BKD คุยเรื่อง "เสน่ห์แรง"

BKD คุยเรื่อง "เสน่ห์แรง"

บมจ.บางกอก เดค-คอน โชว์แผนขยายช่องทางโกยกำไร “นุชนารถ รัตนสุวรรณชาติ” นายหญิงรับเล็ง “ธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม”

“กำไรสูงเติบโตทุกปี เงินสดล้นมือ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดเด่นเหล่านี้ของ บมจ.บางกอก เดค-คอน หรือ BKD คือ แรงดึงดูดเงินลงทุนของนักลงทุน VI ตัวพ่อ ไม่ว่าจะเป็น “เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” และ “อรรณพ ลิ้มประเสริฐ” ณ วันที่ 28 ก.ค.2557 ชายทั้งสองมีสัดส่วนการลงทุน 1.18 และ 0.64 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2556 เคยปรากฎชื่อนักลงทุนรายใหญ่ “วรพรรณ จึงทรัพย์ไพศาล” ภรรยา “เสี่ยจึง-วิชัย จึงทรัพย์ไพศาล” ถือหุ้น BKD 2.86 เปอร์เซ็นต์

ไตรมาส1 ปี 2557 บริษัทมีกำไรสุทธิแล้ว 11.12 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2556 มีกำไรสุทธิจำนวน 14.79 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีรายได้แล้ว 167.75 ล้านบาท เทียบกับทั้งปี 2556 ที่มีรายได้ 601.28 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสแรกบริษัทยังมีอัตรากำไรสุทธิ 6.63 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับปีก่อนทีมีอัตรากำไรสุทธิ 2.46 เปอร์เซ็นต์

“แม้ BKD จะมีนักลงทุน VI ชื่อดังถือหุ้น แต่ไม่ได้รู้สึกกังวลว่า ใครจะมองว่าเราเป็นหุ้นมีเจ้า เพราะจากสถิติ “เสี่ยปู่” มักถือหุ้นหลายตัวยาวๆ “ฉลาม-นุชนารถ รัตนสุวรรณชาติ” ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.บางกอก เดค-คอน บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week”

ที่ผ่านมาไม่เคยเห็น “เสี่ยปู่” มาประชุมผู้ถือหุ้น แต่เคยบังเอิญเจอกันในงานศพของคนรู้จัก “เสี่ยปู่” บอกถึงเหตุผลที่ลงทุนหุ้น BKD ว่า ธุรกิจตกแต่งดีมี “กำไรขั้นต้นสูง” ไม่เหมือนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั่วไป เขาไม่ได้บอกว่าจะถือหุ้น BKD นานแค่ไหน บอกแต่เพียงว่า “มันเป็นหุ้นที่ดี”

หุ้น BKD มีอนาคตดีแค่ไหนไม่รู้ แต่ “กบ-นภัสสรณ์ ทิพย์อัครยอด” และ “ธีระเมศฐ์ รัตนาสุวรรณชาติ” ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่สาวและน้องชาย ไล่เก็บหุ้น BKD มาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา “ราคาสูงสุด 5.25 บาท พี่สาวก็เคยเก็บมาแล้ว เขาตั้งใจจะถือยาว” “นุชนารถ” เชื่อเช่นนั้น

เธอยอมรับว่า วันนี้หุ้น BKD มีสภาพคล่องต่ำแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นอาจเป็นเพราะผู้ถือหุ้นสนิทหลายๆคนไม่อยากขายหุ้นออกมา เพราะเชื่อมั่นว่าธุรกิจดีมีอนาคต “ผู้ถือหุ้นคุณแม่ลูกสอง” คนสนิทรายหนึ่งที่นั่งร่วมวงสนทนาด้วย พูดแทรกขึ้นว่า

“พี่เห็นงานใหม่ๆเข้ามาตลอด แถมยังมีเงินสดเต็มมือ พี่ซื้อหุ้น BKD มาตั้งแต่ราคาไอพีโอ และราคาสูงสุดของปีก่อน หุ้นตัวนี้ถือเป็นตัวที่ถือนานที่สุดของพอร์ต แม้วันนี้จะขาดทุนจากราคาหุ้นบ้าง แต่ยังยืนยันจะถือลงทุนต่อไป”

