บริษัทต่างชาติผวากฏหมายต้านผูกขาดจีน

บริษัทต่างชาติผวากฏหมายต้านผูกขาดจีน

บริษัทต่างชาติผวากฏหมายต้านผูกขาดจีนมานานกว่า 6 ปี แต่ราคาสินค้าและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น

แม้จีนจะบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดการค้ามานานกว่า 6 ปีแล้ว แต่ราคาสินค้าและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รัฐบาลจีน เริ่มตรวจสอบบริษัทหลายแห่งอย่างเข้มข้นและจริงจัง ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทรถยนต์ อย่าง ออดี้ หรือเดมเลอร์ เรื่อยไปจนถึง ไมโครซอฟท์ บริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลก แน่นอนว่า การกระทำของรัฐบาลจีนครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดปฏิกิริยาในเชิงลบจากบริษัทข้ามชาติทั้งหลายที่เข้าไปทำธุรกิจในจีน

ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความเห็นว่า จีน กำลังจับตามองราคาสินค้าจากบริษัทต่างประเทศที่พุ่งสูง จนทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากกว่า โดยราคาของไอแพดมินิที่ขายในจีน สูงถึง 470 ดอลลาร์ หรือราว 15,000 บาท ขณะเดียวกันผู้บริโภคในสหรัฐ สามารถซื้อสินค้าชิ้นนี้ได้ในราคาเพียง 399 ดอลลาร์ หรือ 13,000 บาทเท่านั้น

ผู้อำนวยการด้านการจัดการของบริษัท ออโตโมทีฟ ฟอร์ ไซท์ นายเยล จาง บอกว่า ราคาอะไหล่รถยนต์จากบริษัทต่างชาติที่ขายในจีนก็เหมือนกัน มีราคาสูงกว่าราคาในประเทศอื่น 5-10 เท่า ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าประเภทดังกล่าวจากผู้นำเข้ารายอื่น

ขณะที่บริษัทสหรัฐจำนวนหนึ่ง ออกมาวิจารณ์ว่า รัฐบาลจีนเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ส่วนประธานหอการค้าอเมริกัน ได้ยื่นหนังสือไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเจคอบ ลู และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ นายจอห์น แคร์รี่ เพื่อแสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว

อดีตประธานหอการค้าสหรัฐในจีน นายเจมส์ ซิมเมอร์แมน ให้ความเห็นว่า แม้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดจะเป็นเรื่องที่ดี แต่จีน กลับมีจุดประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง มากับการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ มีอำนาจควบคุมและสั่งการทุกอย่างในประเทศได้

ด้านเจ้าหน้าที่ต่อต้านการผูกขาดการค้าของจีน ตอบโต้ว่า รัฐบาลไม่ได้มุ่งเป้าหมายเฉพาะบริษัทจากต่างชาติเท่านั้น แต่ตรวจสอบการผูกขาดในตลาดกับผู้ประกอบการภายในประเทศด้วย อย่าง ผู้ผลิตสุราจีน และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ส่วนไมโครซอฟท์ และควอลคอมม์ ก็ถูกรัฐบาลในหลายประเทศตรวจสอบด้วยเช่นกัน

รัฐบาลปักกิ่ง บังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการผูกขาดการค้าอย่างเข้มข้น ผ่าน 3 องค์กรภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ ที่ตรวจสอบการควบรวมกิจการ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ที่ดูแลเรื่องราคาสินค้า ส่วนคณะกรรมการกำกับดูแลด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมแห่งชาติของจีน ตรวจสอบด้านโควต้าการผลิตและการนำเข้า

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวซินหัว ของทางการจีน รายงานว่า ผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเยอรมนี ได้แก่ ออดี้ บีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส เบนซ์ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 70% มีพฤติกรรมค้ากำไรเกินควร ทั้งยังร่วมกันปรับขึ้นราคารถยนต์ และอะไหล่รถยนต์สูงกว่าความเป็นจริง

หลังจากจีน เข้าตรวจสอบการผูกขาดตลาดในกลุ่มบริษัทดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ เมอร์เซเดสเบนซ์ ก็ปรับลดราคารถยนต์ลงถึง 15% ส่วนออดี้ ลดราคาอะไหล่ยนต์ลงมากถึง 38% และทาทา มอเตอร์ ปรับลดราคารถยนต์ 3 รุ่นลงเช่นกัน แต่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆจากบีเอ็มดับเบิลยู

ที่จริงแล้ว รัฐบาลจีน ตรวจสอบการผูกขาดตลาดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ครอบคลุมไปถึงสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับทารก และคอนแทคท์เลนส์ รวมถึง ระงับข้อตกลงเส้นทางการเดินเรือของบริษัทจากยุโรป ซึ่งเป็นผลพวงทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น