สรท.คาดส่งออกโต0.5%ปีหน้าอ่วมอียูหั่นจีเอสพี

สรท.คาดส่งออกโต0.5%ปีหน้าอ่วมอียูหั่นจีเอสพี

สรท.ประเมินส่งออกปีนี้โอกาสขยายตัว0.5%เตรียมประเมินเป้าส่งออกใหม่ก.ค.นี้ ชี้ปีหน้าอ่วมอียูหั่นจีเอสพี

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกในปีนี้ ว่า จากยอดการส่งออกในรอบ5เดือนแรกของปีนี้ มูลค่ารวมลดลงถึง 1.2% ทำให้โอกาสที่ยอดส่งออกจะขยายตัวตามเป้าหมายที่ 3% แทบจะไม่มี โดย สรท.ขอดูยอดส่งออกในเดือนมิ.ย.อีกครั้งว่าขยายตัวเท่าไร จึงจะคาดการณ์ได้ว่าจะปรับลดเป้าหมายการส่งออกของปีนี้เหลือเท่าไร ซึ่งอาจจะขยายตัวในระดับ 1-2%

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยลบในช่วงครึ่งปีหลังมีสูงพอสมควร เช่น การปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกลงเหลือ 2.8% จากเดิม 3.6% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ได้ปรับลดจีดีพีสหรัฐลงเหลือไม่เกิน 2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะฉุดเศรษฐกิจโลกลงทั้งระบบ ในขณะที่การส่งออกของไทยหากต้องการให้ถึงเป้า 3% ก็จะต้องมียอดการเติบโตเดือนละไม่ต่ำกว่า 6% หรือมีมูลค่าส่งออกในระดับ 20,500 ล้านดอลลาร์ ตลอด 7 เดือนที่เหลือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

สรท.ประเมินยอดการส่งออกในแต่ละเดือนจากนี้จะอยู่ในระดับ 19,500 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ทำให้ทั้งปียอดส่งออกจะขยายตัวประมาณ 0.5% และถ้าทำได้ดีก็อาจจะขึ้นมาได้ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ทำให้ยอดส่งออกทั้งปีขยายตัว 1.5% แต่ถ้าจะทำให้ถึงเป้าหมายที่ 3% จะต้องมียอดส่งออกสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งค่าเฉลี่ยดังกล่าวคำนวณจากยอดส่งออกเฉลี่ยใน 5 เดือนแรกที่อยู่ในระดับ 18,000 - 19,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน คงเป็นไปได้ยาก ซึ่งสรท.จะประกาศตัวเลขประมาณการที่ชัดเจนอีกครั้งในเดือนก.ค.นี้

ชี้ตลาดอาเซียนจีน-จีนน่าห่วง

นอกจากนี้ ตลาดหลักของไทยอย่างจีน และอาเซียน กลับมียอดการส่งออกที่ลดลงอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่ง สรท.ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ 1 คณะ เพื่อติดตามดูข้อมูลการส่งออกของไทยไปยังตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ว่าสาเหตุใดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ยอดการส่งออกเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐจึงติดลบถึง 3.53% จากปกติที่จะต้องเติบโตไม่น้อยกว่า 5% และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามียอดส่งออกไปยังอาเซียนสูงในระดับ 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดต่อกันมา 3 ปี ซึ่งการที่ตลาดอาเซียนที่ลดลงถือว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก เพราะอาเซียนมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าสูงถึง 25% ตัวเลขที่ลดลงนี้อาจสะท้อนถึงขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในตลาดอาเซียนว่าลดน้อยลง ไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ทั้งในด้านของต้นทุนการผลิต และต้นทุนโลจิสติกส์ที่ต่ำกว่า

“จากการประเมินจีดีพีของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และจีนล้วนแต่มีการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% การส่งออกของไทยไปอาเซียนก็ควรจะเติบโต แต่กลับลดลง ชี้ให้เห็นว่าศักยภาพการส่งออกไทยลดลง และประเทศเพื่อนบ้านได้หันไปผลิตสินค้าชิ้นส่วน และวัตถุดิบภายในประเทศเองทดแทนการสั่งซื้อจากประเทศไทย " นายนพพร กล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาสินค้าจากประเทศจีนที่จะไหลเข้ามาแย่งตลาดสินค้าไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้น หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพราะเมื่อเศรษฐกิจในยุโรปและจีนชะลอตัวลง จึงทำให้จีนลดการส่งออกไปยังตลาดยุโรปและสหรัฐลงแล้วหันมาส่งสินค้าเข้ามาในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นแทน

ปี58ส่งออกอ่วมอียูหั่นจีเอสพี

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท. กล่าวว่า แม้ว่าปีนี้การส่งออกจะน่าเป็นห่วง แต่ในปีหน้ามองว่าการส่งออกจะเป็นที่วิตกมากกว่า เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 สหภาพยุโรป (อียู) จะตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ของไทยจำนวน 723 รายการ เพิ่มจากปีนี้ที่ไทยถูกตัดจีเอสพีไปแล้ว 50 รายการ ทำให้อัตราภาษีสินค้าของไทยจะสูงกว่าประเทศคู่แข่ง 2-7.8%

เช่น สินค้ารองเท้าผ้าใบ อัตราภาษีของไทยจะสูงขึ้นจากเดิม 7.8% เพิ่มขึ้นไปถึง 17.8% ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามภาษีจะอยู่ที่ 7.8% ซึ่งเมื่อรวมกับต้นทุนการผลิตของเวียดนามที่ต่ำกว่าไทยแล้ว ก็ยิ่งทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบ และนอกจากนี้เวียดนามยังอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีเวียดนาม-อียู ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในเร็วๆนี้ ก็จะทำให้ภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามลดเหลือ 0% ก็ยิ่งทำให้สินค้าไทยในกลุ่มที่มีอัตราภาษีสูงไม่สามารถแข่งกับประเทศคู่แข่งที่ได้รับสิทธิ์จีเอสพี และเอฟทีเอกับอียูไม่ได้เลย

“การส่งออกสินค้าไทยไปอียูนับจากนี้ไปจะมีแต่ลด จะไม่เพิ่มขึ้นเลย และในปีหน้าจะมีสัดส่วนลดลงต่ำกว่า 9% ของยอดส่งออกของไทยทั้งหมด ดังนั้นจึงอยู่ที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวโดยหาตลาดใหม่ทดแทนอียู และลดต้นทุนให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้” นายวัลลภ กล่าว

คาดเอฟทีเอไทย-อียูช้าปีครึ่ง

ทั้งนี้การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูได้หยุดชะงักไปตั้งแต่ไทยได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 แต่ก็ยังมีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ แม้ว่าจะมีเพียงรัฐบาลรักษาการ แต่หลังจากที่อียูประกาศตัดความร่วมมือกับไทย รวมถึงความสัมพันธ์ทางการค้าจนกว่าจะได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็ยิ่งทำให้การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ต้องล่าช้าไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี 6 เดือน ดังนั้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูเร็วที่สุด ก็จะเริ่มได้ต้นปี 2559 และคาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.2559 และใช้เวลาผ่านขั้นตอนของรัฐสภาอีกประมาณ 6 เดือน ซึ่งจะทำให้เอฟทีเอไทย-อียู มีผลได้ในช่วงต้นปี 2561

ดังนั้นในระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนนี้ แม้ว่าจะไม่สามารถจะเจรจากับเจ้าหน้าที่ของอียูได้ แต่ก็อยากให้หน่วยราชการไทยหาแนวทางประสานงานหารือกับอียู รวมทั้งภาคเอกชนไทยจะต้องเตรียมข้อมูลผลกระทบสินค้าที่อ่อนไหวต่างๆให้พร้อม เพื่อให้รัฐบาลใหม่สามารถเจรจากับอียูได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น ถ้ายิ่งปล่อยเวลาให้นานออกไปคู่แข่งแย่งลูกค้าไปหมด ก็จะดึงคู่ค้ากลับมาซื้อสินค้าไทยได้ยาก