มีแผนเพิ่มสภาพคล่องหรือไม่ “นุชนารถ” ตอบคำถามนี้ว่า เนื่องจากวันนี้บริษัทยังไม่มีแผนลงทุนขนาดใหญ่ ฉะนั้นหากขายหุ้นเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องก็ไม่รู้จะนำเงินไปทำอะไร แต่ถ้าถามว่ามีแผนจะนำหุ้นของตัวเองที่ถืออยู่ 45 เปอร์เซ็นต์ออกมาขายหรือไม่ ที่ผ่านมาเคยมีความคิดว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า ราคาหุ้น BKD คงไม่หยุดอยู่แค่นี้ (แอบบอกตัวเลขนอกรอบ) ฉะนั้นอาจนำหุ้นของตัวเองออกมาทำบิ๊กล็อตบางส่วน แต่ก็ไม่แน่หากยังไม่รู้ว่าจะนำเงินที่ได้ไป ลงทุนต่อยอดสินทรัพย์อะไรดี ดังนั้นสิ่งที่พูดไปยังคงเป็นเพียงความคิดยังไม่คอนเฟิร์มว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่

ที่ผ่านมามีทั้งนักลงทุนในและนอกประเทศ มาขอทำบิ๊กล็อต 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ได้ตอบปฏิเสธเขาไปว่า ยังไม่อยากขาย เพราะเราเห็นการเติบโตของบริษัทเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ทุกปี อย่างในปี 2557 รายได้อาจเติบโต “เท่าตัว” หลังปี 2556 บริษัทไม่สามารถเข้าทำงานในโครงการของลูกค้าได้ หลังงานก่อสร้างของลูกค้าล่าช้า เพราะติดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ฉะนั้นรายได้ในส่วนนั้นจะโอนมารับในปี 2557

ปี2557 บริษัทอาจมีรายได้เกือบ 1,000 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 600 ล้านบาท (ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงประมาณการณ์เท่านั้น) วันนี้เรามียอดขายที่ยังไม่รับรู้รายได้ 2,000 ล้านบาท โดยอาจแบ่งบันทึกรายได้ในปี 2557-2558 เฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท แม้วันนี้เราจะมีงานอยู่ในมือจำนวนมาก แต่ยังคงเดินหน้าตุนงานอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเรามีงานรอประมูลอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท

มีแผนแตกไลน์ธุรกิจหรือไม่? “หุ้นใหญ่” ออกตัวว่า เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ขอบอกก่อนว่า อาจทำในนามส่วนตัวหรือในนามบริษัททุกอย่างขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เราอยากตั้งบริษัทย่อย เพื่อทำ “ธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม” แต่คงต้องรอดูก่อนว่า รัฐบาลชุดใหม่จะนำใบอนุญาตเดิมของผู้ที่เคยประมูลได้ แต่ไม่อยากทำแล้วมาเปิดประมูลใหม่หรือไม่

ส่วนตัวอยากทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนเมกะวัตต์ละ 60 ล้านบาท ล่าสุด “บางกอก เดค-คอน” ได้เข้าไปชิมลางบางแล้ว ด้วยการทำโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์รูฟ) กำลังการผลิตครึ่งเมกะวัตต์ บนหลังคาของโรงงานย่านบางบัวทอง

หากจะทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์มต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่? เธอประเมินว่า น่าจะราวๆ 1,200 ไร่ ส่วนจะไปยึดทำเลแถวไหนคงต้องรอดูว่า ทางการต้องการไฟแถวไหนบ้าง แต่ส่วนตัวอยากไปทำในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อก่อนเคยหนีน้ำท่วมไปอยู่ที่หัวหิน ทำให้เห็นปัญหาไฟฟ้าว่าไม่พอใช้ ยิ่ งมีอสังหาริมทรัพย์ขึ้นเยอะยิ่งไม่พอ

