ดึง'หมื่นล้าน'แจกคูปองปีนี้

ดึง'หมื่นล้าน'แจกคูปองปีนี้

คสช.แก้กม.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ดึงเงินประมูลวิทยุ-ทีวี เป็นรายได้แผ่นดิน เปิดทางดึงเงินทีวีดิจิทัลแจกคูปองปชช.

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศ ฉบับที่ 80/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่คณะกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม การบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และการบริหารเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์ต่อรัฐอย่างสูงสุด

สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว แก้ไข "มาตรา 42 ให้ กสทช. มีอำนาจกำหนดอัตราค่าทำเนียมใบอนุญาตตามมาตรา 41 โดยแยกเป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งต้องชำระเมื่อได้รับอนุญาตและต้องชำระเป็นรายปี ในอัตราที่เหมาะสมกับประเภทของใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เว้นแต่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ถือว่าเงินที่ได้จากการประมูลตามมาตรา 41 วรรคหก เป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ซึ่งต้องชำระเมื่อได้รับอนุญาต และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน"

พร้อมทั้งเพิ่มข้อความ (6) ของมาตรา 52 คือ "ส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณให้กระทรวงการคลัง สามารถยืมเงินกองทุนเพื่อนำไปใช้ในกิจการของรัฐอันเป็นประโยชน์สาธารณะ"

อีกทั้งกำหนดให้เงินที่ได้จากการประมูลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หากยังไม่นำส่งเข้ากองทุนฯกทปส. ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วภายใน 15 วันนับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับใช้

ส่งเงินทีวีดิจิทัล5หมื่นล้านเข้าคลัง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า สำนักงานพร้อมดำเนินการนำส่งรายได้ที่เกิดจากการประมูลกิจการวิทยุและโทรทัศน์เป็นรายได้แผ่นดินตามประกาศ คสช. เริ่มจากรายได้จากการประมูลโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) 24 ช่อง รวมวงเงิน 50,862 ล้านบาท ซึ่งกำหนดจ่าย 6 งวด รวม 6 ปี

ในปี 2557 ได้รับเงินประมูลทีวีดิจิทัลมาแล้ว 11,000 ล้านบาท ซึ่งโอนเข้ากองทุนฯ บัญชี 5 เงินประมูลกิจการวิทยุและโทรทัศน์เรียบร้อยแล้ว โดยเงินงวดแรก คสช.กำหนดให้นำไปแจกคูปองส่วนลดแลกซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัล คาดว่าจะสามารถแจกคูปองได้กว่า 11 ล้านครัวเรือนในปีแรก

ส่วนเงินประมูลทีวีดิจิทัลอีก 5 งวดที่เหลือ ระหว่างปี 2558-2562 มูลค่ารวมเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ให้ส่งเป็นรายได้แผ่นดินโดยไม่ต้องนำส่งกองทุนฯ รวมทั้งรายได้ในอนาคตที่เกิดจากการประมูลกิจการวิทยุดิจิทัล ในปี 1-2 ปีจากนี้ และกิจการโทรทัศน์อื่นๆ ให้ส่งเป็นรายได้แผ่นดินเช่นกัน

"รู้สึกโล่งมาก ที่คสช. มีคำสั่งให้นำเงินประมูลทีวีดิจิทัลและกิจการวิทยุโทรทัศน์ในอนาคต ส่งเป็นรายได้แผ่นดินเช่นเดียวกับการประมูลคลื่นในกิจการโทรคมนาคม" นายฐากร กล่าว

แจงไม่กระทบเงินแจกคูปอง

สำหรับงบประมาณซึ่งกำหนดจากเงินประมูลทีวีดิจิทัลขั้นต่ำ ให้นำไปสนับสนุนประชาชนทั่วประเทศในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมทีวีดิจิทัล ด้วยการแจกคูปองส่วนลดแลกซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัล ยังดำเนินการต่อเนื่อง หลังจากจบเวทีการรับฟังความคิดสาธารณะ 4 ภาค คือเชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และกรุงเทพฯ วานนี้ (10 ก.ค.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทางจดหมายและอีเมลถึงวันที่ 18 ก.ค.นี้

