ดึงเจ้าสัวธุรกิจ'เรือธง'พัฒนา ดัน'เอสเอ็มอี'เจาะตลาดโลก

ดึงเจ้าสัวธุรกิจ'เรือธง'พัฒนา ดัน'เอสเอ็มอี'เจาะตลาดโลก

มิติใหม่รัฐผนึกเอกชน ดึง4เจ้าสัว "เรือธง"ขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร โลจิสติกส์ เอสเอ็มอี ดันไทยศูนย์กลางศก.อาเซียน

หวังปรับทัศนคติไว้วางใจการทำงานภาครัฐ แนะเอกชนเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานเป็นคลัสเตอร์ หนุน"เอสเอ็มอี"จับมือธุรกิจขนาดใหญ่บุกตลาดโลก

นับเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐได้เชิญ"เจ้าสัว" จาก 4 กลุ่มธุรกิจชั้นนำของไทย มาทำความเข้าใจทิศทางการทำงานของรัฐบาล พร้อมเปิดให้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยมีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมหารือเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ห้องรับรองกระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ

โดยมี 4 เจ้าสัว เดินทางมาร่วมหารือไม่ว่าจะเป็น นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานผู้บริหาร กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ธุรกิจเกษตรครบวงจรของไทยที่มีเครือข่ายการค้าธุรกิจเกษตรในหลายประเทศ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร ทีซีซี กรุ๊ป ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สินค้าอุปโภคบริโภค อสังหาริมทรัพย์ในไทยทั้งในไทยและอาเซียน นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ผู้นำธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และนางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทบูติกนิวซิ้ตี้ จำกัด(มหาชน)ในเครือสหพัฒน์ พร้อมด้วยนายเวทิต โชควัฒนา กรรมการและกรรมการบริหาร เครือสหพัฒน์ ผู้นำสินค้าอุปโภคบริโภคระดับประเทศ

นอกจากนี้ ทั้ง 4 บิ๊กธุรกิจล้วนกำลังดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกบุกตลาดต่างประเทศ ทั้งขยายการค้าและการลงทุน โดยมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจรวมกันเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี

ชู"เรือธง"นำพัฒนาธุรกิจไทย

แหล่งข่าวที่ร่วมประชุม กล่าวว่าเป็นการพูดคุยหารือระหว่างเจ้าของธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทย โดยใช้เวลากว่า1 ชั่วโมง เพื่อต้องการทำความรู้จัก ปรับทัศนคติ และทำความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางพัฒนาประเทศ การทำงานเป็น "ทีมเดียวกัน" ระหว่างภาครัฐและเอกชน

โดยเห็นว่าทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่จะเป็น “เรือธง" (Flagship)พัฒนาธุรกิจไทย โดยเฉพาะการพัฒนาเชื่อมโยงไปกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และกลุ่มเกษตรกร ผลักดันสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจไทยทั้งระบบ

เนื่องจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญในการเจาะตลาดโลกอยู่แล้ว จึงมีบทบาทสำคัญในการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไทยไปแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างครบวงจร

รัฐแจงทำงานเชื่อม"ผลิต-ตลาด"

นอกจากนี้ พล.อ.ฉัตรชัย ได้ระบุถึงแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศว่า จากนี้ไปภาครัฐจะเน้นการสร้าง "เครือข่าย" ด้วยการเชื่อมโยงภาคธุรกิจอย่างครบวงจร ในแต่ละคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ภาคการผลิตไปจนถึงการตลาด โดยรัฐบาลจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองและเอกชน

ตัวอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต และกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐที่ดูและเรื่องการพัฒนาด้านการตลาด ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนสินค้าไทยสู่ตลาดโลก และเตรียมรับมือการแข่งขันกัน โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน หรือ ซัพพลายเชน

"หน่วยงานที่ดูแลด้านกลไกการผลิตและการตลาดของรัฐ จะต้องร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อพัฒนาธุรกิจไทย โดยขอความร่วมมือให้ภาคธุรกิจเป็นเรือธง ช่วยพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีไปสู่ตลาดโลก ที่ควรต้องมีการพัฒนาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั้งซัพพลายเชน ในแต่ละสินค้าเป็นกลุ่มคลัสเตอร์” แหล่งข่าว กล่าว

