"I Am Malala" เธอคือเด็กหญิงผู้เปลี่ยนโลก

"I Am Malala" เธอคือเด็กหญิงผู้เปลี่ยนโลก

ตาลิบันยิงศีรษะเธอเพราะหวังจะลบชื่อเธอออกจากแผ่นดินปากีสถาน...

ทว่ากระสุนนัดนั้นไม่ฆ่าเธอ ซ้ำยังส่งให้ Malala Yousafzai เป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะ 'ตัวแทนแห่งสันติภาพ'

เด็กและสตรีถูกทารุณและเข่นฆ่าบนแผ่นดินปากีสถานอาจเป็นเรื่องเกือบธรรมดาบนแผ่นดินปากีสถานไปเสียแล้ว ไม่ใช่เพราะพื้นฐานของคนปากีสถานคือคนเหี้ยมโหด แต่ด้วยคำสอนที่ถูกบิดเบือนซึ่งกลุ่มตาลิบันยึดถือทั้งยังพยายามใช้หลักคำสอนนั้นมายัดเยียดให้ชาวปากีสถานต้องทำตาม สิทธิต่างๆ ซึ่งเด็กและสตรีควรมีจึงลดทอนเหลือเพียง 'ผู้หญิงเหมือนสัตว์เลี้ยง' ที่ต้องรอรับความช่วยเหลือจากผู้ชายเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ชายคือเจ้าชีวิตของสตรีปากีสถาน จะทำอะไรต่อพวกเธอก็ได้ ไม่เว้นแม้การทำร้ายหรือฆ่า

ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปากีสถานและตะวันออกกลางอื่นๆ ซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธควบคุมอำนาจอยู่คล้ายการตีกรอบหนาและแข็งให้คนบริสุทธิ์ดำเนินชีวิตไปตามครรลองที่กองกำลังฯต้องการให้เป็น แต่แน่นอนว่ายิ่งกรอบหนาเท่าไร พื้นที่ถูกบีบอัดมากแค่ไหน แรงดันภายในนั้นย่อมมากขึ้นทุกวี่วัน จนระเบิดออกไม่วันใดก็วันหนึ่ง...

กระทั่งสิ้นเสียงปืนที่ตาลิบันมอบความตายให้แก่เด็กสาวคนหนึ่ง แทนที่จะเงียบงันไปพร้อมกับควันจางๆ จากปลายกระบอกปืน ทั้งโลกกลับส่งเสียงจนสั่นสะท้าน นอกจากชีวิตของ มาลาลา ยูซัฟไซ จะไม่ถูกพรากไป ชื่อของเธอยังถูกแซ่ซ้องสรรเสริญถึงความกล้าหาญที่น้อยคนจะกล้าทำ

สิงที่เธอทำก่อนที่จะกลายเป็นเป้าสังหารของกลุ่มตาลิบันคือ เธอทำลายกรอบที่ตาลิบันสร้างขึ้นโดยกองกำลังฯอ้างคำสอนอันบิดเบือน...เธอเรียนหนังสือ เธออ่านหนังสือ เธอเขียนหนังสือ เธอกล้าพูดในสิ่งที่ควรพูด เธอกล้าทำในสิ่งที่ควรทำ แม้นั่นจะถูกตีตราว่านอกคอก ทว่าสำหรับเธอแล้ว สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโลก และปลดแอกผู้คนจากกรงขังทางความคิดได้คือการศึกษา ซึ่งทำได้โดย "เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน หนังสือหนึ่งเล่ม และปากกาหนึ่งด้าม"

-1-

"หยิบหนังสือของเราและปากกาของเราขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่ทรงอานุภาพกว่าอาวุธ เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน หนังสือหนึ่งเล่ม และปากกาหนึ่งด้าม เปลี่ยนโลกนี้ได้"

นี่คือคำกล่าวอันเลื่องชื่อของเด็กหญิงปากีสถาน ต่อหน้าสหประชาชาติ ขณะที่เธออายุครบ 16 ปี เด็กผู้หญิงคนนี้ชื่อว่า มาลาลา ยูซัฟไซ เธอเป็นเพียงเด็กหญิงกล้าแสดงออกคนหนึ่งที่รักเรียนและรักการทำกิจกรรม ซึ่งไม่น่าแปลกสำหรับสังคมเสรี แต่เด็กผู้หญิงแบบเธอเป็นเสมือนอาชญากรในสายตาของใครหลายคน ภายในสังคมจารีตอย่างปากีสถาน

ระหว่างที่มาลาลาเดินทางกลับจากโรงเรียนในวันหนึ่ง ตาลิบันจึงยิงศีรษะเธอ เพียงเพราะเธอเป็นเด็กหญิงที่อยากไปโรงเรียน