ธุรกิจพลังานทดแทนมีกำไรขั้นต้นต่อปีดีมากเฉลี่ยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แถมทำงานง่าย ไม่ต้องหาลูกค้า เพราะขายไฟให้การไฟฟ้า อาชีพนี้เหมือนเสือนอนกิน หากแผนธุรกิจโซลาร์ฟาร์มเกิดขึ้นจริงๆ และผลสรุปออกมาว่า ทำในนามบริษัทย่อยของ BKD “เธอ” หยุดคิดพร้อมวิเคราะห์ว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้า รายได้ส่วนมากของบริษัทอาจมาจากธุรกิจพลังงานทดแทน 60 เปอร์เซ็นต์ เรื่องทีมงานไม่ต้องห่วงเราเล็งๆไว้บ้างแล้ว

ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ “ร้อยเปอร์เซ็นต์” จากธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายในอาคาร เมื่อก่อนเคยมีรายได้ส่งออกจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ แต่สุดท้ายต้องยกธงขาวหยุดทำไปเมื่อปี 2544 เพราะสู้สินค้าราคาต่ำของเมืองจีน และคู่แข่งในเมืองไทยบางรายไม่ได้ หลังโรงงานของเราอยู่ไกลถึงบางบัวทอง ซึ่งไม่ได้ใกล้แหล่งวัตถุดิบและแหล่งขนส่ง เมื่อก่อนบริษัทเคยอยากทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่พอเห็นถึงความวุ่นวายบางอย่าง โดยเฉพาะมีคนกลุ่มหนึ่งคอยโจมตีธุรกิจ ทำให้ต้องล้มแผนไป

ถามถึงแผนโกอินเตอร์ “ฉลาม” เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยมีโอกาสเข้าไปทำงานตกแต่งภายในของสถานฑูตไทย ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถือเป็นออกตัวที่ดี ปัจจุบันเรากำลังจะขยายการทำงานไปสู่ประเทศกัมพูชา หลังมีผู้ออกแบบในเมืองไทยชักชวนให้เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเบียร์รายใหญ่ของประเทศกัมพูชามาจ้าง BKD ตกแต่งภายในให้กับโครงการของเขาที่อยู่ในประเทศกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว โรงแรม และคอนโดมิเนียม เป็นต้น

หากไม่มีอะไรผิดพลาด ภายในปี 2558 บริษัทอาจได้งานตกแต่งภายในโครงการที่อยู่อาศัยของนักธุรกิจรายนี้ประมาณ 2,000 ยูนิต มูลค่าหลายพันล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาทำงานประมาณ 2 ปี แต่ตอนนี้เรากำลังตกแต่งสำนักงานขายให้เขาอยู่ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา เขาได้เข้ามาสรุปงานกับเราที่เมืองไทยแล้ว ส่วนเรื่องต้นทุนค่าขนส่งไม่ต้องเป็นห่วง เราสามารถขับรถเข้าไปทำงานได้เลย ซึ่งต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนั้นบริษัทยังสนใจจะเข้าไปทำงานในประเทศกาตาร์ และประเทศซาอุดีอาระเบีย ภายในปี 2558 บริษัทอาจได้งานโรงแรมในกาตาร์ ส่วนซาอุดีอาระเบีย ปลายปี 2559 อาจได้งานคอนโดมิเนียมและโรงแรม มูลค่าหลายพันล้านบาทต่อโครงการ จริงๆคุยงานกับซาอุดีอาระเบียก่อนเพื่อน แต่บังเอิญเขาติดปัญหาการก่อสร้าง ทำให้บริษัทไม่สามารถเข้าทำงานได้ทันปลายปีนี้

ใจจริงอยากเข้าไปทำงานในประเทศพม่า แต่การแข่งขันสูงราคาทำแล้วไม่ได้อะไร ฉะนั้นคงรอทำแต่งานระดับพรีเมี่ยมเท่านั้น ส่วนประเทศญี่ปุ่น ยอมรับว่ามีโอกาสเข้าไปทำงานค่อนข้างมาก ตอนนี้เรามีที่ปรึกษาเป็นคนญี่ปุ่น โดยเขาจะมาช่วยดูแลเรื่องการบริหารจัดการภายในบริษัท อดีตเขาเคยเป็น President กลุ่มโซนี่