เล็งหารือ'รัฐ-เอกชน'รอบสอง

แหล่งข่าว กล่าวว่าการหารือกับผู้นำธุรกิจที่มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกับพล.อ.ฉัตรชัย ที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับวิธีคิดและมุมมองของภาครัฐให้เชื่อมโยงการทำงานกับนักธุรกิจ สร้างความเข้าใจและไว้ใจการทำงานในบทบาทของแต่ละคนมากขึ้น

"เป็นการพบกันครั้งแรก มีเวลาพูดกันคนละ 10-15 นาที แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพูดคุย เพื่อสะท้อนมุมมองวิธีคิดและปรับทัศนคติการทำงานให้ได้เข้าใจตรงกันมากขึ้น ประเมินจากสถานการณ์การประชุมครั้งแรก มีความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ฉัตรชัย จะนัดหารือกับภาคเอกชนอีกรอบ เพื่อลงลึกรายละเอียดของวิธีการร่วมมือกัน"

'สหพัฒน์'ชงเปิดเวทีหารือกระทรวงอื่น

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการและกรรมการบริหาร เครือสหพัฒน์ กล่าวว่านอกจากการหารือร่วมกับพล.อ.ฉัตรชัย แล้ว เห็นว่าควรขยายผลการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ไปยังกระทรวงหรือหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตในระยะยาว

โดยสิ่งที่พล.อ.ฉัตรชัย หารือใน 6 เรื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนเอสเอ็มอี เป็นประเด็นที่บริษัทเห็นด้วย และต้องการให้นำแนวทางทางดังกล่าว เป็นโมเดลเดียวกับประเทศญี่ปุ่นใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ มาใช้กับประเทศไทย

" การส่งเสริมเอสเอ็มอี เครือสหพัฒน์ ทำมาตลอด รวมถึงช่วยดูแลราคาสินค้าเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้บริโภค จึงต้องการให้รัฐมนตรีเรียกเอกชนเข้าไปหารือต่อเนื่อง และพร้อมหารือเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางในการกระตุ้นเศรฐกิจและพัฒนาประเทศร่วมกับกระทรวงอื่นๆ"

เครือสหพัฒน์เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มียอดขายกว่าแสนล้านบาทต่อปี มีบริษัทย่อยกว่า 300 บริษัท ธุรกิจส่วนใหญ่ล้วนเป็นเอสเอ็มอีมาก่อน เช่น บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันยังมีบริษัทในเครืออีกจำนวนมากที่เป็นเอสเอ็มอี มีรายได้หลักร้อยล้านบาท เช่น บริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ โลจิสติคส์ จำกัด, บริษัท โอซีซี จำกัด(มหาชน) เป็นต้น

แจงพาณิชย์กำลังซื้อยังไม่ดี

นายเวทิต กล่าวว่าในการประชุมร่วมภาคเอกชนได้ชี้แจงพล.อ.ฉัตรชัย ถึงสถานการณ์ธุรกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคในขณะนี้ว่า "ขยายตัวไม่ดีนัก" เห็นว่าที่ผ่านมายังไม่ใช่กำลังซื้อที่แท้จริง แต่เกิดจากการอัดฉีดเม็ดเงินหลายด้านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจระยะสั้น

สำหรับ 6 แนวทางที่รัฐหารือกับเอกชน ได้แก่ 1.การไม่แทรกแซงราคาพืชผลทางการเกษตรนานเกินไป 2.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพราะไทยต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 3.ส่งเสริมการค้าชายแดน 4.กระตุ้นการส่งออก 5.การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และ 6.นโยบายข้าว ซึ่งรมว.พาณิชย์ไม่ได้มองเพียงการแก้ปัญหาข้าวในโกดัง ด้วยการเร่งระบายข้าวเท่านั้น แต่มองระยะยาวถึงข้าวที่จะออกมาสู่ตลาดในอนาคต ไม่ว่จะเป็นการพัฒนาคุณภาพข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก การเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพให้ข้าวไทย

โดยทั้ง 6 แนวทางจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อในระยะยาว ซึ่งภาคเอกชนสนับสนุนเต็มที่

"การแทรกแซงราคาพืชผลทางการเกษตรทำได้ เพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อ แต่ไม่ควรนานเกินไป เพราะส่งผลให้กลไกตลาดบิดเบือน และเงินที่เกษตรกรได้รับไม่ได้มาจากประสิทธิภาพการเกษตรอย่างแท้จริง เชื่อว่า 6 แนวทางว่าจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวได้ แต่ระยะสั้นคงเห็นผลไม่มากนัก" นายเวทิต กล่าว