ใครจะเชื่อว่าแต่เดิม โมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้ก่อตั้งประเทศปากีสถาน ต้องการให้ประเทศแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง (tolerance) และประกาศเมื่อไม่นานก่อนวันที่ปากีสถานได้รับเอกราชว่า “ทุกคนมีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนา หรือลัทธิใดๆ ก็ได้ โดยรัฐไม่มีสิทธิก้าวก่าย” แต่เมื่อมีการเปลี่ยนอำนาจมาสู่มือของเผด็จการอย่างนายพลเซีย อุล-ฮัค ปากีสถานก็กลายเป็นสังคมที่ปิดกั้น โดยเฉพาะต่อผู้หญิง ซึ่งมีคุณค่าเพียงครึ่งเดียวของผู้ชาย ความยุติธรรมเริ่มเลือนหายลงอีกเมื่อตาลิบันเข้ามามีอำนาจ

ตาลิบันนำกฎหมายอิสลามที่เข้มงวดที่สุดเข้ามาใช้ การควบคุมคนให้อยู่ในกำมือทำได้ด้วยกระบอกปืน ผสมกับการล้างสมองด้วยอุดมการณ์ทางศาสนา เพราะคนโง่ย่อมปกครองง่ายกว่าคนฉลาด ดังนั้น การบั่นทอนเรื่องการศึกษาจึงเป็นกลยุทธ์อีกอย่างหนึ่ง บรรดาโรงเรียนจึงถูกวางระเบิด ครูและนักเรียนถูกลอบทำร้าย ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องเป็นความเห็นที่ไปในทางเดียวกับตาลิบันเท่านั้น ผู้ที่เห็นต่างจะต้องเผชิญกับความตาย

ในสายตาชาวโลก ตาลิบันฉาวโฉ่เรื่องการปฏิบัติต่อผู้หญิง ผู้หญิงมีค่าแทบไม่ต่างจากวัวควาย หน้าที่มีเพียงดูแลบ้านและให้กำเนิดลูกเท่านั้น ตาลิบันบิดเบือนคำสอนของอิสลาม และสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงไปโรงเรียน ผลของการขาดการศึกษาคืออวิชชา คนที่ไร้การศึกษาอาจถูกชี้นำหรือล้างสมองได้ง่าย ผู้หญิงที่ไร้การศึกษาต้องพึ่งพาผู้ชายไปตลอดชีวิต

แต่สังคมในอุดมคติของเด็กหญิงมาลาลา คือสังคมที่มีเสรีภาพ ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนสามารถเปิดปากหรือจรดปลายปากกาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพราะเธอเชื่อว่าพระเจ้ามีเหตุผลที่สร้างมนุษย์ขึ้นมาอย่างหลากหลาย และต้องเป็นสังคมที่ปราศจากความรุนแรง

สำหรับเธอ หนทางเดียวที่จะปลดปล่อยผู้คนสู่เสรีภาพได้คือการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิ่งทรงพลังที่จะช่วยขจัดความเขลา ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม

การศึกษาไม่ใช่เรื่องของตะวันตกหรือตะวันออก หากแต่เป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน การศึกษาไม่ได้หยุดแค่เพียงป้อนข้อมูลต่างๆ เข้าไปในสมองของนักเรียน แต่ต้องเป็นการศึกษาที่สอนให้คนกล้าตั้งคำถาม กล้าแสดงความคิดเห็น และกล้าแสดงตัวตนของตัวเอง การศึกษาในอุดมคติคือการมีความคิดเชิงวิพากษ์ ดังเช่นมาลาลาและพ่อของเธอ ในเมื่อนักการเมืองล้วนง่อยเปลี้ย “ก็ต้องมีใครสักคนพูดอะไรออกมา”

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดหนังสือเรื่อง I Am Malala ซึ่งมาลาลา ยูซัฟไซ เป็นผู้เขียนด้วยตัวเอง โดยบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ของเธอกับพ่อในปากีสถาน ทั้งยังได้นักข่าวดีเด่นอย่างคริสติน่า แลมบ์ เป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และการเมืองของประเทศนี้ ทำให้ I Am Malala เป็นหนังสือที่ล้ำลึกหลากมิติยิ่งขึ้น

หนังสือเล่มนี้คือหลักฐานของอานุภาพแห่ง “ปากกา” หนังสือเล่มเดียว ข้อเขียนเรื่องเดียว ทำให้ทั่วโลกรับรู้ถึงความอยุติธรรม ทำให้ชื่อของมาลาลาเป็นที่จดจำ นิตยสาร Forbes จัดให้เธอเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก และเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุด ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปีนี้