หลังจากนั้นจะรวบรวมความคิดเห็นแนวทางการแจกคูปองส่วนลด ทั้งด้านมูลค่า ประเภทอุปกรณ์แลกซื้อ จำนวนครัวเรือนแจกคูปอง วงเงินสนับสนุน เพื่อส่งให้บอร์ดใหญ่ กสทช.พิจารณาในวันที่ 23 ก.ค.นี้ จากนั้นจะส่งให้ คสช. พิจารณาเห็นชอบและดำเนินการแจกคูปองต่อไป

นายฐากร กล่าวอีกว่าหลังจาก คสช.เห็นชอบหลักเกณฑ์การแจกคูปองทีวีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าคูปองละ 690 บาท จำนวน 22 ล้านครัวเรือน วงเงินตามราคาขั้นต่ำประมูลทีวีดิจิทัล 15,190 ล้านบาท หรือมูลค่าคูปองละ 1,000 บาท จำนวน 25 ล้านครัวเรือน วงเงินแจก 25,000ล้านบาท

หลังจากนี้ กสทช. มีหน้าที่จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำของหน่วยงานตนเองและงบประมาณสำหรับแจกคูปองทีวีดิจิทัลในปีต่อไปซึ่งกำหนดแจก 4 ปีตามการขยายโครงข่าย (Mux) ไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย เมื่อมีรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กสทช.ก็ต้องเสนองบประมาณผ่านช่องทางนั้น ซึ่ง สนช.จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ เหมือนช่วงที่มีสภาปกติ เพียงแต่ สนช.ทำหน้าที่ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเมื่อถึงช่วงที่มีการเลือกตั้งตามระบบปกติ ซึ่งตามโรดแมพของ คสช. คือปลายปี 2558 กระบวนการจัดทำงบประมาณของ กสทช. ก็จะเข้าสู่ระบบปกติเช่นกัน คือ เสนอผ่านสำนักงบประมาณ ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณา

เปิด5บัญชีเงินกองทุนฯ

สำหรับกองทุนฯ กทปส. ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 บัญชี คือ 1.ทรัพย์สินเดิมของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)วงเงิน 3,000 ล้านบาท 2.ค่าปรับในกิจการโทรคมนาคมและกิจการวิทยุโทรทัศน์ วงเงิน 100 ล้านบาท 3.กองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ใช้ในกิจการโทรคมนาคม วงเงิน 9,000 ล้านบาท 4. กองทุนพัฒนาวิจัยสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปัจจุบันยังไม่มีรายได้ โดยดำเนินการจัดเก็บจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นฯ วิทยุและโทรทัศน์ ของผู้ได้รับใบอนุญาต ในอัตรา 2%ของรายได้ต่อปี และ5.เงินประมูลคลื่นฯวิทยุและโทรทัศน์ ปัจจุบันมีวงเงินประมูลทีวีดิจิทัล 50,862 ล้านบาท

ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 80 กำหนดให้ กสทช. โอนเงินจากบัญชีเงินประมูลคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ทั้งปัจจุบันและในอนาคตเข้าเป็นรายได้แผ่นดินนับจากนี้ ขณะที่เงินกองทุนฯ บัญชีอื่นๆ ยังอยู่ในการบริหารของ กสทช.