ถามว่ารู้จักกันได้อย่างไร เขาเป็นพี่เขย (หัวเราะ) ตั้งแต่ผู้บริหารญี่ปุ่นเข้ามาทำงานในบริษัท 1 ปี ลูกน้องของเราเก่งและมีคุณภาพมากขึ้น แถมทำงานตรงเวลา ที่สำคัญโรงงานสามารถลดการสูญเสียได้ค่อนข้างมาก ทุกอย่างดีขึ้นหมด เขาใช้วิธีอบรมพนักงานตลอดและให้การบ้านกลับไปทำ ฉะนั้นเราจะใช้เขาเป็นตัวช่วยในการหาลูกค้าญี่ปุ่น

เธอ วิเคราะห์ว่า งานต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีอัตรากำไรสุทธิระดับ 20 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่างานในเมืองไทยที่อยู่ระดับ 10 เปอร์เซ็นต์ บริษัทคิดอัตรากำไรสุทธิสูงไม่ได้หมายความว่า จะไปชาร์ตราคาลูกค้าต่างประเทศแพงๆ แต่เราต้องตั้งเผื่อเรื่องไม่คาดฝันด้วย เช่น ลูกค้าบอกงานจะเสร็จเวลานี้ แต่เมื่อเราส่งลูกน้องไปรอทำงาน สุดท้ายงานเขาไม่เสร็จ เป็นต้น

“แม่ทัพหญิง” เล่าความฝันให้ฟังว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า อยากมีสัดส่วนรายได้งานต่างประเทศประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นงานในประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์ เน้นรับงานราชการเป็นหลัก การที่บริษัทเน้นงานส่งออกมากขึ้น เพราะอยากช่วยหนุนตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโต

เรื่องที่ไม่ฝันและสามารถจะเกิดได้จริงภายใน 5 ปีข้างหน้า “ฉลาม” บอกว่า บริษัทมีนโยบายการเติบโตในส่วนของรายได้เฉลี่ยปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ หากคิดจากตัวเลขนี้บริษัทจะมีรายได้เพียง 2,000 ล้านบาท แต่ใจจริงอยากเห็นรายได้รวมแตะ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากธุรกิจตกแต่งภายในเพียงอย่างเดียว ไม่รวมธุรกิจใหม่ๆ ถามว่าจะคว้าตัวเลขนี้มาครอบครองได้ด้วยวิธีใด เราต้องส่งออกให้ได้ตามแผน โดยในปี 2558 สัดส่วนส่งออกต้องยืนระดับ 10 เปอร์เซ็นต์

ถามถึงกลยุทธ์การออกหางานใหม่ๆ เธอบอกว่า หากเป็นงานภาครัฐ เราจะรอฟังประกาศเชิญผู้ประกอบการเข้าประมูลงาน ส่วนภาคเอกชนส่วนใหญ่เขาจะส่งหนังสือมาเชิญเราไปร่วมประมูล แม้เราจะเป็น “เบอร์หนึ่งในธุรกิจนี้” (วัดจากฐานรายได้) แต่บริษัทไม่มีลูกค้าเจ้าประจำ

ปัจจุบันเรารับงานจากราชการและเอกชน 70:30 งานราชการแม้ช้าแต่ได้เงินชัวร์ๆ ส่วนเอกชนบางรายช้าด้วยไม่ชัวร์ด้วย (หัวเราะ) แต่บริษัทมีวิธีสกัดลูกค้าเอกชนที่ไม่ชัวร์เหล่านี้ ด้วยการเช็คนิสัยใจคอของเจ้าของบริษัท โดยเราจะสแกนจากธนาคาร และคนที่เคยทำงานกับเขามาก่อน หากพบจะรีบปฏิเสธงานทันที เพราะไม่ต้องการให้บริษัทมีความเสี่ยง

“สำรวจนิสัยใจคอของลูกค้าต้องมาเป็นอันดับหนึ่งมากกว่าเช็คเรื่องเงิน เพราะบางบริษัทมีเงินเยอะ แต่ไม่ยอมจ่ายก็มีให้เห็นเยอะแยะ” เธอเล่าถึงประสบการณ์

“ฉลาม” บอกว่า ทำงานใน BKD มาหลายสิบปี วันนี้ขอให้คะแนนความสำเร็จระดับ 70เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ขาดหายไป 30 เปอร์เซ็นต์ คือ อยากเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้เร็วมากขึ้น ทุกวันนี้ยังจัดการไม่ได้แม้จะมีวิธีแล้วก็ตาม เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถามถึงสมการที่จะมาแก้โจทย์นี้ เธอบอกว่า เราต้องมีผลิตภัณฑ์บางอย่างที่เป็นสำเร็จรูป โดยไม่ต้องทำตามแบบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย “นายหญิง” ย้ำ เพราะแต่ละโครงการมีขนาดไม่เท่ากัน

“ตลอดชีวิตการทำงานคิดมาตลอดว่า ทำอย่างไรที่งานจะออกมาเร็วและเนี้ยบในคราวเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาสองอย่างนี้ไม่สามารถไปด้วยกันได้ ทั้งๆที่ช่างฝีมือคนไทยมีอยู่ค่อนข้างมาก และมีความชำนาญเรื่องตกแต่งภายในเป็นอย่างดี งานที่เร็วและเนี้ยบมักมีกำไรขั้นต้นสูงเสมอ”

เจ้าของบมจ.บางกอก เดค-คอน บอกว่า ปกติอุตสาหกรรมตกแต่งภายในมักเติบโตตามอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างที่ขยายตัวทุกปี ฉะนั้นอยากให้นักลงทุนมั่นใจว่า หุ้น BKD จะเป็น “หุ้นเติบโต” เพราะเรามีความตั้งใจทำงานจริงๆ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นทุกราย บริษัทไหนที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเจ้าของรับรองได้เขาจะทำงานเต็มที่

“ทุกอย่างทำด้วยความรัก ไม่มีทางทิ้งบริษัทไปไหนแน่นอน”

4 จุดเด่น “เหนือ” คู่แข่ง

“นุชนารถ รัตนสุวรรณชาติ” นายหญิงแห่ง บมจ.บางกอก เดค-คอน พูดถึง “จุดเด่น” ที่ทำให้ธุรกิจตกแต่งภายในของบริษัทชนะคู่แข่งว่า ข้อหนึ่ง เรามีโรงงานระบบสำเร็จรูป หรือพรีแฟบ หากพื้นที่โครงการของลูกค้าใหญ่พอบริษัทสามารถเขาตกแต่งภายในได้เสร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว โรงงานของบริษัทสามารถมีกำลังการผลิตได้สูงถึงเดือนละกว่า 100 ล้านบาท แต่ตอนนี้ผลิตได้เพียงเดือนละ 50 ล้านบาท

ข้อสอง เรามีความชำนาญในธุรกิจตกแต่งภายในมาหลายสิบปี ทำให้เราสามารถมองเห็นปัญหาได้ทันทีที่เข้าไปสำรวจหน้างาน สำหรับงานที่ปวดหัวที่สุด คือ งานรื้อของเก่าออกแล้วทำใหม่ งานแบบนี้มักเจอปัญหาไม่คาดฝันเสมอ หากเจองานลักษณะนี้ ถ้าเป็นงานของราชการ เราคงขอเพิ่มเงินลำบาก

ข้อสาม เรื่องเงินทุน “เรามีเยอะ” ตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเพิ่งใช้เงินที่ได้การขายหุ้นไอพีโอไปแค่ 50 กว่าล้านบาท ยังเหลืออีกประมาณ 215 ล้านบาท ตอนนี้ยังไม่มีแผนลงทุนอะไรก็คงเก็บไว้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนก่อน แต่ที่ผ่านมานำเงินไอพีโอบางส่วนไปลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ อายุ 3-6 เดือน ที่ให้อัตราดอกเบี้ย 3-6 เปอร์เซ็นต์

ข้อสุดท้าย ด้วยความที่บริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เราได้รับการยอมรับจากลูกค้า เพราะผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเดียวกับเราส่วนใหญ่อยู่นอกตลาด แอบได้ยินว่า มีบริษัทสัญชาติไทยแห่งหนึ่งเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้นเหมือนกัน เวลาไปประมูลงานมักเจอกันบ่อยๆ แต่เราชนะเขาเรื่องราคา เพราะเรามีพรีแฟบซึ่งเขาไม่มี