“อาวุธ” ของมาลาลามีแสนยานุภาพมากกว่าปืนชนิดใดๆ

ใครว่าปากีสถานเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ว่าประเทศไหนบนโลกล้วนมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง ทุกประเทศล้วนมีพัฒนาการและจุดบอด มนุษย์ทุกหนแห่งล้วนมีความคิดจิตใจไม่ต่างกัน การอ่านเรื่องของคนอื่น จึงเป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนตัวตน เพื่อให้เราตรวจสอบตัวเอง

จะเป็นอย่างไรหากเราได้อยู่ในสังคมที่ไร้อคติ สังคมที่ตระหนักว่าการศึกษา เสรีภาพแห่งปัจเจก และความเท่าเทียมสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด...คือสิ่งที่ วรางคณา เหมศุกล บรรณาธิการหนังสือ I Am Malala เขียนไว้

-2-

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 19 ภาพหญิงสาวหน้าคมห่มฮียาฟสีชมพูสดใส น่าจะพอคุ้นตานักอ่านที่ไปเดินชมและเลือกซื้อหนังสือในงานกันอยู่บ้าง หญิงสาวคนนั้นคือ มาลาลา ยูซัฟไซ และนั่นคือปกหนังสือของเธอซึ่งมาลาลากับ Cristina Lamb (คริสตินา แลมบ์) ร่วมกันเขียนขึ้นมา โดยในฉบับภาษาไทย สหชน สากลทรรศน์ เป็นผู้แปล

นอกจากใบโฆษณาและหนังสือ I Am Malala จะเป็นสีสันในงานมหกรรมหนังสือฯ อย่างปฏิเสธไม่ได้ การเสวนา 'I Am Malala หนังสือและปากกา เหนือกว่าอาวุธ' เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557 ณ ห้องมีตติ้งรูม 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ยังเรียกแขกทั้งนักอ่านและผู้สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนจนอบอุ่นไปทั้งห้องจัดงานอีกด้วย

ด้วยค่าที่หนังสือเล่มนี้เป็นผลพวงของความเชื่อของ มาลาลา ที่ว่า ปากกาสู้กับปลายกระบอกปืนได้ เธอเขียนเรื่องราวของเธอ และอธิบายความไม่เท่าเทียมของมนุษย์ในปากีสถานให้ผู้คนได้รับรู้ ความตระหนักรู้จากผู้คนทั่วโลกนี้เอง ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความพยายามช่วยเหลือ และยกระดับสังคมปากีสถาน

ถึงแม้เรื่องราวใน I Am Malala จะเกิดขึ้นในปากีสถาน ซึ่งอาจเหมือนไกลตัว แต่ประเด็นความคิดในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย...

ดร.สิริกร มณีรินทร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่าหนังสือเล่มนี้เล่าตั้งแต่จุดกำเนิดเด็กหญิงมาลาลา ซึ่งสิ่งที่แปลกประหลาดกว่าครอบครัวมุสลิมอื่นๆ ในปากีสถานคือตอนที่มาลาลาเกิดทุกคนในครอบดีใจแม้เธอจะเป็นลูกสาว หลังจากนั้นมาลาลาก็ได้เติบโตในครอบครัวที่น่าชื่นชม

นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้มาลาลาและครอบครัวจะมีความคิดแบบก้าวหน้า แต่ไม่ลบล้างคำสอนของศาสนาที่นับถือ

“ในหนังสือมีตอนหนึ่งที่มาลาลาไปได้ยินข่าวเบเนซี บุตโตถูกฆ่าตาย แล้วมีคนบอกว่าดีแล้วที่ถูกฆ่า มาลาลาก็มาเล่าให้พ่อฟัง พ่อก็บอกว่าอย่างไรก็ต้องเรียนศาสนา เพราะเราต้องพึ่งครูสอนศาสนาเพื่อสอนอัลกุรอาน แต่ลูกมีอิสระที่จะตีความ นี่ชี้ให้เห็นว่าคุณพ่อไม่ใช่คนธรรมดาเลย เป็นคนมีวิสัยทัศน์อย่างยิ่ง

ในนาทีที่มาลาลาถูกยิงแล้วต้องผ่าตัด ในความรู้สึกของพ่อบอกว่าลูกเป็นเหมือนจักรวาลสำหรับพ่อ ตรงนี้อาจเป็นหน้าที่ชอบที่สุดในหนังสือ เขาบอกว่าสำหรับพ่อลูกคู่นี้ ลูกเป็นเหมือนมิตรสหายที่เคียงบ่าเคียงไหล่ในการต่อสู้ คือไม่ได้สอนเพียงหนังสือ แต่สอนวิธีคิด วิธีมองโลก โดยยึดมั่นศรัทธาในศาสนา เขาจึงพูดถึงความดีตลอด”

ดร.สิริกร กล่าวเปรียบเทียบด้วยว่าสิ่งที่มาลาลาเรียกร้องคือเรื่องการศึกษา ในบ้านเราก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบ

“พ่อของมาลาลาคงจะเป็นหนึ่งในล้านของชาวมุสลิมที่มีความคิดอิสระแบบนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามก็อยากให้ครูและผู้จัดการศึกษาในประเทศไทยมองกรณีนี้ กรณีที่มาลาลากำลังเรียกร้องสิทธิ์เข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้หญิง ในประเทศไทยคงจะเป็นอีกแบบหนึ่ง คงต้องเรียกร้องสิทธิ์เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้มากขึ้น”

ส่วน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ก็บอกว่าโอกาสที่มาลาลาได้มาจากครอบครัว คือครอบครัวเปิดโอกาสให้คิดแตกต่างได้

“การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดจากการใช้อำนาจเกินขอบเขต อีกมุมหนึ่งของการกดขี่มันมีมุมของการเลือกปฏิบัติอยู่ด้วย มาลาลาเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับตาลิบัน ดังนั้นสิ่งที่เธอต่อสู้อยู่ไม่ใช่แค่กรอบของรัฐชาติเท่านั้น แต่เป็นกรอบของการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ แม้เป็นศาสนาเดียวกันแต่เธอก็ต่อสู้กับอำนาจกลุ่มศาสนาที่ติดอาวุธ

สิ่งที่มาลาลาต่อสู้อยู่คือพลังทั้งที่เป็นอาวุธ พลังของกลุ่มผู้ชายที่ยึดเอาหลักศาสนามากดขี่ผู้หญิงและคนในสังคม แล้วยังต้องต่อสู้กับบริบทสังคมในปากีสถาน คือการที่เด็กผู้หญิงจะออกมาพูดหรือชี้นำสังคมมันเป็นสิ่งไม่ควรพึงปฏิบัติ ดังนั้นมาลาลาจึงยืนอยู่ท่ามกลางพายุหลายด้านมาก”

และอย่างที่ทราบกันว่ามาลาลาคือผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปีนี้ ซึ่งเธอคือผู้ได้รับรางวัลที่มีอายุน้อยที่สุด สำหรับนักคิดนักเขียนอย่าง อนุสรณ์ ติปยานนท์ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ควรอ่าน ไม่ใช่เพราะมาลาลาได้รางวัลโนเบล แต่หนังสือเล่มนี้แสดงสิ่งที่เรียกว่า ‘Youth Power’

“คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับเยาวชน สิ่งต่างๆ ในช่วงอายุของพวกผม สิบกว่าขวบยังดีดลูกหิน เล่นตี่จับ แต่เยาวชนพวกนี้เขาเติบโตมาพร้อมกับเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ต เมื่อไรก็ตามที่ความรู้ไปสู่เยาวชนมากเท่าไร มันก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าคำถามขัดแย้งกับกรอบความคิดเดิม”

เขาบอกว่าพลังเยาวชนเหล่านี้หากเกิดขึ้นแล้วจะหยุดไม่ได้ เพราะพลังของเด็กคือการมองไปที่อนาคต อนาคตที่พวกเขาต้องไปดำเนินชีวิต จุดที่มาลาลาเห็นก็เหมือนกันคือเราจะอยู่บนโลกนี้โดยที่ไม่มีการศึกษาได้อย่างไร

“การศึกษาคือสิ่งเดียวที่ทำให้คนอยู่ในอนาคต หนังสือ I Am Malala คือการพูดเรื่องอนาคตในมือเรา คุณจะดึงอนาคตออกจากมือเราได้อย่างไร คุณไม่ให้เราเรียนแล้วคุณจะให้เราถอยหลังไปอยู่กับอดีตหรืออย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่ตาลิบันพยายามป้อนบางอย่าง มาลาลาก็พยายามทำลายกำแพงนั้น สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นและน่าสนใจมาก”

หลังจากที่มาลาลาได้รับรางวัลโนเบล มาลาลายิ่งเป็นเป้าหมายสังหารสำคัญของตาลิบัน เธอยังกลับเข้าประเทศปากีสถานไม่ได้ แต่เสียงที่เธอส่งผ่านทั้งบนเวทีสหประชาชาติและในหน้ากระดาษของหนังสือ I Am Malala กำลังกึกก้องไปทั่วโลก

แม้เธอจะกลับบ้านในปากีสถานไม่ได้ตลอดชีวิต ทว่าชื่อของหญิงสาวคนนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมให้ทุกคนได้เข้าใจคำว่า ‘สิทธิเสรีภาพ’ อันเกิดขึ้นจาก ‘พลังเยาวชน’

ไม่วันใดก็วันหนึ่ง โลกมุสลิมที่อยู่ภายใต้ร่มเงาตาลิบันและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ อาจสั่นสะท้านจนเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เป็นได้