ประชุมกองทุนฯศุกร์หน้า

พล.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกองทุนฯ กทปส. เปิดเผยว่าเตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ วันศุกร์ที่ 18 ก.ค.2557 เพื่อหารือแนวทางการปฏิบัติตามประกาศและแนวทางการทำงานของกรรมการกองทุนฯ

"พร้อมสนับสนุนให้คลังยืมเงินตามคำสั่งคสช. เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ เพราะที่ผ่านมาเงินกองทุนฯยังไม่ได้นำไปใช้เท่าไหร่นัก"

ส่วนเงินที่ได้รับจากการประมูลทีวีดิจิทัลงวดแรกปี 2557 จำนวน 11,000 ล้านบาท และได้นำส่งกองทุนฯแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดสรรเพื่อแจกคูปองแลกซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัล คาดว่าภายในเดือนก.ย.นี้ สามารถดำเนินการแจกได้ ส่วนเงินประมูลที่เหลือหลังจากนี้ จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป โดย กสทช. ต้องเสนองบประมาณเบิกจ่ายรายปี เพื่อนำมาจัดสรรเป็นคูปอง

กรมบัญชีกลางหารือโอนเงินทีวีดิจิทัล

ด้านนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่ายังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีที่คสช. ได้ออกประกาศให้โอนเงินประมูลทีวีดิจิทัลและกิจการวิทยุเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน โดยกรมบัญชีกลาง จะต้องรอคำสั่งประกาศดังกล่าวก่อน

จากนั้น จึงจะนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบคำสั่งประกาศกับกฎหมายเดิมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งต้องหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกสทช.

คืนสิทธิ6พันวิทยุชุมชน

นายฐากร กล่าวอีกว่า ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 79 กำหนดแนวทางการออกอากาศวิทยุชุมชน 6,000 สถานี ที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงจาก กสทช. ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการและได้ผ่านการตรวจสอบเครื่องส่งตามมาตรฐานทางเทคนิคตามประกาศ กสทช. รวมทั้งต้องไม่เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเนื้อหาขัดกฎหมายและประกาศ คสช. ฉบับที่ 18/2557 กลุ่มนี้มีจำนวน 600 สถานี ให้ไปแสดงตนที่ สำนักงาน กสทช. และสำนักงาน กสทช. เขต ทั้ง 14 เขต ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 2557 จากนั้นสำนักงานจะประกาศรายชื่อวิทยุที่ได้รับอนุญาตออกอากาศทางเว็บไซต์สำนักงาน กสทช. เมื่อมีรายชื่อจึงสามารถออกอากาศได้

กลุ่มที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการ แต่ยังไม่นำเครื่องส่งมาตรวจสอบตามมาตรฐานทางเทคนิคตามประกาศ กสทช. ให้นำเครื่องส่งมาตรวจสอบมาตรฐานทางเทคนิคตามประกาศ คือกำหนดเสาส่งสัญญาณสูง 60 เมตร กำลังส่ง 500 วัตต์ จากนั้นให้รอดูรายชื่อทางเว็บไซต์ เพื่อรับสิทธิออกอากาศ กลุ่มนี้มี 4,300 สถานี

สำหรับกลุ่มที่ 3 ผู้ยื่นคำขออนุญาตทดลองประกอบกิจการไว้ตามประกาศ และคำขออยู่ระหว่างการพิจารณา สำนักงาน กสทช. จะพิจารณาคำขอทดลองออกอากาศ เมื่อได้รับอนุญาตให้ทดลองออกอากาศ ให้นำเครื่องส่งเข้ารับการตรวจสอบมาตรฐานทางเทคนิค จากนั้นรอประกาศชื่อทางเว็บไซต์สำนักงาน กสทช. เพื่อรับสิทธิออกอากาศ กลุ่มนี้มี 1,700 สถานี

ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับอนุญาตทดลองออกอากาศ 3,000 สถานี และมีประกาศ คสช.ห้ามออกอากาศ ในกลุ่มนี้ไม่เข้าเกณฑ์การได้รับคืนสิทธิออกอากาศ จากประกาศ คสช.ฉบับที่ 79 และไม่สามารถออกอากาศได้

หากยังไม่มีชื่อในประกาศรายชื่อสถานีวิทยุกระจายเสียง ที่มีสิทธิออกอากาศได้ของสำนักงาน กสทช. แล้วทำการออกอากาศ ถือว่ามีความผิดตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เพิกถอนการอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและให้ยุติการออกอากาศทันที