบบนิเวศน์ที่ดีให้สิ่งแวดล้อม พร้อมปลูกฝังเด็กๆ ให้เห็นคุณประโยชน์ของบัว ที่ไม่ใช่แค่ทานแล้วดี แต่ยังสามารถนำมาขายเป็นรายได้ให้พวกเขาในอนาคตได้ด้วย

และนี่ก็คือแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งวัตถุดิบของพวกเขา

เป็นธุรกิจที่ดี แต่ก็ต้องมีวิธีอยู่รอดในเชิงธุรกิจ เธอบอกว่า มายยังคงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง และมุ่งพัฒนาคุณภาพการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี ได้มาตรฐานพร้อมขยับขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ “มาย” มีขายทั้งในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของไทย ร้านขายของฝากทั่วประเทศ กลายเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดสุรินทร์ ประมาณว่า ไปสุรินทร์ไม่ได้ซื้อเม็ดบัวกลับมาก็เหมือนยังไปไม่ถึงสุรินทร์

ขณะที่ต่างประเทศก็เริ่มเจาะตลาดอาเซียน อย่าง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยมีกำลังการผลิต ประมาณ 30 ตันต่อเดือน

ในอนาคตเธอบอกว่าจะขยายตลาดให้มากขึ้น โดยในเออีซี ยังมอที่จะไปสู่กัมพูชาและลาว ทั้งในรูปแบบของโออีเอ็มและจำหน่ายในแบรนด์ตัวเอง

ปีนี้ใครๆ ก็พูดถึงเออีซี ผู้ประกอบการไทยอยากไปเออีซี อยากมีโอกาสเติบใหญ่ในภูมิภาคนี้ สำหรับแบรนด์มายวิธีคิดสยายปีกไปในอาเซียน ไม่ได้มองแบบนักธุรกิจ แต่มองแบบคนที่เข้าใจภูมิภาคนี้อย่าง “ลึกซึ้ง” เธอเลือกเรียนด้าน “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท เรียนสาขาภาษาเวียดนามและเวียดนามศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และกำลังเรียนภาษาทางการของ กัมพูชา เธอว่า สนุกที่จะเรียนรู้ “ไลฟ์สไตล์คนอาเซียน”

“การจะไปทำตลาดประเทศไหน เราต้องรู้จัก ผู้คน สังคม และวัฒนธรรมของเขาก่อน ต้องดูว่า เขาชอบอะไร ดำเนินชีวิตแบบไหน มีไลฟ์สไตล์อย่างไร จะได้รู้ว่า ต้องเจาะตลาดแบบไหน และสินค้าของเราเหมาะหรือไม่เหมาะ ขณะที่การพูดภาษาเดียวกับเขา สื่อสารด้วยภาษาของเขา เขาจะไว้เนื้อเชื่อใจเรา เราจะเข้าถึงเขาได้ง่าย เพราะความรู้สึกเหมือน เราคือคนบ้านเขา ไม่ใช่คนต่างชาติ”

เธอสะท้อนความคิด และพิสูจน์ความสำเร็จมาแล้วด้วยการเติบโตของมายในอาเซียน

เทรนด์ของความนิยมในสินค้าเพื่อสุขภาพ และการมาถึงของสังคมผู้สูงอายุ เป็นตัวสนับสนุนสำคัญให้ธุรกิจของมายค่อยๆ เติบใหญ่ขึ้น และมองเห็นแสงสว่างชัดในอนาคต

โดยมายมีทุนจดทะเบียนที่ 10 ล้านบาท ใช้เงินลงทุนในปีแรกที่ประมาณ 5 ล้านบาท พวกเขาใช้เวลาเพียง 2 ปี ในการเข้าสู่สภาวะ “คืนทุน”

แม้จะประสบความสำเร็จในมิติของธุรกิจ แต่เธอก็ยังย้ำว่า ความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้วัดด้วยตัวเงิน แต่คือ การที่ลูกค้ายอมรับ ไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ และกลับมาซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่องจนเกิดการบอกต่อ “ปากต่อปาก”

“การประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องความสบายใจด้วย ที่ได้เห็นรอยยิ้มของลูกค้า เห็นความสุข เห็นสิ่งดีๆ ที่เราหยิบยื่นให้เขา เห็นว่าเขากินสินค้าเราแล้วมีประโยชน์ เป็นของจริง ไม่ได้โกหก นี่คือความสุขที่เราได้จากการทำธุรกิจนี้”

ขณะที่มิติของธุรกิจ เธอบอกว่า ขอแค่ให้อยู่ได้ ไม่ขาดทุน มีการเติบโต โดยไม่มุ่งเอากำไรมากเกินไป โดยอยู่กันแบบ “ลูกค้าแฮปปี้ ธุรกิจมีความสุข” ที่สำคัญต้องรู้จัก “คืนให้กับสังคม” ด้วย

“การทำธุรกิจ ต้องมีคุณธรรม จริงใจ ซื่อสัตย์ และแคร์ความรู้สึกของลูกค้า ซึ่งการที่เราไม่โกหก จริงใจกับลูกค้า เขาก็จะเชื่อถือเราตลอดไป และสิ่งเหล่านี้จะทำให้การทำธุรกิจยั่งยืน”

ธุรกิจที่เติบโตมาพร้อมกับลูกสาวตัวน้อย ค่อยๆ แข็งแรงขึ้นในวันนี้ กับเป้าหมายที่คนทำบอกว่า ยังอยากเห็นแบรนด์เล็กๆ นี้ เป็นหนึ่งในสินค้าไทยที่ขายได้ทั่วโลก

ด้วยจุดยืนของสินค้าที่ดี ต่อผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม